ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว” รีบสร้าง ก่อนจะสาย...


ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ
จิตเวชเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

ในรอบปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เรื่องราวของปัญหาเด็กและเยาวชนปรากฏเป็นข่าวใหญ่ในพื้นที่ของสื่อมวลชนแขนง ต่างๆ มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลของคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติ ที่ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไป สังคมโลกจะต้องรับมือกับสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาด้านเด็กและเยาวชนที่จะ พุ่งสูงขึ้นจนถึงขั้นวิกฤต


โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมไทยในปัจจุบันที่ เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวและพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น พ่อแม่ต้องออกไปทำงานตั้งแต่เช้ายันค่ำ เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการทำมาหากิน มีความเครียดในการดำรงชีวิตสูง และผู้คนในปัจจุบันให้ความสำคัญกับกับเทคโนโลยีสมัยใหม่โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน ที่มีความสามารถหลากหลาย ทำให้ดึงความสนใจและเวลาของพ่อแม่จากตัวเด็กไป รวมทั้งตัวเด็กเองก็หันหน้าเข้าหาสิ่งเหล่านี้เช่นกัน เพราะขาดการเอาใส่ใจจากผู้ปกครอง ทำให้ความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกครอบครัวลดลง ความเป็นครอบครัวที่แท้จริงจึงถูกหลงลืมไปจากสังคมไทย


โรงพยาบาลมนารมย์ โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางด้านสุขภาพจิตและจิตเวช ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงร่วมกับ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว ที่ปรึกษาของโรงพยาบาล ออกแบบกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เทคนิคสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก” (Positive Parenting) ให้กับพ่อแม่หรือผู้ปกครองเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยงดูบุตรหลาน ให้เติบโตขึ้นอย่างมีพลังใจที่ดีและเข้มแข็ง เพราะ ครอบครัวไทยในปัจจุบันกำลังถูกกระแสและค่านิยมต่างๆ ในสังคมพัดพาไปจนหลงลืมเป้าหมายที่แท้จริงของคำว่าครอบครัว และเมื่อมองจากสภาพปัญหาของเด็กและเยาวชนในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการแสดงออกหรือการกระทำในรูปแบบต่างๆ ที่สังคมไม่ยอมรับนั้น ก็ล้วนแต่มีที่มาหรือจุดเริ่มต้นจากครอบครัวทั้งสิ้น


ความสัมพันธ์ครอบครัว


“ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เกิดจากการไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันไว้ตั้งแต่เด็ก จิตใจก็เหมือนกับร่างกาย ถ้าภูมิคุ้มกันดีก็เจ็บป่วยได้ยาก แต่พ่อแม่ในปัจจุบันรู้จักแต่การเลี้ยงลูกให้มีร่างกายที่แข็งแรง แต่ไม่มีความรู้ว่าจะเลี้ยงดูลูกอย่างไรให้จิตใจแข็งแรง จิตใจก็ต้องการอาหารใจเหมือนกัน อาหารใจส่วนใหญ่ก็จะพูดกันถึงแต่เรื่องของความรัก คิดว่า ถ้าให้ความรักเด็กก็จะอบอุ่นโตมาก็น่าจะเป็นคนดี แต่จริงๆ แล้วเป็นเพียงส่วนเดียว เหมือนกับการให้สารอาหารเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้เป็นโรคได้ง่าย ความรักก็เช่นกันต้องให้ด้วยความเหมาะสม ถ้ารักมากตามใจมากจะเป็นกลายเป็นปัญหา อย่างเด็กวัยรุ่นที่ฆ่าตัวตายเพราะทนไม่ได้ที่แฟนทิ้ง คือตัวอย่างง่ายๆ ของการให้ความรักมากเกินไป” อ.นงพงา ยกตัวอย่าง

ดังนั้น การให้ “ความรัก” นอกจากจะต้องดูตาม “ความเหมาะสม” แล้ว พ่อแม่หรือผู้ปกครองยังต้องคำนึงถึงการให้ความรักที่เหมาะสมควบคู่ไปพร้อมๆ กับ “ความเข้าใจ” ตามช่วงวัยและการเติบโตของเด็ก ซึ่งหลายครอบครัวในสังคมไทยยังขาดความรู้และทักษะในสิ่งเหล่านี้


“พ่อแม่ยุคใหม่หลายคนอาจจะเข้าใจว่าการ เป็นพ่อแม่ที่ดี คือการให้ความรักและความเข้าใจ แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่จะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ เป็นเสมือนภูมิคุ้มกันภายในจิตใจสำหรับลูกต่อไปในอนาคตก็คือความสัมพันธ์ที่ ดีระหว่างพ่อและแม่ พูดได้ว่าของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับลูกคือความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ เพราะเมื่อพ่อแม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ลูกก็จะมีความสัมพันธ์ที่ดีตามมา แต่ปัจจุบันเราไปขวนขวายสิ่งที่คิดว่าดีมาให้กับลูก หาแต่สิ่งที่อยู่ข้างนอก แต่สิ่งที่ดีสำหรับลูกที่แท้จริงนั้นกลับอยู่ข้างในตัวเรา สิ่งเหล่านี้ต่างหากจะส่งผลต่อการมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจที่ดี” ศ.พญ.นงพงา ระบุ


แนวทางการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ซึ่งเป็นพื้นฐานด้านจิตใจที่สำคัญของเด็กให้เกิดขึ้นได้นั้น ตามหลักทฤษฎีของ “ซาเทียร์” นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ค้นพบหนทางสร้างความมั่นคงภายในจิตใจอันจะนำมา ซึ่งความสุขในชีวิต ระบุว่าจะต้องเริ่มจากการมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตัวเองก่อน “ความสัมพันธ์กับตัวเองต้องมาก่อนความสัมพันธ์กับคนอื่น ถ้าคนเรามีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับตัวเอง ไม่ชอบตัวเอง หงุดหงิดตลอดเวลา ไม่มีความสุข ก็ไม่สามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ เมื่อความสัมพันธ์กับตัวเองยังไม่ดีแล้วจะไปสัมพันธ์กับลูก สามี หรือภรรยาได้อย่างไร ในทฤษฎีของซาเทียร์จึงเน้นจากการเริ่มต้นพัฒนาตนเองไปพร้อมๆ กับการพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น” “เริ่มจากเราต้องเห็นคุณค่าของตัวเองว่าเราดีพอ แต่ไม่ได้หมายความว่า เราดีวิเศษ เราต้องตั้งใจที่จะเห็นความสำคัญของตนเอง เห็นคุณค่าและความดีของตนเอง เมื่อเราสามารถมองเห็นคุณค่าและความดีในตัวของเราได้เราก็จะสามารถมองเห็น คุณค่าและความดีในตัวของลูกหรือคนอื่นได้ ที่สำคัญพ่อแม่ต้องรู้จักมองลูกในแง่บวก เน้นในเรื่องของการสอนลูกให้เรียนรู้จากทั้งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี ซึ่งความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมากสำหรับการสร้างความสัมพันธ์ที่ ดีในครอบครัว” ศ.พญ.นงพงา กล่าว


ความสัมพันธ์ครอบครัว

เพราะช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของชีวิตเด็ก อยู่ในช่วง 0-6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับการปูพื้นฐานด้านจิตใจที่จำเป็นต่อการเจริญ เติบโต หากชีวิตของเด็กในช่วงวัยนี้ขาดภูมิคุ้มกันด้านจิตใจที่ดีและเหมาะสม ก็จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่


อย่างไรก็ดี สำหรับท่านที่สนใจเข้าอบรม “เทคนิคสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพ่อแม่ลูก” (Positive Parenting) ติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลมนารมย์ โทร.0-2725-9595


ที่มา : www.manager.co.th คอลัมน์ Life & Family




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม