แพทย์หญิงปรารถนา เจรียงประเสริฐ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
“When” : ควรจะเริ่มคุยเรื่องทางเพศเมื่อไหร่
• ทุกครั้งที่ลูกถาม ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ภาษาที่เหมาะสมตามวัยเพื่อคุยกับลูก โดยในเด็กเล็กควรใช้ภาษาง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายลึกซึ้ง
• อายุที่เหมาะสมที่สามารถพูดคุยอย่างจริงจัง คือ
ช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นวัยที่สามารถคิดเป็นเหตุเป็นผลได้แล้ว
โดยยึดหลัก “กันไว้ดีกว่าแก้” เพราะการให้ความรู้เรื่องเพศที่ถูกต้องโดยคุณพ่อคุณแม่ดีกว่าการให้ลูกฟังจากเพื่อนหรือไปค้นหาข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือทางอินเทอร์เน็ต
มีเด็กหญิงหลายคนแล้วที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนเนื่องจากเชื่อแฟนว่า “หลั่งใน ไม่ท้อง”
“How” : คุยอย่างไร
• สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องปรับทัศนคติคุณพ่อคุณแม่
ก่อนว่า “เรื่องทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอาย เป็นเรื่องธรรมชาติ” ผู้ปกครองไม่ควรมีท่าทีเขินอายหรือลังเลใจที่จะพูดในเรื่องนี้ เพราะจะทำให้ลูกกังวลหรือประหม่า
ไม่กล้ามาปรึกษาในครั้งต่อๆ ไป
• “เด็กช่วงวัยอนุบาล”
อาจอธิบายคร่าวๆ ว่า ลูกเกิดมาจากความรักของพ่อแม่ ลูกอยู่ในท้องแม่นาน 9 เดือน เป็นต้น
• “เด็กในวัยประถม”
ควรเริ่มอธิบายรายละเอียดมากขึ้น ในเรื่องของความแตกต่างระหว่าง เพศชาย เพศหญิง และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่กำลังจะเกิดขึ้น
โดยอาจใช้สื่อการเรียนรู้ วิดีโอ การ์ตูนมาช่วย จะทำให้เด็กๆ สนใจมากขึ้น
• “วัยรุ่น”
ผู้ปกครองอาจเริ่มคุยโดยอ้างอิงจากข่าวหรือสถานการณ์ในชีวิตประจำวันและลองถามเชิงคิดวิเคราะห์ให้ลูกตอบ เช่น เห็นข่าวเด็กวัยรุ่นตั้งครรภ์
ต้องออกจากการเรียน คุณพ่อคุณแม่อาจตั้งคำถามว่า ลูกคิดอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ถ้าหนูมีแฟนแล้วแฟนขอมีเพศสัมพันธ์ หนูจะทำอย่างไร
เป็นต้น
“What” : คุยอะไรบ้าง
• การช่วยตัวเอง (Masterbation)
เป็นเรื่องปกติตามธรรมชาติ ไม่เสี่ยงติดโรค และไม่ทำให้ตั้งครรภ์ สามารถทำได้แต่ต้องทำในที่ที่มิดชิดและไม่หมกมุ่นจนเกินไป
การออกกำลังกายก็สามารถทำให้มีความสุขได้เช่นกัน
• การไม่พาตนเองไปอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
และสอนการวางตัวที่ถูกต้องเหมาะสม เช่น ผู้ชายไม่ควรอยู่กับผู้หญิงสองต่อสอง
ผู้ชายต้องให้ความเคารพผู้หญิง ไม่สัมผัสโดนตัวผู้หญิง เป็นต้น
• ทักษะการปฏิเสธ
หากแฟนมาขอมีเพศสัมพันธ์ควรพูดอย่างไร หรือทำอย่างไร
• การคุมกำเนิด
การป้องกันขณะมีเพศสัมพันธ์ หากจำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์จริงๆ (อารมณ์พาไป) ต้องให้ฝ่ายชายใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพราะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์
และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เป็นต้น
“Why” : การเริ่มคุย...เป็นการสนับสนุนให้มีเพศสัมพันธ์หรือไม่
• “ไม่”
เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่อยู่กับปัจจุบัน ไม่ค่อยกลัวปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต มักคิดว่า “แค่ลองครั้งเดียว คงไม่ท้องหรอก
คงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้กับเรา” ดังนั้น การพูดคุยเรื่องเพศตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้เขามีความตระหนักและระวังตัวมากขึ้น เป็นห่วงอนาคตของตนเองมากกว่าหวังสนุกชั่วคราว
ความเสี่ยงย่อมลดลง