รับมือเด็ก “แอลดี”


ทีมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น
โรงพยาบาลมนารมย์

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตไหมว่าในแต่ละวันหลังเลิกเรียนเด็กๆ ใช้เวลาในการทำการบ้านนานเท่าไหร่ เด็กบางคนอาจทำแป๊บเดียวก็เสร็จ บางคนทำการบ้านนานหลายชั่วโมง หรือเด็กบางคนไม่ชอบทำการบ้านเลย เรื่องแบบนี้อาจพบเห็นอยู่บ่อยๆ และมองว่าเป็นเรื่องปกติเพราะการบ้านบางวิชาอาจมียากง่ายสลับกันไป แต่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะการทำการบ้านเร็วหรือนานอาจบ่งบอกได้ว่าเด็กกำลังมีความบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน หรือ Learning Disorder (LD) อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเรียน และการพัฒนาทักษะทางสังคมของเด็กได้


แอลดี คืออะไร

โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน หรือ Learning Disorder (LD) เกิดจากโครงสร้างและการทำงานของสมองในส่วนของการรับและสื่อสารข้อมูลผิดปกติ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนคลอด ขณะที่สมองของทารกที่อยู่ในครรภ์มารดากำลังเจริญเติบโต เซลล์ประสาท (neurons) ที่กำลังเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาไปอย่างรวดเร็ว อาจไปอยู่ผิดที่หรืออาจเชื่อมโยงไม่ถูกคู่ และอีกส่วนหนึ่งเกิดจากสภาวะของสังคม สภาพแวดล้อม เนื่องจากมีสารตะกั่วอยู่ในอากาศปริมาณมาก หรือสารตะกั่วเหล่านั้นปนเปื้อนอยู่ในน้ำ เมื่อแม่ตั้งครรภ์หรือเด็กได้รับสารตะกั่วเข้าไปก็อาจทำให้เด็กมีปัญหาการบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน หรือแม้แต่เด็กที่อายุประมาณ 14-15 ปีตั้งครรภ์ เมื่อคลอดลูกออกมาน้ำหนักน้อยก็อาจจะมีปัญหาได้เช่นกัน


สังเกตแอลดีอย่างไร


โรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้านส่วนมากสามารถสังเกตได้ตั้งแต่เด็กวัยประถม เพราะสามารถมองเห็นได้ชัดในเรื่องของการอ่าน การพูดที่ฟังไม่รู้เรื่อง แต่ผู้ปกครองมักเร่งให้เด็กฝึกอ่านและเขียน ถ้าเป็นเด็กที่มีความพร้อมก็ไปได้เร็ว แต่เด็กที่ไม่มีความพร้อมทางพัฒนาการของสมองหากเร่งมากก็อาจส่งผลเสียต่อเด็ก ทำให้เด็กมีสติปัญญาปานกลางถดถอยด้วยซ้ำ หรือไม่ก็มีความรู้สึกไม่อยากเรียนเพราะไม่มั่นใจ คิดว่าประสบความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จ บางคนก็เกิดความกลัวไม่อยากไปโรงเรียนและไม่ชอบโรงเรียน หนีเรียน ออกไปเล่นเกม เที่ยวเตร่ ยิ่งเด็กวัยรุ่นก็อาจจะทำให้เสียอนาคต เรียนไม่จบไปเลยก็มี


เด็กแอลดี

ลักษณะอาการแอลดี

ถึงแม้ว่าระดับสติปัญญาของเด็กอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่จะมีปัญหาการเรียนในวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะด้านที่บกพร่อง เช่น อ่าน เขียน คำนวณ


• บกพร่องด้านการอ่าน เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุดในกล่มโรคแอลดี อาการที่แสดงออกมา เช่น อ่านช้า ตะกุกตะกัก ต้องสะกดคำจึงอ่านได้ อ่านข้ามคำยาก อ่านข้ามบรรทัด อ่านผิดเพราะใช้การเดา สับสนเรื่องตัวสะกดแม่ต่างๆ การผันเสียงวรรณยุกต์ อ่านแล้วจับใจความไม่ได้ หรืออ่านไม่ได้เลย ในบางรายเมื่อต้องอ่านอาจมีท่าทีกังวล หงุดหงิด ไปจนถึงหลีกเลี่ยงการอ่าน
• บกพร่องด้านการเขียน เขียนหนังสือช้าเพราะกลัวผิด เขียนตัวหนังสือกลับด้าน เขียนหัวพยัญชนะสลับด้าน วนหัวพยัญชนะหลายรอบเพราะตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลากเส้นต่อไปทางไหน สะกดคำผิดบ่อยๆ เขียนตามการออกเสียงของคำนั้น เช่น ขนม เขียนเป็น ขะ-หนม เรียงลำดับอักษรผิด เช่น เพลง เป็น พลเง เขียนประโยคที่ใช้ภาษาง่ายๆ ไม่เหมาะกับระดับชั้นเรียน หลีกเลี่ยงการเขียน ผัดผ่อนการส่งงาน ไม่จดงาน
• บกพร่องด้านการคำนวณ เขียนตัวเลขผิด ไม่เข้าใจค่าของตัวเลขหลักต่างๆ ไม่เข้าใจวิธีการคำนวณตัวเลข


ตัวอย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน


การอ่านที่เห็นภาพตัวเลข 6 เป็น 9 หรือตัว D เป็นตัว P กลับกัน โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เป็นการบกพร่องทางการอ่าน มีผลกระทบกับชีวิตประจำวันมาก เช่น การรับเช็คมาหรือเขียนเช็คผิดพลาด แต่หากเป็นเด็กเล็กที่เขามักมองภาพกลับ ผู้ปกครองอาจไม่ได้สังเกตว่าเขามีปัญหาเรื่องนี้จนกระทั่ง 8 ขวบขึ้นไป



พ่อแม่และครูจะช่วยเด็กแอลดีได้อย่างไร?


เด็กที่เป็นแอลดี นอกจากพ่อแม่ที่ต้องเข้าใจเด็กแล้ว ครูและโรงเรียนถือเป็นคนสำคัญเช่นกันที่จะต้องเข้าใจและสามารถช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ ซึ่งข้อแนะนำมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ ดังนี้



เด็กแอลดี

• ผู้ปกครอง
- ไม่ควรไปแก้ความบกพร่องของเด็ก แต่ต้องพยายามสอนเขา เช่น การอ่าน บางครั้งตอนกลางวันอาจอ่านดี ปกติ ไม่อ่านกลับหัว แต่พอกลางคืนอาจอ่านกลับหัว ต้องเข้าใจเด็กเพราะการทำงานของสมองไม่สม่ำเสมอ คล้ายกับคลื่นวิทยุที่ไม่นิ่ง เพราะฉะนั้นต้องสอนเด็กให้เขารู้ตัว และบอกเขาว่าจะเรียนรู้อย่างไร
- ควรมีเวลาให้กับลูก หมั่นสังเกตพฤติกรรม การทำการบ้าน การเรียน การอ่าน การพูดจาของลูกว่าสื่อสารกัน ติดต่อกันได้ดีไหม ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาใส่ใจกับกิจกรรมของลูกเลย ปล่อยให้พี่เลี้ยงหรือครูพิเศษมาทำหน้าที่แทนก็ยิ่งอาจทำให้เด็กเป็นหนักขึ้น จนไม่อยากเรียนหนังสือเลย
- พาเด็กไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและซักประวัติอย่างละเอียด โดยมีการวัดระดับเชาวน์ปัญญา วัดความสามารถทางการเรียนด้านต่างๆ ตรวจร่างกาย ทดสอบทางจิตวิทยาและผลสัมฤทธิ์ในการเรียน ซึ่งอาจมีแบบสอบถามให้ทางครูและโรงเรียนช่วยตอบด้วย


• ครู
- ครูควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน เพื่อที่จะสอนเด็กได้ โดยสอนให้เด็กได้เรียนรู้ว่าศักยภาพด้านสติปัญญาของตนเองไมได้ด้อย อาจเก่งกว่าเด็กธรรมดาด้วยซ้ำ คงไม่ใช้คำว่าแค่แก้ปัญหา แต่ต้องเข้าใจปัญหาและรับมือกับมันให้ได้ จุดที่บกพร่องบางอย่างแก้ไม่ได้เพราะไม่ใช่อวัยวะที่บกพร่อง แต่เป็นวิธีการทำงานที่บางครั้งมันเกิดวิธีการรับข้อมูล สื่อข้อมูล หรือเรียนรู้ที่บกพร่อง
- ก่อนวินิจฉัยเด็กที่มีปัญหาการเรียนว่าเป็นแอลดี เด็กจะต้องได้รับการสอนและกระตุ้นเรื่องการเรียนอย่างเต็มที่ก่อน เพราะเด็กบางคนขาดโอกาสในการเรียนหรือยังไม่ได้ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ จึงมีอาการคล้ายเป็นแอลดีได้


• โรงเรียน
- สนับสนุนการเรียนของเด็กให้เกิดการบูรณาการเพราะปัญหาชีวิตไม่ได้แก้ไขที่ด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้น การเรียนที่ดีต้องมีความสอดคล้องทั้งรายวิชา ผู้สอน และผู้เรียน โดยแต่ละรายวิชาต้องส่งเสริมกัน เมื่อเด็กเรียนไปแล้วสามารถสร้างความรู้ต่อได้ หากไม่สอดคล้องกันเด็กจะเรียนไม่ได้ เพราะในการบำบัดรักษาเด็กที่มีความบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้านจะต้องยึดหลักวิธีการสอนของครู วิชาที่สอน และการเรียนของเด็กเอื้อผลกันมากที่สุดซึ่งจะสามารถช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ได้
- ปรับการเรียนการสอนให้เหมาะกับระดับความสามารถของเด็ก และรูปแบบการเรียนที่เด็กถนัด เช่น เรียนผ่านการดูและการฟัง แทนการอ่านที่ไม่ถนัด มีการจัดทำแผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Plan – IEP) ให้เด็กได้เรียนกับครูการศึกษาพิเศษที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสอนเด็กที่เป็นแอลดี



การรักษาแอลดี


ปัจจุบันยังไม่มียาที่รับประทานแล้วหายได้ แต่หากเด็กได้รับการช่วยเหลือ ฝึกฝนในทักษะด้านบกพร่อง ความสามารถด้านการอ่าน การเขียน และการคำนวณจะดีขึ้น หรือให้การบำบัดทางเลือกอื่นๆ เช่น ศิลปะบำบัด การกระตุ้นระบบประสาทและความรู้สึก หรือให้การช่วยเหลือรักษาปัญหาทางอารมณ์ที่พบร่วม เช่น สมาธิสั้น ปัญหาการสื่อสาร ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น


ความรู้ความเข้าใจถือเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลรักษาและบำบัดเด็กที่มีความบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้านและพัฒนาการ เพราะหากพ่อแม่และครูไม่เข้าใจเด็กแล้ว ก็อาจทำให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไปอย่างล่าช้า เด็กที่มีความบกพร่องทักษะการเรียนฉพาะด้านแต่ละคนมีลักษณะจำเพาะบุคคล การบำบัดความบกพร่องในการเรียนรู้ต้องเป็นแผนดำเนินการที่สร้างขึ้นมาเฉพาะบุคคล โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกและลักษณะจำเพาะของครอบครัวเป็นสำคัญ พ่อแม่และครูควรมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของจิตวิทยาและลักษณะของความบกพร่องทางการเรียน เพื่อช่วยให้การดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้านเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

เด็กแอลดี




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

LD คืออะไร สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์