แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
“ตั้มชอบบอกว่าไม่มีการบ้าน ถามทีไรก็บอกไม่มี จนครูโทรมาบอกว่าตั้มไม่ส่งงานเลย แม่ถึงได้รู้ความจริง”
“มินนี่ทำแก้วแตก ป้าเห็นกับตา พอถามว่าใครทำ กลับบอกว่าไม่ได้ทำ”
เหตุการณ์ “พูดไม่จริง” หรือที่เรียกว่าพฤติกรรม “โกหก” ของเด็ก สามารถพบได้เรื่อยๆ ผู้ใหญ่ที่รู้ความจริงมักรู้สึกแย่ หงุดหงิด
บางคนกังวลว่าหากเด็กยังโกหกต่อไปเรื่อยๆ จะกลายเป็นคนไม่ดี สิ่งสำคัญที่ต้องนึกถึง คือ เด็กส่วนใหญ่โกหกเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
ไม่ได้โกหกเพราะเจตนาร้าย ผู้ใหญ่ควรให้ความสนใจกับเหตุผลที่แท้จริง และสอนเด็กเรื่องวิธีการแก้ปัญหา มากกว่าการเพ่งเล็งว่าเด็กโกหกเพราะนิสัยไม่ดี
เหตุผลที่ทำให้เด็กโกหกมีหลากหลาย เช่น เพื่อให้คนอื่นสนใจ เพื่อได้รับการยอมรับ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหรือการลงโทษ เพื่อให้คนอื่นสบายใจ
(White Lies) หรือเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ นอกจากนี้ผู้ปกครองยังต้องดูเรื่องพัฒนาการตามวัยของเด็กด้วย เพราะเด็กแต่ละวัยมีพัฒนาการด้านความคิด
ความสามารถในการแยะแยะเรื่องจริงกับไม่จริง และการจัดการปัญหาแตกต่างกัน เช่น เด็ก 4 ปี บอกว่าขี่มังกร ยังถือว่าเป็นไปตามพัฒนาการปกติ
แต่ถ้าเด็ก 12 ปี ยังพูดแบบนี้ถือว่าแปลก โดยเด็กบางกลุ่มมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมโกหกมากกว่าเด็กทั่วไป เช่น เด็กที่มีปัญหาพัฒนาการล่าช้า
ปัญหาการเรียน ปัญหาพฤติกรรมและอารมณ์
วิธีรับมือเมื่อเด็กโกหก
1. หากผู้ใหญ่ และ/หรือ เด็กยังอารมณ์ไม่ดี ควรรอให้อารมณ์สงบก่อน ไม่ควรคุยตอนนั้น การพูดคุยด้วยอารมณ์ทำให้การสื่อสารไม่ได้ใจความสำคัญที่ต้องการสอน แต่จะกลายเป็นระบายอารมณ์ ทำให้ความสัมพันธ์แย่ลง และถ้าผู้ใหญ่ดุว่ามากๆ เด็กอาจรู้สึกกลัว ครั้งต่อไปอาจโกหกมากขึ้น เพราะกลัวถูกผู้ใหญ่ดุว่าด้วยอารมณ์รุนแรง
2. คุยข้อเท็จจริงด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ใช้อารมณ์ แสดงความเป็นห่วงที่เด็กมีพฤติกรรมโกหก ปัญหาที่พบคืออะไร และถ้าแก้ปัญหาด้วยการโกหก ผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร เช่น “แม่โทรถามครู ครูบอกวันนี้มีการบ้านเลข ถ้าหนูบอกแม่ว่าไม่มี พรุ่งนี้หนูจะไม่มีงานส่ง ครูจะหักคะแนน แม่เป็นห่วงหนูเรื่องผลการเรียน”
3. ให้โอกาสเด็กชี้แจง ผู้ใหญ่ควรพยายามทำความเข้าใจว่าเด็กโกหกเพราะอะไร เพื่อช่วยสอนวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกว่าให้ เช่น บอกว่าไม่มีการบ้านเพราะทำไม่เป็น ถ้าบอกแม่ตามความจริง แม่จะได้ช่วยสอนให้
4. ให้เด็กรับรู้ว่าผู้ใหญ่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าได้เกิดไปแล้ว (แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเห็นด้วย) หากบอกความจริงจะไม่ถูกว่า เพื่อให้เด็กรู้สึกสบายใจ และกล้าเล่าความจริง
5. คุยข้อตกลง บทลงโทษที่ตามมา หากมีการโกหกเกิดขึ้นอีก เช่น ตัดค่าขนม ลดเวลาเล่นเกม ซึ่งผู้ใหญ่ต้องทำตามที่พูดไว้ให้ได้
6. หลีกเลี่ยงการสอนยืดยาวเพราะเด็กจะเบื่อ ไม่สามารถจับประเด็นสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องการสอนได้ ควรสอนให้เห็นเป็นรูปธรรม บอกเหตุและผลที่จะตามมาตามความเป็นจริง ให้เข้าใจได้ตามวัย ไม่ใช้การขู่ เช่น คุยกับเด็กอายุ 7 ปี ที่ทำแก้วแตกแล้วบอกไม่ได้ทำว่า “ถ้าหนูทำแก้วแตก แล้วปกปิดไว้ คนอื่นอาจถูกแก้วบาดเลือดไหล หนูต้องบอกแม่ตามความจริง แม่จะเก็บกวาดให้” แทนที่จะบอกว่า “หนูโกหกแบบนี้ แม่จะให้ตำรวจมาจับ”
7. คุยในสถานที่ที่สงบ คนที่อยู่ด้วยตอนคุยควรเป็นคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเด็กเท่านั้น เช่น มีแค่พ่อกับแม่ที่คุยกับเด็ก ไม่ให้พี่น้องเข้ามาอยู่คุยด้วย เพื่อไม่ให้เป็นการประจาน
8. ไม่ตราหน้าตอกย้ำว่าเด็กเป็น “เด็กขี้โกหก” “เด็กเลี้ยงแกะ” แต่ให้แยกคุยเป็นพฤติกรรมไป เพราะการตราหน้า ตอกย้ำ เด็กจะเชื่อว่าตัวเค้าทั้งหมดเป็นอย่างนั้นจริงๆ ทั้งที่เด็กมีพฤติกรรมนิสัยอย่างอื่นที่ดี ผู้ใหญ่ต้องเชื่อมั่นว่าเด็กเป็น “เด็กดี” มีศักยภาพที่จะกล้าหาญ พูดความจริงได้ และให้โอกาสเด็ก
9. หากเด็กเสียใจ รู้สึกผิด ให้สอนเด็กว่าอารมณ์พวกนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี แสดงให้เห็นว่าเด็กสำนึกผิด เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ผ่านไปแล้ว สิ่งที่จะแก้ได้ คือ เด็กต้องเปลี่ยนวิธีการแก้ปัญหา ไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้อีก
10. ผู้ใหญ่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กเรื่องการพูดความจริง
หากเด็กมีพฤติกรรมโกหกบ่อย รุนแรงมากขึ้น แม้จะให้การช่วยเหลือแล้วก็ตาม แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็ก นักจิตวิทยา เพื่อหาสาเหตุและให้การช่วยเหลือต่อไป