แพทย์หญิงอังคณา อัญญมณี
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
“ทำไมลูกไม่ยอมออกไปไหนกับเรา”
“ทำไมพ่อแม่ถามอะไร ไม่เห็นพูด อะไรๆ ก็เชื่อแต่เพื่อน”
“ยิ่งโต ทำไมยิ่งดื้อ สอนอะไรก็เถียง”
ตัวอย่างของความรู้สึกพ่อแม่ที่พบว่าลูกก้าวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่นนั้นพฤติกรรมเปลี่ยนไป จนพ่อแม่กลุ้มอกกลุ้มใจ คิดว่าลูกมีพฤติกรรมผิดปกติ
และสรุปพฤติกรรมของลูกไปต่างๆ นานา ซึ่งโดยปกติแล้วเด็กจะมีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างเห็นได้ชัดใน 2 ช่วง คือ
1. ช่วงแรก คือ อายุประมาณ 2-3 ปี
เด็กจะเริ่มช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว เช่น เดินได้ วิ่งได้ ใช้มือหยิบจับสิ่งต่างๆ ได้เอง ควบคุมการขับถ่ายได้บ้าง ช่วงนี้เด็กจะลดการพึ่งพาพ่อแม่และเริ่มแยกออกมาเป็นตัวของตัวเอง
หากห้ามไม่ให้ทำอะไร เด็กก็อาจจะสะบัดมือหรือร้องไห้อาละวาด ผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กดื้อรั้น ทั้งที่จริงๆ แล้วเด็กกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง
จึงดูเหมือนต่อต้านพ่อแม่ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นพัฒนาการของเด็กตามปกติ
2. ช่วงที่สอง คือ เข้าสู่วัยรุ่น อายุประมาณ 11-12 ปี
เด็กจะเริ่มเป็นตัวของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง มีเหตุผลของตนเองและทำตามที่ตนคิด ต่างจากเดิมที่พ่อแม่บอกอะไรก็เชื่อ ต้องการอิสระและความเป็นส่วนตัว
ไม่ชอบให้พ่อแม่เข้ามาควบคุมจัดการเหมือนแต่ก่อน ถือเป็นเรื่องปกติที่พ่อแม่ต้องเข้าใจและรับมือ มากกว่าจะสรุปว่า ลูกมีปัญหา
หรือคิดว่าลูกผิดปกติเมื่อเปรียบเทียบกับลูกของคนอื่นๆ
“คงต้องพิจารณากันจริงๆ ว่าเด็กที่เข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ยังเชื่อฟังทำตามที่พ่อแม่บอกทุกอย่างนั้น เป็นเด็กที่ปกติดีจริงๆ หรือเป็นเด็กที่มีปัญหาบางอย่างแอบแฝงอยู่
เช่น เด็กไม่ได้คิด เพราะพ่อแม่คิดให้ ตัดสินใจให้หมดทุกอย่าง หรือเด็กคิดแต่ไม่กล้าบอก เพราะกลัวว่าบอกไปแล้วพ่อแม่ก็ไม่ฟังจึงต้องเก็บกดเอาไว้หรือแอบทำโดยไม่ให้พ่อแม่รู้
ซึ่งลักษณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่า เด็กไม่ได้มีการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง”
ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ได้ง่าย ต้องปรับตัวกับหลายสิ่งทั้งสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป การเรียนที่หนักขึ้น
การเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อน ฯลฯ กรณีที่พ่อแม่พบว่าลูกมีอารมณ์แปรปรวนมากจนถึงระดับที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ
ก็น่าสงสัยว่ามีโรคบางอย่างร่วมด้วยหรือไม่ เช่น บางช่วงลูกมีอารมณ์เบื่อหน่ายซึมเศร้า ไม่อยากทำอะไร แต่บางช่วงกลับครึกครื้นมั่นใจ
อยากทำหลายอย่าง โดยอาการเหล่านี้รุนแรงมากจนส่งผลกระทบต่อการเรียน และก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนรอบข้าง อาจเข้าข่ายของการเป็นโรคอารมณ์สองขั้ว
เป็นต้น
พ่อแม่ที่ดูแลลูกวัยรุ่นนั้น แค่ความรัก...อาจไม่เพียงพอ ยังต้องมีความเชื่อว่าลูกพร้อมที่จะดีด้วย หากวันนี้ลูกทำสิ่งที่ผิด
ก็ไม่ได้หมายความว่าลูกจะผิดไปตลอดทั้งชีวิต สิ่งที่พ่อแม่ต้องมีคือความอดทนและการให้อภัย ต้องใช้ทั้งพลังความรัก พลังความเชื่อมั่น
และพลังความหวังที่มีต่อลูก ให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต