นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์
"เดี๋ยวนี้เชื่อแต่เพื่อน พ่อแม่พูดอะไรไม่เคยฟังเลย"
"บ้านช่องไม่มีนอนหรือไง ชอบไปค้างบ้านเพื่อน บ้านเพื่อนมีอะไรดีนักหนา"
"ถ้าเชื่อเพื่อนนัก ก็ไปให้เพื่อนเลี้ยงเลยสิ"
เหล่านี้มักเป็นคำพูดของพ่อแม่ที่มีลูกกำลังเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งสะท้อนความไม่เข้าใจในการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของลูกน้อยที่กำลังพัฒนาเข้าสู่วัยรุ่น และทำให้พ่อแม่จำนวนไม่น้อย เกิดความวิตกกังวลว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับลูกที่เลี้ยงมาตั้งแต่ยังแบเบาะ
ในการเลี้ยงดูลูกนั้น วิธีปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของเด็กแต่ละวัย เพราะเด็กแต่ละช่วงวัยมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกัน ช่องทางการสื่อสารพูดคุยระหว่างพ่อแม่กับลูกเปรียบเสมือนมีหน้าต่างบานหนึ่งอยู่ระหว่างพ่อแม่กับลูก ซึ่งหน้าต่างบานนี้จะค่อยๆ ปิดลงทีละน้อยทุกวัน ตอนลูกยังเล็ก หน้าต่างการสื่อสารนี้จะเปิดกว้างมาก ลูกจะเปิดรับความคิดเห็นของพ่อแม่อย่างเต็มที่รู้สึกมีค่าเมื่อได้รับคำชมจากพ่อแม่ ในช่วงวัยอนุบาล วัยประถม เวลาลูกมีความคิดเห็นอะไร เขาก็อยากให้พ่อแม่รับรู้ สนใจเขาทุกเรื่อง แต่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยกลับไม่ใช้โอกาสนี้สร้างสัมพันธ์ที่ดี เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก ส่วนใหญ่พ่อแม่มักจะมุ่งทำงาน สร้างฐานะให้ได้ก่อน มีเวลาให้กับลูกน้อย รู้เรื่องของลูกไม่มากนัก พอเข้าสู่วัยรุ่นหน้าต่างความสัมพันธ์นี้ก็ปิดลงแทบจะสนิทหมดแล้ว เวลาที่เขาจะรับฟังสิ่งที่พ่อแม่อยากพูด อยากสอนก็ได้หมดลงไปด้วย เขาได้ไปเปิดหน้าต่างใหม่อีกบานระหว่างตัวเขากับเพื่อน
หลักสำคัญที่พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจและตระหนัก คือ ต้องทำให้ลูกรู้สึกไว้ใจและมั่นใจว่าพ่อแม่รักเขาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ตอนที่หน้าต่างยังเปิดกว้างอยู่ ถ้าตอนเล็กพ่อแม่สามารถสร้างความไว้ใจกับลูกแล้ว พอเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น งานของพ่อแม่ก็จะไม่หนักมาก เวลาลูกถูกเพื่อนชักจูงไปในทางไม่ดีก็มีความกล้าที่จะปฏิเสธเพื่อนได้ เพราะเด็กมีความผูกพันและแคร์ความรู้สึกพ่อแม่จึงไม่อยากทำให้พ่อแม่เสียใจหรือผิดหวัง การทำความเข้าใจธรรมชาติในแต่ละช่วงวัยของลูก จะทำให้พ่อแม่กำหนดวิธีการปฏิบัติกับลูกได้อย่างถูกต้องเหมาะสม เพราะพ่อแม่ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันดูแลเด็กต่างช่วงวัยได้ ตัวอย่างเช่น ไม่สามารถนำวิธีปฏิบัติกับเด็กตอนอายุ 4 ขวบ มาใช้กับเด็กอายุ 16 ปี ได้ ซึ่งเมื่อเด็กเป็นวัยรุ่นแล้ว เขาต้องการเป็นตัวของตัวเอง ถ้าเด็กโตถูกปฏิบัติเหมือนเด็กเล็กเขาจะไม่พอใจ รู้สึกว่า "พ่อแม่ไม่ให้เกียรติฉัน ไม่ไว้ใจฉัน" เปรียบเสมือนลูกนกที่โตแล้วต้องการจะฝึกบิน ถ้าแม่นกเป็นห่วงไม่ค่อยอยากให้ลูกบิน ให้อยู่แต่ในรังก็จะเกิดปัญหา เพราะถึงวันหนึ่งเขาก็ต้องบิน ต้องออกหากินเองให้ได้ ตรงรอยต่อช่วงที่ลูกกำลังจะบิน กำลังจะเป็นผู้ใหญ่ตรงนี้ก็จะเป็นช่วงที่ดูแลยากและไม่มีสูตรสำเร็จ เด็กแต่ละคนมีนิสัย มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน ไม่ได้เริ่มต้นที่จุดเดียวกัน วิธีการรับมือก็จำเป็นต้องแตกต่างกันออกไป
วิธีการเบื้องต้นสำหรับพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก ก่อนที่หน้าต่างความสัมพันธ์จะปิดลง มีหลักกว้างๆ ดังนี้ คือ
1. เสริมสร้างให้เด็กมีความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง ในระดับจิตใต้สำนึก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถเผชิญและรับมือกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ สามารถมองตนเอง มองผู้อื่นและมองโลกในแง่ดีได้ พ่อแม่ต้องเตรียมความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกให้แข็งแรง ก่อนที่เขาจะเข้าสู่วัยรุ่น วัยที่ลูกสนใจจะฟังเพื่อนมากกว่าพ่อแม่แล้ว
2. พ่อแม่ต้องทำให้เด็กรู้สึกว่า มีฉันอยู่ในบ้านนี้ ในบ้านนี้ฉันมีค่า วิธีการคือ มีเวลาแสดงความรัก ความห่วงใย ชื่นชมกัน ทำได้ทั้งทางคำพูดหรือภาษากาย น้ำเสียง สายตา ท่าทาง หลีกเลี่ยงการตำหนิที่รุนแรงหรือพร่ำเพรื่อเกินกว่าเหตุ ไม่ใช่เจอหน้ากันทีไรก็มีแต่เรื่องติด่าว่า จะทำให้เด็กรู้สึกแย่ ไม่อยากเข้าใกล้พ่อแม่ ไม่รู้ว่าวันนี้จะถูกด่าเรื่องอะไรอีก รู้สึกไม่มีคุณค่า ต่อไปโตขึ้นการจะทำเรื่องอะไรไม่ดี ก็จะเกิดขึ้นได้ง่ายเพราะรู้สึกว่าไม่มีอะไรจะสูญเสีย เพราะไม่มีอะไรดีอยู่แล้ว
3. เสริมสร้างความภาคภูมิใจในเด็ก คือ พ่อแม่ควรส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสสัมผัสกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี กีฬา ศิลปะ เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ งานช่าง ฯลฯ ให้มากที่สุด เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร ทำอะไรได้ดี พ่อแม่จะได้ส่งเสริมสนับสนุนได้ถูกทาง เด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจตนเองว่ามีความสามารถทำอะไรได้สำเร็จได้รับความชื่นชมจากพ่อแม่ เด็กจะมีความสุขและมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้
ถ้าพ่อแม่เริ่มสื่อสารใกล้ชิด มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ จะช่วยให้ลูกมีภูมิคุ้มกันที่ดี สามารถรับมือกับปัญหาและสามารถผ่านความเสี่ยงในชีวิตต่างๆ ในช่วงวัยรุ่นไปได้อย่างราบรื่น โดยพ่อแม่ไม่ต้องเหนื่อยใจหรือทุกข์ใจมากนัก