เรียนสนุก – สุข – สำเร็จ


แพทย์หญิงปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

การเรียนรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในรูปแบบการเรียนที่เป็นระบบหรือผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน คนเรามีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ในช่วงวัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นเวลาที่ใช้ไปส่วนใหญ่ในชีวิตมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเรียนในระบบ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถานที่เรียนพิเศษ คำถามที่เจอบ่อย คือ “ทำอย่างไรให้เรียนดี?” คนส่วนใหญ่มักคิดว่าแค่มีระดับสติปัญญาดี ผลการเรียนก็จะดีตาม แต่จริงๆ แล้วยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่มีผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนให้ได้ดี เช่น ความรักชอบวิชาที่เรียน (passion) สมาธิ ความรับผิดชอบ ความสามารถในการบริหารจัดการเวลาให้มีประสิทธิภาพ การรู้จักขอความช่วยเหลือจากคนอื่น การทำงานกลุ่มเป็น


เมื่อพูดเรื่อง “เด็กเก่ง/เด็กดี” คนส่วนใหญ่มักจะประเมินคุณค่าของเด็กจากผลการเรียน เช่น คะแนนสอบหรือลำดับที่ที่สอบได้ ซึ่งวิธีประเมินแบบนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของเด็กได้แค่เพียงคร่าวๆ เท่านั้น เด็กบางคนถึงแม้จะมีคุณสมบัติที่ดี เช่น มีความพยายาม, มีน้ำใจ และทำสิ่งอย่างอื่นได้ดี เช่น เล่นดนตรีกีฬาเก่ง แต่เมื่อมีข้อจำกัดบางอย่างที่ส่งผลทำให้คะแนนสอบไม่ดี เรียนไม่รู้เรื่อง เช่น มีภาวะบกพร่องทักษะการเรียนเฉพาะด้าน (แอลดี) หรือเป็นโรคสมาธิสั้น เด็กจะถูกคนรอบข้างตัดสินว่า “ไม่เก่ง” “ขี้เกียจ” โดยผู้ใหญ่มองข้ามข้อดีอย่างอื่นที่เด็กมี ซึ่งมุมมองและปฏิกิริยาของคนรอบข้างที่มีต่อเด็ก จะส่งผลต่อความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) ของเด็ก หากเด็กมี self-esteem ที่ไม่ดี ทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการมีปัญหาพฤติกรรมหรืออารมณ์ตามมาได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า พฤติกรรมเกเร ทำผิดกฎสังคม การใช้สารเสพติด การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ดังนั้นผู้ใหญ่ไม่ควรใช้ผลการเรียนเป็นตัวตัดสินเด็กทั้งหมดว่าเป็น “เด็กดี” หรือ “เด็กไม่ดี” แต่ต้องดูสิ่งอื่นๆ ประกอบด้วย


“ผลการเรียน” เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของการประเมินความสามารถการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากการดูคะแนนที่สอบได้แล้ว ต้องดูองค์ประกอบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ความตั้งใจพยายามในการเรียน การทำงานส่งให้ครบ ความรับผิดชอบ ความสามารถในการพัฒนาตนเอง


บทความนี้จะแนะนำเรื่องเทคนิคในการเรียน (Study Skills) เพื่อให้เรียนได้อย่าง “สุข-สนุก-สำเร็จ” จากประสบการณ์ที่ผ่านมาทั้งที่หมอเรียนเองและเห็นเด็กๆ เรียนกัน ระบบการศึกษาของประเทศไทยโดยส่วนใหญ่เน้นแต่เรื่องผลการสอบ ผู้ใหญ่ต้องการให้เด็ก “เรียนดี” แต่ไม่ค่อยมีใครแนะนำเด็กว่าทักษะหรือเทคนิคที่จะช่วยให้เรียนได้ดีมีอะไรบ้าง ซึ่งการวางแผนกลยุทธ์เรื่องการเรียนให้ดีตั้งแต่แรก จะช่วยให้เรียนรู้เรื่อง จำและเข้าใจเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ทบทวนได้ไว มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น ส่วนเรื่องคะแนนผลสอบที่ดีถือเป็นผลพลอยได้


การทำงานของสมองในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ


เรียนสนุก


องค์ประกอบที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการเรียนรู้ คือ การมีสมาธิ (attention) เราต้องมีสมาธิที่ดีพอถึงจะจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ และดึงข้อมูลเก่าออกมาใช้ได้ ดังนั้น เด็กที่เรียนไม่รู้เรื่อง มีผลการเรียนไม่ดี ต้องประเมินด้วยว่าเด็กมีปัญหาเรื่องสมาธิหรือไม่ ซึ่งสมาธิที่ดีนั้นขึ้นกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมและตัวเด็กเอง คนรอบข้างต้องช่วยเด็กแก้ปัญหาที่ส่งผลทำให้เด็กมีสมาธิไม่ดี
สิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น เสียงดังรบกวน มีสิ่งที่ทำให้วอกแวก อยู่ในตำแหน่งมองกระดานไม่ชัด
เด็กป่วยเป็นโรคที่ส่งผลทำให้มีสมาธิไม่ดี เช่น โรคสมาธิสั้น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า


• รูปแบบการเรียนแบบ Active Learning


รูปแบบการเรียนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเรียน วิธีการเรียนที่จะช่วยเข้าใจเนื้อหา และจดจำได้ดีมากขึ้น คือ การเรียนแบบ Active Learning ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนที่คนเรียนต้องมีส่วนร่วมอย่างมากในการเรียนรู้ ผู้เรียนต้องรู้จุดประสงค์ว่าเรียนไปแล้ว ควรมีความเข้าใจและต้องรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง มีการเตรียมตัวก่อนเข้าเรียน เช่น อ่านทำความเข้าใจเนื้อหาล่วงหน้า ระหว่างเรียนผู้เรียนต้องมีการคิด ตั้งคำถาม ตอบคำถาม

ตัวอย่างรูปแบบการเรียนแบบ Active Learning เช่น ­
­- ให้เด็กหัดวาด Mind map คือ นำความรู้ที่ได้มาวาดเป็นภาพ มีการเชื่อมโยงจัดหมวดหมู่ข้อมูลอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อให้จำได้ง่ายขึ้น ­ ­ ­
- สอนเรื่องการจัดความรู้เป็นหมวดหมู่ (Categorizing) เป็นหัวข้อ โดยให้เด็กคิดเองก่อน แล้วผู้ใหญ่คอยช่วยปรับแก้เสริมให้ ­ ­ ­
- มีตัวช่วยในการจัดหมวดหมู่และจดจำ เช่น ใช้สีตัวอักษรหรือแถบสีในการช่วยจำ (Color coding / Highlight) โดยแต่ละสีมีความหมายต่างกัน ­ ­ ­
- เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนรู้ใหม่กับข้อมูลเก่าที่มีอยู่ คิดเปรียบเทียบดูความเหมือนความต่างของข้อมูล วิเคราะห์และสังเคราะห์องค์ความรู้ใหม่ที่ได้ ­ ­
­- อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่น คิดอย่างมีเหตุมีผล (Critical Thinking) ­ ­
­- จดเป็นตัวอักษรตามความเข้าใจ วาดภาพประกอบ เขียนตารางเปรียบเทียบความเหมือนความต่าง เขียนสรุป เขียนตัวย่อที่ช่วยจำ ­ ­
­- นำสิ่งที่เรียนรู้ไปถ่ายทอดสอนคนอื่น


• วิธีที่คนรอบข้างจะช่วยให้เด็กมีประสิทธิภาพการเรียนที่ดีขึ้น


1. สร้างทัศนคติที่ดีเรื่องการเรียน ให้กำลังใจ รับฟังความเครียด หาวิธีแก้ปัญหาร่วมกัน หลีกเลี่ยงการใช้คำตำหนิต่อว่าเปรียบเทียบ ­ ­ ­
2. หาวิธีการเรียนที่เหมาะกับเด็ก ทำรูปแบบการเรียนให้น่าสนใจ สนุก เด็กได้มีส่วนร่วม ­
- เด็กแต่ละคนเหมาะกับวิธีที่แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบอ่านทำความเข้าใจเอง บางคนเรียนรู้ได้ดีผ่านการฟัง ดูรูปภาพ บางคนต้องลงมือปฏิบัติทำกิจกรรมถึงจะเข้าใจ
3. เรียนรู้ไปด้วยกันระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก หรือระหว่างเด็กด้วยกันเอง ­
- การมี Buddy study ช่วยทำให้การเรียนสนุกน่าสนใจมากขึ้น ทบทวนเนื้อหาและความเข้าใจ ต่อยอดความคิด ช่วยทำให้รู้ว่าเด็กรู้อะไรและยังไม่รู้อะไร



เรียนสนุก

• วิธีการเรียนที่มีประสิทธิภาพ (Study effectively)

การเรียนให้ได้ดีไม่ใช่ขึ้นแต่กับระยะเวลาที่ใช้ เช่น ใช้เวลาอ่านหนังสือนานๆ แปลว่าจะได้ความรู้มากกว่าการอ่านหนังสือที่ใช้เวลาน้อยกว่า แต่สิ่งที่สำคัญ คือ วิธีที่ใช้ในการเรียนต้องมีประสิทธิภาพ

Focus Learning

เวลาที่ใช้อ่านหนังสือทบทวนบทเรียนไม่จำเป็นต้องทำติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ สำคัญที่ว่าตอนอ่านสามารถโฟกัสจดจำทำความเข้าใจได้เต็มที่หรือไม่ ควรมีการหยุดพักเป็นช่วงๆ


Multi-tasking

บางคนชอบทำหลายๆ อย่างพร้อมกันตอนที่อ่านหนังสือ เช่น แชท เปิดโซเชียลมีเดีย ดูคลิป การทำหลายอย่างจะทำให้โฟกัสกับเนื้อหาได้ไม่เต็มที่ เป็นการขัดขวางกระบวนการเรียนรู้ของสมอง เหมือนสายพานผลิตสิ่งของในโรงงานที่ถูกขัดจังหวะ ทำให้การเรียนรู้ไม่ลื่นไหล
อย่างไรก็ตาม บางคนจะเรียนรู้ได้ดีหากมี noise background เช่น เปิดเพลงคลอ เสียงหึ่งๆ ในห้องสมุด
สิ่งแวดล้อมที่ใช้การเรียนควรมีตัวกระตุ้นให้น้อยที่สุด เช่น ไม่มีมือถือ ไม่มีทีวี


ตั้งเป้าหมายการเรียนให้เหมาะสมตามความเป็นจริง

ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ตั้งแบบที่สามารถทำได้จริง หากเป้าหมายมีโอกาสทำได้น้อย จะทำให้เสียกำลังใจได้ เช่น เด็กสอบตกเลขมาก่อน พอเปิดเทอมควรตั้งเป้าว่า เทอมนี้จะสอบให้ผ่าน แต่ไม่ใช่ตั้งเป้าว่าต้องสอบได้คะแนนเลขลำดับ 1 ของชั้น


มีการกิน การนอน และการออกกำลังกายในสัดส่วนที่เหมาะสม

การกินอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับให้เพียงพอและหลับตื่นเป็นเวลา เช่น นอนไม่เกินเที่ยงคืน ตื่นไม่เกิน 8.00 น. อย่างสม่ำเสมอในทุกๆ วัน มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่มักถูกมองข้ามไป เพราะเมื่อมีสุขภาพกายและสุขภาพใจดีที่ดีแล้ว ประสิทธิภาพในการเรียนจะดีขึ้นด้วย


สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการเรียนรู้

มีมุมสำหรับการเรียนโดยเฉพาะ ไม่มีอะไรรบกวน ให้มีแสงสว่าง อุณหภูมิพอเหมาะ จัดสถานที่และสิ่งของให้เป็นระเบียบ มีของที่ต้องใช้ในการเรียนอยู่ครบ เช่น ตำราเรียน ปรินท์เตอร์



เรียนสนุก

• รูปแบบการเรียน

แต่ละคนถนัดใช้รูปแบบการเรียนที่แตกต่างกัน ต้องทดลองดูว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเอง
1. เรียนเป็นกลุ่ม เรียนรู้ผ่านการถกอภิปราย ฟังสิ่งที่คนอื่นพูด จำเนื้อหาผ่านเหตุการณ์ที่คุยกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน มีอะไรไม่เข้าใจก็ถามเลย
2. เรียนรู้เดี่ยว­ เรียนรู้โดยการอ่านเอง ทำเอง ตั้งเป้าในการอ่านเอง ต้องการควบคุมสถานการณ์ความคืบหน้าในการอ่านเอง
3. เทคนิคที่ใช้ เทคนิคที่ใช้แต่ละอย่าง ใช้ระบบการทำงานสมองแตกต่างกัน ส่งผลให้ถนัดวิชาที่ต่างกันด้วย การเรียนแต่ละวิชาส่วนใหญ่จะใช้หลายวิธีร่วมกัน
- ­ Logical: เป็นการคิดตามตรรกะ ช่วยให้เรียนเลขได้ดี ­
- Verbal: เรียนรู้ผ่านการอ่านเขียน ­
- Visual: เรียนรู้ผ่านการดูรูปภาพ คิดเป็นภาพ จำโค้ดสี ไดอะแกรม แผนภูมิ ตาราง ­
- Aural: เรียนรู้ผ่านการฟัง ร้องเพลง เล่นดนตรี ­
- Physical: เรียนรู้ผ่านการเคลื่อนไหวร่างกาย การลงมือปฏิบัติจริง


• การหาแรงจูงใจในการเรียน

- ­ตั้งเป้าหมายของการเรียนแต่ละอย่างตั้งแต่ตอนเริ่มต้น มีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว เป้าหมายควรเป็นสิ่งที่ทำได้จริง เพราะเมื่อทำได้จะทำให้เกิดความมั่นใจ ประสบความสำเร็จไปทีละขั้น
- เมื่อเจอปัญหา ให้หาตัวช่วย จดรายการปัญหาไว้ วิเคราะห์และคิดวิธีการแก้ไข ท้อใจได้แต่อย่าล้มเลิก
- ปรับมุมมองที่มีต่อปัญหาว่าเป็นความท้าทาย น่าตื่นเต้นที่จะได้ลองแก้ปัญหาดู
- ให้รางวัลและคำชมกับตัวเองเป็นระยะ


• มีความรับผิดชอบต่อตนเอง

- คนอื่นๆ ผู้ปกครอง ครู เป็นตัวช่วยที่ให้คำแนะนำ และให้ความช่วยเหลือบางอย่าง เท่าที่ช่วยได้ ปัจจัยสำคัญ คือ ความพยายามของตัวเด็กเอง
- ต้องเพิ่มความมั่นใจให้เด็กกล้าที่จะตัดสินใจและรับผลที่จะตามมา ให้กำลังใจ หลีกเลี่ยงการดูถูก ตำหนิ หากเด็กทำผิดพลาดให้ชวนคิดว่าข้อผิดพลาดคืออะไร และจะแก้ปัญหาในครั้งต่อไปได้อย่างไร การทำผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่สำคัญกว่า คือ จะป้องกันอย่างไรไม่ให้ผิดพลาดซ้ำ
- ให้เด็กตระหนักรู้ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เรียนรู้จากสิ่งที่ประสบความสำเร็จและผิดพลาด
- ปัจจัยอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ทำงานหรืออ่านหนังสือได้สำเร็จตามเป้าที่ตั้งไว้ คือ การมีคำมั่นสัญญา (commitment) กับคนอื่น เช่น บอกตารางการอ่านหนังสือกับพ่อแม่ เพื่อที่เวลาทำอย่างอื่นนอกตาราง พ่อแม่จะได้เตือนให้ทำตามตารางได้


• รู้จักการเรียนรู้ด้วยตัวเอง

- สิ่งที่ครูสอนเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ เด็กต้องมีความสงสัย คิดต่อยอด พยายามหาคำตอบและค้นคว้าด้วยตัวเองก่อนที่จะรีบขอความช่วยเหลือจากคนอื่นโดยที่ยังไม่ลองดูเองก่อน ผู้ใหญ่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเด็กเรื่องความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ และช่วยเป็นโค้ชสอนเด็กเรื่องวิธีคิดจัดการแก้ปัญหา และการจัดการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ
- จัดตารางการทำงานของตัวเอง มี To-do list จัดเรียงลำดับการทำงานตามความสำคัญ ซอยงานออกเป็นขั้นตอนย่อยๆ มีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ให้กับตัวเองหากทำสำเร็จในแต่ละขั้น เช่น กินไอศกรีม ดูหนัง
- ระหว่างการทำงานหรืออ่านหนังสือ มีการพักเป็นระยะตามความเหมาะสม ช่วงเวลาที่พัก อาจตั้งนาฬิกาปลุกเตือนเมื่อหมดเวลาพัก เพื่อที่จะคุมเวลาได้ ไม่พักนานจนเกินไป


• มีวิธีการจัดการกับความเครียด

- การเรียนและการทำงานทุกอย่างย่อมต้องมีความเครียดเกิดขึ้น สิ่งสำคัญ คือ มีวิธีการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้ โดยมีความรู้ตัวว่าเริ่มมีความเครียด มีการบริหารเวลาระหว่างการเรียน การทำงาน และการพักผ่อน
- เตรียมวิธีการจัดการความเครียดไว้ก่อน เช่น หากมีความเครียดจะไประบายกับเพื่อน ออกกำลังกาย ดูหนังฟังเพลง อาบน้ำ



เรียนสนุก

• สถานที่ที่ใช้เรียนและทำงาน

- เตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเรียนไว้ใกล้ๆ ตัว เช่น อุปกรณ์เครื่องเขียน ตำราหนังสือ สมุดจด แพลนเนอร์ ปฏิทิน จัดให้เป็นระเบียบ หาของได้ง่าย
- กำหนดตารางเวลาที่จะอ่านหนังสือ ทำการบ้าน ไว้อย่างชัดเจน เป็นเวลาที่จะทำได้จริง ติดตารางเวลาไว้ในที่ที่มองเห็นได้ เขียน post it
- เลือกมุมที่สงบ ไม่มีสิ่งที่จะทำให้วอกแวก เช่น โทรทัศน์ มือถือ เสียงคนคุยกัน แสงสว่าง อุณหภูมิพอเหมาะ พยายามอย่าอ่านหรือทำงานบนเตียงนอนหรือที่ที่จะทำให้หลับได้ง่ายๆ
- ติดโน้ต ภาพช่วยจำ หรือสื่อการสอนต่างๆ ที่ช่วยทบทวนเนื้อหาการเรียน


• ทำงานให้เป็นระบบ

- วางแผนให้ดีตั้งแต่แรก มีไทม์ไลน์ในการทำงาน กำหนดเวลาเริ่มทำงาน ตรวจสอบความก้าวหน้าของงานเป็นระยะเทียบกับตารางเวลาที่วางเอาไว้ วางแผนเรื่องเวลาให้มีความยืดหยุ่น
- มีการเขียนแผนออกมาเป็นภาพให้เห็นชัดเจน เช่น ติดตารางการทำงานหรือการอ่านหนังสือเอาไว้ในที่ที่มองเห็นได้ง่าย




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์