ศิลปะบำบัด คือ การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือหลักในการเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ ศิลปะบำบัดบางแนวทางมุ่งเน้นให้ผู้รับการบำบัดแสดงออกผ่านสื่อศิลปะอย่างสร้างสรรค์ บางแนวทางนำความรู้ด้านจิตวิทยาเข้ามาผสมผสาน บางแนวทางใช้การวิเคราะห์สิ่งที่ปรากฏในภาพของผู้รับการบำบัดร่วมด้วย
ทั้งนี้ ศิลปะบำบัดทุกแนวทางช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้สำรวจภายในจิตใจของตนเอง เปิดเผยตัวตนและสื่อสารผ่านงานศิลปะอย่างเป็นอิสระ กระบวนการบำบัดช่วยให้ความเครียด ความเศร้า หรือความเจ็บปวดบรรเทาลง เกิดความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกของตนเอง และเกิดการเติบโตทางความคิด ก่อให้เกิดกระบวนการพัฒนาภายในตนเอง
ศิลปะบำบัดต่างกับการเรียนศิลปะทั่วไปอย่างไร
ศิลปะบำบัดมีเป้าหมายเพื่อการบำบัด รักษาและฟื้นฟูอาการเจ็บป่วยทั้งทางร่างกายและจิตใจ มุ่งหวังให้ผู้รับการบำบัดเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง
ซึ่งในกระบวนการแต่ละครั้ง นักศิลปะบำบัดจะ เปิดโอกาสและให้อิสระกับผู้รับการบำบัดได้สร้างสรรค์ผลงาน โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงามหรือหลักเกณฑ์องค์ประกอบทางศิลปะใด
ๆ แต่มุ่งเน้นไปยังการสำรวจอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด การเข้าใจ และอธิบายตัวตนผ่านการสร้างชิ้นงานของผู้รับการบำบัด ซึ่งแตกต่างจากการเรียนศิลปะทั่วไปที่คำนึงถึงคุณค่าทางศิลปะและสร้างผลงานให้มีความสวยงามด้วยเทคนิคต่าง
ๆ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะและฝีมือให้เก่งขึ้น โดยมีครูศิลปะหรือผู้เชี่ยวชาญในศิลปะแขนงนั้น ๆ เป็นผู้สอน
ทั้งนี้ ในกระบวนการของศิลปะบำบัด นักศิลปะบำบัดจะเป็นผู้ประเมินและวางแผนการรักษาร่วมกับจิตแพทย์และสหวิชาชีพ และนักศิลปะบำบัดต้องเรียนจบเฉพาะทางในการบำบัดรักษาอีกด้วย
“ศิลปะ” บำบัดได้อย่างไร
ศิลปะ เป็นมากกว่าลายเส้นและสีสันบนกระดาษ
ศิลปะ เป็นการให้ “มือ” และ “หัวใจ” ลงมือทำงานแทนสมอง
ศิลปะ เป็นการสื่อสารที่บอกเล่าเรื่องราวและตัวตนของผู้นั้นโดยไร้ตัวอักษร
ศิลปะ ทำให้ผู้คนเฝ้าสังเกตสีสันและเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว
ศิลปะ ทำให้ผู้คนมองเห็นความดี ความงดงาม และสัจธรรมของโลกใบนี้
ศิลปะบำบัดเหมาะกับใครบ้าง
เหมาะกับทุกคนทุกวัย ที่ชอบศิลปะ โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางศิลปะ เพราะการบำบัดไม่ได้คำนึงถึงความสวยงามของผลงานแต่เน้นที่กระบวนการต่าง ๆ ระหว่างการทำที่ช่วยให้ผู้รับการบำบัดได้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน
เด็กและวัยรุ่นที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ สมาธิสั้น ออทิสติก มีปัญหาการเข้าสังคม มีความก้าวร้าว ทะเลาะวิวาท มีปัญหาการควบคุมอารมณ์ มีอาการซึมเศร้า วิตกกังวล
ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผู้ที่เก็บตัว ไม่เข้าสังคม หมดพลังในการดำเนินชีวิต ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ที่มีอาการเกร็ง ชักกระตุก มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว ผู้ที่มีปัญหาการนอนหลับ ผู้ป่วยอัลไซเมอร์
ศิลปะบำบัดส่งเสริมคุณภาพชีวิตในผู้สูงอายุอย่างไร
มนุษยปรัชญา (Anthroposophy) และการแพทย์มนุษยปรัชญา (Anthroposophic Medicine) โดย ดร.รูดอล์ฟ สไตเนอร์ (Dr.Rudolf Steiner) และ ดร.อีธา เวกมานน์ (Dr.Ita Wegman) เป็นศาสตร์ที่มีมายาวนานตั้งแต่ปี ค.ศ.1921 ได้รับความนิยมแพร่หลายในทวีปยุโรป และผู้ที่นำการระบายสีมาใช้ในการบำบัด (Artistic therapeutic works) โดยสัมพันธ์กับความรู้ด้านการแพทย์มนุษยปรัชญา คือ ดร.มากาเร็ธ เฮาสช์กา (Dr.Margarethe Hauschka) และจิตรกร ลีแอน โคลัวร์ เดอร์บัวร์ (Liane Collot D’Herbois)
การแพทย์มนุษยปรัชญากล่าวถึงธรรมชาติของมนุษย์ โดยมองภาพมนุษย์ว่าประกอบด้วยขั้วเย็น (Blue Pole) และขั้วร้อน (Red Pole) ของร่างกาย และกล่าวถึงการทำงานของ 3 ระบบ คือ ระบบประสาท (Nervous System) ระบบจังหวะ (Rhythmic System) และระบบเผาผลาญ (Metabolic and Limbs System) ผู้ที่มีสุขภาพดีในเชิงการแพทย์มนุษยปรัชญา คือ มีขั้วร้อนขั้วเย็น และการทำงานของ 3 ระบบนี้ที่สมดุลกัน หากระบบใดระบบหนึ่งบกพร่องไปก็จะทำให้เกิดวามเจ็บป่วยทางกายหรือทางจิตใจขึ้นได้
อาจกล่าวได้ว่า แนวทางของการแพทย์มนุษยปรัชญามีลักษณะใกล้เคียงกับการแพทย์เชิงบูรณาการ การแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนจีนที่มีการรักษาและฟื้นฟูสุขภาวะแบบองค์รวมเช่นกัน
ศิลปะบำบัดกับการฟื้นฟูสุขภาวะแบบองค์รวม
ศิลปะบำบัดในแนวทางมนุษยปรัชญาให้ความสำคัญกับ “กระบวนการ” ที่เกิดขึ้นระหว่างการบำบัด บทฝึกหัดการระบายสี วาดภาพ วาดลายเส้น และปั้นดินด้วยกระบวนการที่มีความงดงามปราณีตและความสงบ จะสร้างสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นในตัวของผู้รับการบำบัด จุดประสงค์เพื่อนำพาผู้รับการบำบัดไปสู่ความสมดุลทางร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมและฟื้นฟูทั้งด้านร่างกาย พลังชีวิต อารมณ์ความรู้สึก และบุคลิกภาพของผู้รับการบำบัดอย่างเป็นองค์รวม จนถึงยกระดับคุณค่าทางจิตวิญญาณโดยผ่านกระบวนการทำงานด้านศิลปะ
รายละเอียดทุกอย่างที่เกิดขึ้นในห้องศิลปะบำบัด ตั้งแต่ท่าทางการนั่งที่เหมาะสม การจัดวางอุปกรณ์อย่างปราณีต การเลือกใช้สีโทนต่าง ๆ ขั้นตอนการระบายสี การปั้นดิน การลากเส้นรูปทรงแบบต่าง ๆ นั้นสัมพันธ์กับการสร้างสุขภาวะที่ดีตามแนวทางการแพทย์มนุษยปรัชญา
ตัวอย่างเช่น
การทำศิลปะบำบัดแต่ละครั้งใช้เวลา 45-60 นาที ความถี่อยู่ที่ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ นักศิลปะบำบัดเริ่มต้นชั่วโมงที่ 1 และ 2 ของการบำบัดโดยการให้ระบายสีอิสระ (Free Painting) และปั้นดินอิสระ (Free Clay) เพื่อวิเคราะห์บุคลิกภาพของผู้รับการบำบัดและประเมินอาการความผิดปกติที่เกิดขึ้น จากนั้นวางแผนการบำบัดโดยกำหนดเป้าหมายที่ต้องการและดำเนินการบำบัดผ่านกระบวนการทำงานด้านศิลปะ เช่น การระบายสีบำบัด การลากเส้นรูปทรงบำบัด การปั้นบำบัด เป็นต้น
เนื่องจากในทางมนุษยปรัชญา สี (Colors) วัสดุทางศิลปะ (Tools) และบทฝึกหัด (Exercises) ล้วนมีผลในเชิงบำบัด ดังนั้น ผู้รับการบำบัดแต่ละรายจึงได้รับบทฝึกหัดสีและชนิดอุปกรณ์ที่แตกต่างกันไปตามภาวะอาการเจ็บป่วยที่นักศิลปะบำบัด ได้ประเมิน โดยตลอดระยะเวลาของการบำบัด นักศิลปะบำบัดจะทำการสรุปสภาวะของผู้รับการบำบัด สิ่งที่สังเกตเห็น ประเมินพัฒนาการ และติดตามผลร่วมกับแพทย์เจ้าของไข้
ศิลปะบำบัดแนวจิตวิเคราะห์ (Art Psychotherapy)
ศิลปะบำบัดแนวจิตวิเคราะห์ ถูกพัฒนามาจากการบำบัดแนวจิตวิเคราะห์ (Psychotherapy) มีการผสมผสานกันระหว่างจิตวิทยาและศิลปะแขนงต่าง ๆ (Logic and Creativity) โดยช่วยในเรื่องการแสดงความรู้สึกและการสื่อสาร ทั้งยังเป็นพื้นที่ให้ผู้รับการบำบัดได้สำรวจจิตใต้สำนึก ประสบการณ์ในอดีตเพื่อตระหนักถึงความคิด อารมณ์ ความรู้สึกข้างใน เช่น ความเครียด ความสับสน ความคับข้องใจ และสื่อสารออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การทำงานของศิลปะบำบัดแนวจิตวิเคราะห์ ช่วยพัฒนาความเข้าใจในตนเอง ส่งเสริมพัฒนาการสมอง พัฒนาการด้านประสาทสัมผัส พัฒนาการทางจิตวิญญาณภายใน และมองผู้รับการบำบัดเป็นองค์รวม ทั้งทางกายภาพ พฤติกรรม บุคลิกภาพ และอารมณ์ความรู้สึกอย่างเป็นปัจเจก โดยมีนักบำบัดเป็นผู้ประคับประคองและวิเคราะห์รูปแบบการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับการบำบัด รวมถึงคอยช่วยส่งเสริมให้ผู้รับการบำบัดเกิดความเชื่อมั่นและรู้จักคุณค่าในตนเอง และสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างเดิม
การบริการของโรงพยาบาล