เด็กไม่ยอมไปโรงเรียน


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์


เด็กไม่ยอมไปโรงเรียนเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้ปกครองหลายท่านปวดหัว เด็กๆ แต่ละคนมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไป ในบางคนคุณพ่อคุณแม่ยังพอรับมือไหว แต่บางรายก็ทำเอาหนักใจ เพราะการให้เด็กไปโรงเรียนได้ยากเสียเหลือเกิน โดยส่วนใหญ่เด็กๆ มักต่อรองขอไม่ไปโรงเรียน ในช่วงเย็น ก่อนนอนของวันก่อนไปโรงเรียน หรือตอนเช้าของวันที่จะต้องไปโรงเรียน และพบได้บ่อยตอนเช้าวันจันทร์หรือช่วงที่มีวันหยุดยาวบางคนมีอาการวิตกกังวล ก้าวร้าว นอนไม่หลับ ร่วมด้วย ตอนเช้าอาจไม่ยอมตื่น บ่นปวดท้อง ปวดศีรษะ เมื่อบังคับให้ไปจะร้องไห้ โวยวาย ยืนกรานไม่ยอมไป ทำลายข้าวของ หากพาไปถึงโรงเรียนได้ เด็กอาจไม่ยอมลงจากรถ แต่เมื่อพาเด็กเข้าห้องเรียนได้สำเร็จก็สามารถเรียนได้ตามปกติ ในกรณีที่ได้หยุดอยู่บ้าน เด็กจะกลับมามีอารมณ์ปกติดี เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทำกิจกรรมที่เด็กชอบได้ เช่น เล่นเกม ดูทีวี ในรายที่อาการหนักมักไม่ชอบให้ใครมาพูดถึงเรื่องการไปโรงเรียน หากพูดถึงเรื่องนี้เด็กจะหงุดหงิด กังวล บางคนขู่ผู้ปกครอง เช่น ถ้าบังคับให้ไปโรงเรียนจะหนีออกจากบ้าน หรือทำร้ายตัวเอง



สาเหตุที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน


1. ปัจจัยภายนอก เช่น ถูกเพื่อนแกล้ง ครูดุ มีการทำโทษ เรียนยาก งานเยอะ ไม่ชอบสถานที่หรือบรรยากาศในโรงเรียน
2. ปัจจัยภายใน เช่น เหงา ไม่มีที่พึ่งตอนอยู่ที่โรงเรียน ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน ติดเกม ติดความสบายตอนอยู่ที่บ้าน
3. มีโรคทางจิตเวช เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคออทิสติกสเปกตรัม โรคสมาธิสั้น โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน (แอลดี) ระดับสติปัญญาบกพร่อง



ไม่อยากไปโรงเรียน

การช่วยเหลือเบื้องต้นเพื่อให้เด็กกลับไปโรงเรียนได้

ต้องช่วยให้เด็กกลับไปโรงเรียนโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะยิ่งหยุดนานเท่าไร โอกาสที่เด็กจะกลับไปโรงเรียนได้จะยิ่งน้อย ซึ่งการช่วยเหลือนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และทางโรงเรียน


1. คุยกับเด็ก ครู หรือเพื่อนของเด็ก เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากไปโรงเรียน และแก้สาเหตุเท่าที่จะเป็นไปได้
2. อนุญาตให้เด็กพกสิ่งของที่ปลุกปลอบใจไปโรงเรียนด้วย เช่น ตุ๊กตาที่ชอบ รูปภาพคนในครอบครัว
3. ผู้ปกครองคุยเรื่องการไปโรงเรียนกับเด็กด้วยท่าทีที่หนักแน่น จริงจัง หลีกเลี่ยงการข่มขู่ ต่อว่า แสดงความเข้าใจ และพยายามช่วยเด็กแก้ปัญหา หากเด็กต่อรอง โวยวาย ไม่ควรต่อล้อต่อเถียง ให้บอกเด็กถึงขั้นตอนของการไปโรงเรียนในวันรุ่งขึ้น เช่น ตื่นกี่โมง คนที่จะไปรับ-ส่ง เวลาและสถานที่ที่จะไปรับ พยายามทำให้ได้ตามที่ตกลงสัญญากับเด็กไว้
4. วันที่เด็กสามารถไปโรงเรียนได้ให้ชื่นชม ให้กำลังใจ ไม่ควรพูดรื้อฟื้นเรื่องในอดีต
5. ตอนเช้าให้พาเด็กลุกจากที่นอน ห้ามใจอ่อนยอมให้เด็กต่อรอง หากเด็กต่อต้านไม่ยอมลุก หรือก้าวร้าว ผู้ปกครองต้องไม่ตอบโต้ด้วยคำพูด แต่ใช้การกระทำที่จะพาเด็กไปโรงเรียน คือ อุ้มไปอาบน้ำ แต่งตัว ถ้าเด็กไม่ยอมร่วมมือ ให้อุ้มไปทั้งชุดนอน แล้วค่อยไปแต่งตัว กินข้าว ที่โรงเรียน โดยประสานงานนัดแนะกับครูให้มารับที่หน้าโรงเรียนหรือบริเวณอื่นๆ ที่ทั้งครูและผู้ปกครองสะดวก
6. หากเด็กไม่ยอมไปแล้วหยุดอยู่บ้าน ต้องไม่ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่ชอบ เช่น เล่นเกม ไปเที่ยว
7. เมื่อเด็กยอมไปโรงเรียน ช่วงแรกอาจให้เรียนเฉพาะชั่วโมงที่ชอบก่อน หรือพาไปอยู่สถานที่ในโรงเรียนที่เด็กสบายใจ เช่น ห้องพยาบาล ห้องสมุด ให้ครูพูดให้กำลังใจ และคุยทำความตกลงกับคนอื่นๆ ไม่ให้ล้อเลียน พูดตำหนิหรือถามเด็กว่าทำไมไม่ยอมมาโรงเรียน ให้เด็กได้นั่งตำแหน่งที่สบายใจ นั่งกับเพื่อนที่สนิท
8. ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาที่เด็กอยู่ในโรงเรียน บางทีผู้ปกครองอาจต้องนั่งเฝ้าเด็กที่โรงเรียนในช่วงแรก
9. หากเด็กร้องไห้ โวยวาย ในช่วงต้นของการพาเข้าห้องเรียน ให้เด็กอดทนอยู่ในห้องเรียนสัก 5-10 นาที ถ้าไม่ดีขึ้นให้พาเด็กไปพักที่อื่นนอกห้องเรียน แต่ไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองมารับเด็กกลับบ้าน
10. หากในชั่วโมงเรียนเด็กดูกังวล เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่ยอมทำงาน พยายามหลีกเลี่ยงการดุด่า อาจให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่เด็กชอบก่อน เช่น วาดรูป ระบายสี
11. หากเด็กมีงานค้างจากวันที่หยุดเรียน ให้เลื่อนวันส่งออกไป หรือลดปริมาณลง เพื่อให้เด็กสามารถทำงานส่งตามได้ทัน



ไม่อยากไปโรงเรียน

หากพยายามช่วยเหลือทุกอย่างแล้ว แต่เด็กยังไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ผู้ปกครองควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุและแนวทางในการช่วยเหลือต่อไป




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม