โรคสมาธิสั้น คืออะไร
โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder; ADHD) เป็นภาวะที่เกิดจากสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานลดลง โดยเป็นภาวะที่มีการค้นพบมานานแล้วแต่อาจเพิ่งเป็นที่รู้จักในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้
สาเหตุของโรคสมาธิสั้น
สำหรับสาเหตุของโรคสมาธิสั้นนั้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันโดยมีปัจจัยหลัก คือ ปัจจัยทางชีวภาพ ได้แก่ ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม
พบว่าโรคนี้สามารถถ่ายทอดภายในครอบครัวได้ถึงร้อยละ 75 ปัจจัยทางด้านระบบประสาท พบว่ามีการทำงานของสมองส่วนหน้าที่ผิดปกติ
โดยเฉพาะบริเวณที่ทำงานเกี่ยวกับการคิด การวางแผน การจัดลำดับสิ่งต่างๆ และการควบคุมตนเอง รวมถึงมีสารในสมองที่สำคัญบางตัวน้อยกว่าคนปกติทั่วไป
นอกจากนี้ยังพบว่าการที่แม่สูบบุหรี่ ดื่มสุราระหว่างตั้งครรภ์ เด็กที่มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ
ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เด็กมีโอกาสเป็นสมาธิสั้นด้วย
อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีอาการมากขึ้น หรือทำให้เด็กปกติดูมีอาการคล้าย สมาธิสั้น หรือที่เรียกว่า “สมาธิสั้นเทียม”
คือ ปัจจัยทางด้านการเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อม เช่น การเลี้ยงดูที่ขาดระเบียบวินัย ตามใจ ไม่มีกฎระเบียบภายในบ้าน ไม่มีการควบคุมที่สม่ำเสมอ
หรือความเห็นในการเลี้ยงดูที่ไม่ตรงกันของพ่อแม่ผู้ปกครอง และที่สำคัญคือ การใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น ไอแพด แท็บเล็ต
มือถือ รวมถึงโทรทัศน์ เป็นเวลานานๆ โดยขาดการควบคุมจากผู้ปกครอง ซึ่งสื่อหรืออุปกรณ์ทั้งหลายเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตในปัจจุบัน
พ่อแม่มักสังเกตเห็นว่าเวลาที่ลูกอยู่กับอุปกรณ์เหล่านี้จะนิ่ง อยู่ได้นาน ไม่รบกวนพ่อแม่ พ่อแม่ควบคุมได้ง่ายขึ้น ทำให้พ่อแม่หลายคนเลี้ยงดูลูกโดยการให้อยู่กับหน้าจอตลอดเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้าน
เด็กที่มีการใช้สื่อเหล่านี้มากๆ จะกลายเป็นเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้าโดยเฉพาะด้านการพูดและการสื่อสาร ขาดทักษะสังคม ใจร้อน
รอคอยอะไรไม่ได้ หงุดหงิดง่าย รวมถึงอาจมีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบสิ่งที่ดูจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โรคสมาธิสั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลัก 3 ด้าน ได้แก่
1. พฤติกรรมขาดสมาธิ ว่อกแว่กง่าย เหม่อลอย จดจ่ออะไรนานๆ ไม่ได้ ขี้ลืม เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา ไม่ชอบทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิ หรือความพยายาม
2. พฤติกรรมซุกซนไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ยุกยิก ต้องหาอะไรทำ เหมือนเด็กที่ติดเครื่องตลอดเวลา พูดมาก พูดเก่ง
ชอบเล่นหรือทำเสียงดังๆ เล่นกับเพื่อนแรงๆ เด็กกลุ่มนี้จะรู้จักกันในชื่อว่า “เด็กไฮเปอร์”
3. พฤติกรรมขาดความยับยั้งชั่งใจตนเอง ใจร้อน วู่วาม หุนหันพลันแล่น ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่างๆ พูดโพล่ง พูดแทรก
รอคอยอะไรไม่ค่อยได้
เด็กบางคนอาจมีอาการเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือมีทั้ง 3 กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้
การรักษาโรคสมาธิสั้น
เมื่อสงสัยว่าลูกมีอาการเข้าข่ายสมาธิสั้น ควรพาเข้ารับการปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
สำหรับการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นนั้น จะประกอบด้วยการปรับพฤติกรรม ร่วมกับการใช้ยาในบางราย โดยในเด็กที่มีอาการไม่มาก
อาการไม่ได้รบกวนการเรียนหรือการใช้ชีวิตประจำวันมาก หรือเด็กที่เป็นสมาธิสั้นเทียม ก็จะใช้การปรับพฤติกรรมในเบื้องต้น ส่วนเด็กสมาธิสั้นที่มีอาการค่อนข้างมากทำให้รบกวนการเรียน
การใช้ชีวิตประจำวัน การเข้าสังคม ก็จำเป็นต้องมีการใช้ยาควบคู่ไปด้วย
1. การปรับพฤติกรรม พ่อแม่ต้องมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันปรับพฤติกรรมเด็ก ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
โดยหลักการปรับพฤติกรรมในเบื้องต้นเพื่อช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการดีขึ้น หรือช่วยให้เด็กสมาธิสั้นเทียมหายจากการมีอาการคล้ายสมาธิสั้น
มีดังนี้
• ใช้การสื่อสารที่สั้น กระชับ ตรงไปตรงมา เวลาที่ต้องการพูดหรือออกคำสั่ง ควรให้เด็กหยุดกิจกรรมที่ทำอยู่ มองหน้าสบตาพ่อแม่
และให้ทวนสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือสั่ง เพื่อเช็กว่าเด็กรับฟังได้ครบและเข้าใจถูกต้อง
• ทำตารางเวลาที่ชัดเจน ให้กับเด็กว่าเวลาไหนต้องทำอะไรบ้าง และติดไว้ในที่ที่เด็กเห็นได้ชัด เพื่อให้เด็กดูได้ด้วยตนเอง
ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยเตือนซ้ำในทุกๆ วัน เป็นการฝึกให้เห็นความสำคัญของเวลาและรู้จักวางแผนแบ่งเวลา โดยผู้ปกครองจะต้องคอยกำกับดูแลในช่วงแรกจนเด็กคุ้นเคยและปฏิบัติจนเป็นนิสัย
• ปรับบรรยากาศการทำการบ้านของเด็กให้สงบ ไม่มีเสียงโทรทัศน์ ไม่มีอุปกรณ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียน พ่อแม่ควรนั่งประกบเด็กเวลาทำการบ้านเพื่อคอยกระตุ้นไม่ให้เด็กเหม่อหรือว่อกแว่ก
• ในเด็กที่พลังงานเยอะ ควรหากิจกรรมให้เด็กได้ทำในแต่ละวัน เช่น เล่นกีฬา เพื่อให้มีการใช้พลังงานในทางที่สร้างสรรค์และเหมาะสม
• จำกัดการดู ไอแพด แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ วันละไม่เกิน 1 ชั่วโมง มีเวลาให้เล่นที่ชัดเจน ไม่ควรให้เมื่อไหร่ก็ได้ที่อยากจะเล่น
และพ่อแม่ควรอยู่กับเด็กในขณะที่เด็กเล่นเพื่อดูความเหมาะสมของสิ่งที่เด็กเล่นหรือดู
• ชื่นชมในสิ่งที่เด็กทำได้ดี อาจมีการใช้ตารางสะสมดาวเพื่อกระตุ้นให้เด็กมีพฤติกรรมที่ดี หากต้องมีการลงโทษ ควรใช้การจำกัดสิทธิ
เช่น ลดค่าขนม ลดเวลาในการเล่นเกม
• พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเด็กในเรื่องของความมีระเบียบวินัย การรู้จักอดทนรอคอย รวมถึงการใช้ไอแพด แท็บเล็ต หรือโทรทัศน์ ด้วย
2. การรักษาด้วยยา ยาที่สามารถใช้ในการรักษาสมาธิสั้นมีหลายกลุ่ม ได้แก่
• ยาในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท เป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น และให้ผลในการรักษาดีที่สุดในคนส่วนใหญ่
ยากลุ่มนี้มี 2 รูปแบบ คือ แบบออกฤทธิ์สั้น ครั้งละประมาณ 4 ชั่วโมง โดยในแต่ละวันจะต้องมีการกินยาประมาณ 2-3 ครั้ง และแบบออกฤทธิ์ยาว
ครั้งละประมาณ 10-12 ชั่วโมง ซึ่งจะกินเพียงครั้งเดียวในตอนเช้า ยาจะสามารถคุมอาการได้ตลอดวัน ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของยากลุ่มนี้คือ
ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ
• ยาในกลุ่มไม่ออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในกรณีที่เด็กไม่สามารถทนต่อผลข้างเคียงของยา ในกลุ่มออกฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทได้
• ยากลุ่ม Alpha 2 agonist ใช้ในเด็กสมาธิสั้นที่มีโอกาสเกิดโรคกล้ามเนื้อกระตุกร่วมด้วย หรือในเด็กที่มีอาการซน หุนหันพลันแล่น หงุดหงิดง่าย หรือมีอารมณ์โกรธรุนแรง รวมถึงเด็กที่มีปัญหาการนอน
ยาต้านเศร้า ใช้ในเด็กสมาธิสั้นที่อาจมีปัญหาอื่นร่วมด้วย เช่น ซึมเศร้า กระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน
ยาทุกชนิดควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้พิจารณาในการสั่งใช้ และติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เด็กแต่ละรายอาจมีอาการและการตอบสนองต่อยาที่แตกต่างกัน หากผู้ปกครองมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
วิธีช่วยเด็กสมาธิสั้น สำหรับพ่อแม่
สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีอาการดีขึ้นได้คือพ่อแม่ โดยพ่อแม่ต้องเข้าใจที่มาที่ไปของอาการเด็กก่อนว่าเกิดจากการทำงานของสมองบางส่วนที่เสียสมดุลไป
ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตนเองได้เท่าที่ควร ไม่ได้เกิดจากการแกล้งหรือขี้เกียจทำ รวมถึงพ่อแม่ต้องมีความตั้งใจที่จะร่วมมือกันในการช่วยเหลือเด็ก
ไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น
พ่อแม่ต้องมีความอดทน ให้เวลา ให้ความรัก ความอบอุ่น โดยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในครอบครัว มีทัศนคติและให้แรงเสริมในเชิงบวกอยู่เสมอ
มองเห็นคุณค่าในสิ่งเล็กๆ ที่เด็กทำ จะช่วยทำให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสม
การเรียนรู้และเข้าใจเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นจะทำให้เกิดความรักที่มีคุณภาพ เพราะความรักที่เกิดขึ้นจากการยอมรับและเข้าใจในข้อจำกัดซึ่งกันและกัน
สิ่งเหล่านี้จะทำให้ความสัมพันธ์และบรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น ส่งผลให้การช่วยเหลือแก้ไขปัญหาและพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กทำได้ดีขึ้น
และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพต่อไปในอนาคต
วิธีช่วยเด็กสมาธิสั้น สำหรับคุณครู
คุณครูมีส่วนสำคัญในการดูแลสามารถช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้นไม่น้อยไปกว่าพ่อแม่ การที่คุณครูมีประสบการณ์ในการเจอเด็กที่หลากหลาย
จะสังเกตเห็นได้ชัดว่าเด็กคนไหนที่มีความแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ เช่น เด็กคนนี้อาจดูซนกว่าเพื่อน ทำงานไม่ค่อยเรียบร้อย ลืมส่งงาน
ค้างงานเป็นประจำ ถ้าคุณครูสงสัยว่าเด็กคนไหนเข้าข่ายสมาธิสั้น อาจหาโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ในสิ่งที่ครูเป็นห่วง และแนะนำให้ปรึกษาแพทย์
จะช่วยให้เด็กได้เข้าสู่กระบวนการรักษาที่เร็วขึ้น นอกจากนี้คุณครูเองก็จะเหนื่อยน้อยลงและสามารถดูแลจัดการเด็กได้มากขึ้นด้วย
สำหรับแนวทางการจัดการในห้องเรียนที่สามารถนำมาใช้ในการดูแลเด็กที่มีภาวะสมาธิสั้นนั้น มีคำแนะนำดังต่อไปนี้
1. จัดให้เด็กได้นั่งแถวหน้าสุด ช่วงตรงกลาง ใกล้กับกระดานและตำแหน่งของคุณครู
2. กระตุ้นให้เด็กตอบคำถามเป็นระยะๆ หรือมอบหมายงานที่ใช้การลุกจากที่ให้เป็นประโยชน์ เช่น เดินแจกเอกสารให้เพื่อนๆ หรือเก็บสมุดจากเพื่อนๆ เป็นต้น
3. ก่อนเริ่มสอนให้สังเกตว่าเด็กอยู่ในภาวะพร้อม คือ มีสมาธิที่จะฟังครูพูดหรือไม่
4. ใช้คำพูดหรือการออกคำสั่งที่สั้น กระชับ ได้ใจความชัดเจน
5. หากเด็กกำลังเหม่อ วอกแวก ควรเรียกและแตะตัวอย่างนุ่มนวล เพื่อให้เด็กรู้สึกตัวและหันมาสนใจก่อนที่จะสื่อสารกับเด็ก
6. คุณครูควรเข้าไปหาเด็ก และใช้การกระทำประกอบไปด้วย เพราะการบอกหรืออธิบายเพียงอย่างเดียว เด็กอาจไม่ฟังหรือไม่ทำตาม
7. ให้คำชมมากกว่าการตำหนิ หลีกเลี่ยงการใช้วาจาตำหนิ ประจาน ประณาม หรือทำโทษด้วยความรุนแรง ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดความอับอาย
8. การสอนด้านวิชาการ ควรใช้คำอธิบายสั้นๆ ประกอบการสาธิตตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมจะช่วยให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น
9. แบ่งงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ ให้เด็กสามารถทำเสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น เด็กจะเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจที่ตนเองทำอะไรได้สำเร็จ มีกำลังใจในการทำงานต่อ และยังช่วยฝึกให้เด็กรู้จักการวางแผนล่วงหน้าด้วย
10. ใช้กิจกรรมที่เด็กชอบและสนใจ เช่น ศิลปะและดนตรี ในการช่วยส่งเสริมเรื่องของสมาธิ
11. ให้เด็กมีโอกาสได้ออกกำลังกาย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กได้ปลดปล่อยพลังงานของตนเองที่มีอยู่ ทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลายและใช้สมาธิได้ดีขึ้น
หากเด็กยังคงมีช่วงสมาธิสั้นมากถึงแม้จะใช้วิธีการในเบื้องต้นนี้แล้ว คุณครูควรแจ้งผู้ปกครองของเด็กเพื่อช่วยกันสังเกตและอาจพาเด็กเข้ารับการประเมินเพิ่มเติมกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
วิธีช่วยเด็กสมาธิสั้น สำหรับเพื่อน
เพื่อนมีส่วนสำคัญไม่น้อยในการช่วยเหลือเด็กสมาธิสั้น เพราะเด็กทุกคนอยากได้รับการยอมรับและการช่วยเหลือจากเพื่อน วิธีการที่จะสามารถช่วยเพื่อนที่เป็นสมาธิสั้นทำได้ดังต่อไปนี้
1. เข้าใจเพื่อนที่เป็นสมาธิสั้น ไม่ล้อเลียน ไม่ต่อว่า รวมถึงคอยเตือนเพื่อนเมื่อถึงเวลากินยา จะทำให้เด็กสมาธิสั้นมีความสุขและไม่เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆ
2. ให้ความช่วยเหลือเรื่องงานหรือการบ้าน เช่น ในกรณีที่เด็กสมาธิสั้นจดการบ้านหรือสิ่งที่ครูสอนไม่ทัน เพื่อนอาจให้ความช่วยเหลือโดยเอาของตัวเองมาให้ดู หรือคอยเตือนเพื่อนเรื่องการส่งงาน
3. คอยเตือนหรือเรียก เมื่อเห็นว่าเพื่อนที่เป็นสมาธิสั้นเริ่มมีอาการว่อกแว่ก เหม่อ หรือทำอย่างอื่นในขณะเรียน
จะเห็นได้ว่าหากทุกคนรอบตัวเด็กสมาธิสั้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ครู หรือเพื่อน มีความเข้าใจ ยอมรับ และให้การช่วยเหลือดูแลที่เหมาะสม
ก็จะทำให้เด็กสมาธิสั้นมีความสุขและไม่เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีความแตกต่างจากเด็กคนอื่น เพราะในความเป็นจริงแล้วเด็กสมาธิสั้นก็คือเด็กปกติคนหนึ่งที่ควบคุมตนเองได้น้อยกว่าคนอื่นเท่านั้น
เด็กสามารถเรียน ทำกิจกรรม และใช้ชีวิตได้เหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน