การรับรู้ทางสายตา (Visual perception) และความบกพร่องด้านการอ่านการเขียนของเด็ก


สันติ จันทวรรณ
นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์



การรับรู้ทางสายตา (Visual perception) คือ ความสามารถในการรับรู้และแปลผลสิ่งที่เห็น โดยต้องสามารถจดจำ แยกแยะและวิเคราะห์สิ่งที่มองเห็นได้ เช่น การแยกความแตกต่างตัวอักษรที่คล้ายกัน การจดจำตัวอักษร ตัวเลข พยัญชนะได้ สามารถสะกดคำศัพท์


การรับรู้ทางสายตามีความสัมพันธ์กับความบกพร่องด้านการอ่านการเขียนของเด็ก เนื่องด้วยเด็กที่มีความบกพร่องการรับรู้ทางสายตานั้น การรับรู้ทางสายตามีความผิดเพี้ยนไปจากการรับรู้ปกติส่งผลให้เด็กมีความสับสนซ้าย-ขวา เขียนตัวอักษรหรือตัวเลขกลับหน้ากลับหลัง และมีการเปลี่ยนตำแหน่งของตัวอักษรและตัวเลข


การรับรู้ทางสายตา แบ่งออกเป็นด้านต่างๆ ดังนี้


• สหสัมพันธ์ระหว่างตากับมือ (eye-hand coordination) คือ สหสัมพันธ์ของการใช้กล้ามเนื้อมือและตา ความบกพร่องทางด้านนี้ส่งผลต่อการเขียน โดยเด็กจะเขียนตัวหนังสือไม่อยู่ในเส้นบรรทัด ลายมือไม่สม่ำเสมอ




Visual_perception

• การแยกภาพออกจากพื้น (figure-ground discrimination) คือ ความสามารถแยกแยะวัตถุหรือรูปทรงออกจากพื้นของรูป เด็กจะไม่สามารถแยกตัวหนังสือที่อยู่บนกระดาษได้ เด็กเห็นเป็นกระดาษสีขาวอย่างเดียว หรือเด็กไม่สามารถแยกตัวอักษรที่วางซ้อนทับกันได้


• Body Movement and Posture เช่น ท่ายืน นั่ง การเคลื่อนไหวร่างกาย กอดอก ชี้นิ้ว


• การรับรู้รูปทรง (form constancy คือ ความสามารถรับรู้รูปทรงที่มีความแตกต่างกันด้าน ขนาด แสง เงา พื้นผิว และทิศทางการจัดวางรูป เด็กจะไม่สามารถอ่านตัวอักษรที่มีรูปแบบต่างๆ กันได้ เช่น โรงเรียน – โรงเรียน (เปลี่ยนลักษณะตัวอักษร) หรือ ไม่สามารถอ่านตัวอักษรที่มีขนาดเล็ก ใหญ่ หรือตัวอักษรที่เขียนด้วยลายมือได้


• การรับรู้ตำแหน่ง (position in space) คือ ความสามารถรับรู้ตำแหน่ง ทิศทางของภาพที่เหมือนหรือต่างกัน เด็กจะเขียนตัวหนังสือกลับด้าน ไม่สามารถแยกแยะตัวอักษรที่เหมือนกันได้ เช่น พ-ผ น-ม ด-ค ต-ฅ เป็นต้น เมื่อเด็กไม่สามารถแยกแยะได้ จึงทำให้เด็กอ่านผิดพลาดได้บ่อยครั้ง


• มิติสัมพันธ์ (spatial relations) คือ ความสามารถรับรู้ตำแหน่งของร่างกายสัมพันธ์กับที่ว่าง และสามารถรับรู้ตำแหน่งของวัตถุสัมพันธ์กับตนเองหรือสัมพันธ์กับวัตถุอื่น เด็กจะอ่านหนังสือข้ามบรรทัด หรือข้ามประโยค และเด็กไม่สามารถอ่านสระผสมได้เช่น เ–ีย เ–ือ –ัว เป็นต้น เนื่องจากเด็กไม่รู้ถึงความสัมพันธ์ของสระ


• การมองเห็นภาพให้สมบูรณ์ (visual closure) ) คือ ความสามารถบอกว่ารูปทรงหรือรูปภาพนั้นเป็นอะไร เมื่อมองเห็นรูปภาพที่ไม่สมบูรณ์ของมัน เด็กไม่สามารถเติมเต็มตัวอักษรหรือคำที่ขาดหายไปบางส่วนได้เช่น โรงเรีย_ เด็กไม่สามารถเดาตัวอักษรที่หายไปได้ และอ่านได้ไม่ถูกต้อง


• ความจำทางสายตา (visual memory) คือ ความสามารถจำลักษณะเด่นของรูปภาพหรือสิ่งหนึ่งๆ หรือสามารถจำการเรียงลำดับของรูปภาพหรือสิ่งหนึ่งที่มากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป เด็กจะไม่สามารถจดจำคำหรือตัวอักษรได้



Visual_perception

ในการรักษาเด็กที่มีความบกพร่องการรับรู้ทางสายตาต้องได้รับการประเมินก่อนว่ามีความบกพร่องในด้านใดมากน้อยเพียงใด เพื่อช่วยการวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง โดยท่านสามารถรับคำปรึกษาจากนักกิจกรรมบำบัดได้




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม