เลี้ยงลูก เลี้ยงกาย อย่าลืมเลี้ยงใจ


นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

การเลี้ยงลูกนับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของพ่อแม่ เพราะหากการเลี้ยงลูกไม่มีคุณภาพ เราจะได้คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีคุณภาพ สังคมเต็มไปด้วยคนเห็นแก่ตัว มีแต่ความขัดแย้ง ใช้ความรุนแรง คุณภาพชีวิตที่ต่ำลง ดังนั้นการเลี้ยงลูกจึงเป็นงานที่ทุกครอบครัวควรให้ความสำคัญและให้ความสนใจอย่างยิ่ง การที่จะเลี้ยงลูกให้เป็นคนมีคุณภาพนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ ความอดทน การเสียสละของพ่อแม่อย่างใหญ่หลวงเป็นระยะเวลายาวนาน



นอกเหนือจากการดูแลเรื่องอาหารการกิน การนอน ระมัดระวังไม่ให้ลูกเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้ลูกมีสุขภาพกายที่สมบูรณแข็งแรงแล้ว ภาระกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับพ่อแม่ก็คือ จะเลี้ยงลูกอย่างไรให้มีจิตใจที่แข็งแรง



เลี้ยงลูก


อันดับแรก ต้องเห็นว่าส่วนนี้มีอยู่จริง มีความตั้งใจที่จะพัฒนา เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่มักบอกว่า “ฉันรักลูก” “เขาเจตนาดีจริงๆ” แต่วิธีการที่ใช้ไม่ช่วยให้เกิดผลดี ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เช่น การตามใจลูกมากเกินไป ลูกจึงกลายเป็นคนไม่มีความอดทน ไม่เห็นใจคนอื่น เข้ากับคนอื่นไม่ได้




อันดับที่สอง คือ ต้องมีเจตนาที่ดีและมีความรู้ด้วยว่าใช้วีธีไหนถึงจะได้ผล



อันดับที่สาม คือ เรื่องของเวลา เราต่างรู้ดีไม่ว่าฐานะทางบ้านจะปานกลางหรือร่ำรวย เวลาในชีวิตของแต่ละคนมักจะมีไม่ค่อยพอ เนื่องจากหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ ดังนั้นจึงควรจัดลำดับความสำคัญ ถ้าจัดไม่ได้ก็คงลำบาก ดังนั้นหลายครอบครัวจึงฝากความหวังไว้ที่เนอสเซอรี่หรือสถานรับดูแลเด็ก ซึ่งส่วนมากจะรับผิดชอบได้ในเรื่องการดูแลทางกายเท่านั้น เช่น ป้อนข้าว ป้อนน้ำ อาบน้ำ แต่งตัว เป็นต้น แต่จะสามารถดูแลไปจนถึงเรื่องการพัฒนาด้านจิตใจได้หรือไม่นั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะหาคนเลี้ยงที่จะทุ่มเทเหมือนพ่อแม่ได้ ดังนั้นพ่อแม่ทุกคนควรให้ความสำคัญกับพัฒนาการในลูกวัยเล็ก เพราะพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ ถ้าไม่ยอมเหนื่อยตอนนี้ ก็คงต้องเหนื่อยตอนโต ถ้าเกิดมีปัญหา ตอนนั้นจะแก้ยาก พูดกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งอาจทำให้ลูกมีปัญหาด้านต่างๆ ที่ทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องปวดใจได้ เช่น ไม่มีความรับผิดชอบ ไม่เรียนหนังสือ เที่ยวเตร็ดเตร่ ไปซิ่งรถ ไปใช้ยาเสพติด ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พ่อแม่อาจมองไม่เห็นปัญหาที่ลูกกำลังเผชิญอยู่เลยก็เป็นได้


พฤติกรรมที่ควรดูแลเป็นพิเศษ


ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า วิธีการเลี้ยงลูกแบบเอาอกเอาใจลูกมากเกินไปไม่ช่วยให้เกิดผลดีแน่นอน เพราะลูกอาจกลายเป็นคนเอาแต่ใจได้ในที่สุด ดังนั้นควรสังเกตเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นว่ามีปัญหาหรือไม่ เช่น ทำไมเอาแต่ใจตัวเองแบบนี้ ไม่มีใครมายุ่ง ไม่มีใครอยากเป็นเพื่อน อย่างนี้ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าลูกเริ่มมีพัฒนาการไม่ค่อยจะดีแล้ว พ่อแม่จึงควรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงฝึกให้เด็กรู้ว่าคนเรามีความรู้สึกไม่พอใจได้ แต่ต้องแสดงออกให้เหมาะสม สอนให้เด็กรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักสิทธิ์ของตนเองและเคารพสิทธิ์ผู้อื่น มีทักษะในการควบคุมอารมณ์ตนเอง เป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยคือ เรื่องความรับผิดชอบ เริ่มต้นด้วยการสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบในตนเองอย่างสมวัยด้วยหน้าที่เบื้องต้น เช่น ตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว และหากลูกมีความรับผิดชอบตัวเองได้ดี ไม่เป็นปัญหาหรือภาระกับใคร ไปอยู่ที่ไหนก็เข้ากับเขาได้ เพื่อนๆ ยอมรับ ก็นับว่าเป็นพัฒนาการในทางที่ดีแล้ว เพราะเมื่อลูกโตไปเป็นผู้ใหญ่ต้องทำงานร่วมกับผู้อื่น ถึงแม้ว่าจะเรียนเกรดดี ได้เกียรตินิยม แต่ทำงานร่วมกับผู้อื่นไม่ได้ ก็คงยากที่จะก้าวหน้าหรือพัฒนาต่อไป


เลี้ยงลูก


เลี้ยงลูกอย่างไรให้มีสุขภาพใจที่เข้มแข็งและแข็งแรง


คนเราจะมีพฤติกรรมออกมาอย่างไร มักเกิดจากตัวตนภายในหรือ “ใจ” เป็นตัวกำหนด หากใจรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า การที่จะมองโลกทางด้านบวกก็จะทำได้ยาก แต่คนที่รู้สึกว่าตัวตนภายในเป็นคนมีค่า ก็สามารถมองโลกในแง่บวกได้ดี และสามารถมองคนอื่นในแง่บวกได้ดีกว่า ทำให้การที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นจะทำได้ดีกว่าคนที่คิดว่าตนเองมีคุณค่าน้อย เป้าหมายใหญ่ของพ่อแม่ คือ การเลี้ยงลูกให้ใจแข็งแรง เพราะว่าถ้าตัวตนภายในไม่แข็งแรง ปัญหาต่างๆ จะตามมา เช่น ซึมเศร้าได้ง่าย แก้ปัญหาในชีวิตได้ไม่ดี มีสัมพันธ์กับคนอื่นได้ไม่ดี ปัญหาเรื่องของยาเสพติด ทะเลาะ ฆ่าตัวตาย หรือแม้แต่ว่าเรื่องบ้าวัตถุ ก็เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ด้วย

พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกให้ใจแข็งแรง อย่างน้อยก็สามารถสื่อให้เขารู้ว่ามีตัวเขาอยู่ในบ้าน ในโลกนี้ ส่วนตัวตนภายนอกหรือ “กาย” เราจะรู้ได้ว่ารูปร่างหน้าตาเราเป็นอย่างไรจากการส่องกระจก แต่ทางด้านจิตใจนั้นเราอาจไม่รู้เลยว่าตัวเราเป็นอย่างไร เราจะรู้ว่าเราใช้ได้หรือไม่ได้ ต้องอาศัยจากท่าทีของคนอื่นที่ปฏิบัติต่อเรา ถ้าคนรอบข้างปฏิบัติต่อเราไม่ดี หมายถึง ถ้าเราเป็นเด็กเล็ก เราเกิดมาในโลกโดยที่ไม่รู้อะไร เราต้องประเมินคุณค่าตนเองจากท่าทีของคนที่อยู่รอบข้าง ซึ่งใกล้ตัวที่สุดก็คือคนในบ้าน หากคนในบ้านไม่มีใครสน จะร้องก็ร้องไป จะเรียนรู้ว่าฉันไม่มีค่า ไม่มีใครสนใจก็จะแย่ แต่ขณะเดียวกันหากคนในบ้านทะนุถนอมเราก็ต้องใหัสมดุลพอดีกัน เพราะเด็กจะต้องเรียนรู้เรื่องการรอคอย ไม่ใช่ว่าขาดคนช่วยไปจะทำอะไรออกมาไม่ดี ผิดพลาดทุกอย่าง

พื้นฐานในวัยเด็กส่งผลไปถึงวัยผู้ใหญ่ได้ โดยการเรียนรู้จากการกระทำ คือ ทำได้ ทำไม่ได้ ทำสำเร็จ ทำไม่สำเร็จ แพ้ ชนะ เป็นต้น ซึ่งพ่อแม่ต้องให้เด็กเรียนรู้ แม้แต่ในเด็กเล็กการผูกเชือกรองเท้าก็ถือว่าเป็นอะไรท้าทายสำหรับเขา ซึ่งหากเขาทำได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องชื่นชม เด็กก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเองว่า ฉันทำได้ ทำได้สำเร็จ คนเราควรได้รับประสบการณ์ให้ครบรอบด้าน หมายถึง เคยทำสำเร็จ เคยล้มเหลว เพราะว่าหากล้มเหลวก็ต้องเรียนรู้ ล้มแล้วลุกเป็นอย่างไร ให้กำลังใจตัวเองได้ เคยชนะ เคยแพ้ คนที่ประสบความสำเร็จตลอด ชนะตลอด ไม่เคยแพ้ ไม่เคยล้มเหลว ชีวิตแบบนี้อยู่ในอันตราย เพราะขาดทักษะที่จะลุกขึ้นมาให้ได้ ซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญมาก คงไม่มีใครสำเร็จตลอดชีวิต ต้องมีล้มบ้างอะไรบ้าง แต่ถ้าวัยเด็กไม่เคยเรียนรู้อะไรเลย ชนะตลอด สำเร็จตลอด พอเวลาทำงานจริงแล้ว ไม่ได้เป็นอย่างนั้น อาจจะรับไม่ได้ ฆ่าตัวตายไปก็มี การเรียนรู้ที่จะให้กำลังใจตัวเองเพื่อลุกขึ้นมาเดินต่อไปนี้สำคัญมาก เพราะคนๆ นั้นจะต้องรับผิดชอบทั้งตัวเอง ทั้งครอบครัว ซึ่งพ่อแม่จะต้องคอยให้กำลังใจ

การเลี้ยงลูกเป็นงานระยะยาวและวัดผลตอนจบ ตอนเป็นวัยรุ่นเราก็รู้ว่ามีความเสี่ยงมากมาย หากความสัมพันธ์เดิมของครอบครัวแข็งแรงดี โอกาสที่ลูกจะฟังและแคร์ความรู้สึกพ่อแม่ก็จะมีเยอะกว่า ในทางตรงกันข้ามหากความสัมพันธ์เดิมไม่ค่อยดี จะแก้ไขอะไรก็จะยากหน่อย เพราะเขาไม่เปิดใจรับฟัง การแก้ไขปรับพฤติกรรมเด็กเป็นงานยาก ต้องใช้ความอดทนพยายามและความสม่ำเสมอ แต่ถ้าทำได้สำเร็จก็ถือว่าคุ้มค่าเหนื่อย เพราะเราจะได้คนที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่ดี ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมไทยที่ต้องการความสงบและความสมานฉันท์เช่นในยุคสมัยนี้


เลี้ยงลูก





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม