วันครอบครัวกับการดูแลสุขภาพจิต


นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์

เดือนเมษายนของทุกปี เป็นเดือนที่มีความสำคัญต่อคนไทยทุกคน เพราะนอกจากจะเป็นเดือนที่มีวันหยุดยาวในเทศกาลรื่นเริง คือเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของคนไทยแล้ว ยังเป็นช่วงเวลา ที่ภาครัฐส่งเสริมให้เป็นวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุ เพราะเป็นเทศกาลที่คนไทยส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านเกิด สมาชิกครอบครัวได้มีโอกาสอยู่พร้อมหน้าทั้งพ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา และมิตรสหาย เทศกาลนี้เป็นเทศกาลแห่งความสุข แต่หลายครั้งที่จบลงด้วยความทุกข์ ความเศร้า เสียใจ ที่เกิดจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในอุบัติเหตุการจราจร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท ดังนั้นเรื่องของการครอง “สติ” จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน


เทศกาลสงกรานต์ในปัจจุบัน อาจจะแตกต่างจากในในอดีตไปบ้าง ในแง่ของความงดงามของวัฒนธรรม ที่ลดน้อยถอยลง ความสุภาพนิ่มนวลของผู้คนที่ปฏิบัติต่อกัน การแต่งกายที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการใช้สุรา ยาเมา ทำให้เกิดการแสดงออกที่ไม่สมควร บางครั้งถึงขั้นผิดกฎหมาย ความเสื่อมด้านวัฒนธรรมของผู้คนในสังคม มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเริ่มต้นมาจาก การเปลี่ยนแปลงประเทศจากสังคมเกษตรกรรมไปเป็นสังคมอุตสาหกรรม ในสังคมเกษตรมักใช้แรงงานของคนในครอบครัวและเพื่อนบ้าน มีชีวิตชุมชน อบอุ่นใกล้ชิด ชีวิตไม่เร่งรีบ ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันแก่กันและกัน ในขณะที่ชีวิตในสังคมอุตสาหกรรมเป็นชีวิตที่เร่งรีบต้องการประสิทธิภาพสูงสุด เต็มไปด้วยการแข่งขัน ใครอ่อนแอจะถูกคัดออกเป็นสังคมที่ขาดความอบอุ่น หาคนมีน้ำใจต่อกันได้ยาก ในสังคมอุตสาหกรรม ผู้คนมีเวลาให้กันน้อยลง ลักษณะการอยู่แบบตัวใครตัวมันมีมากขึ้น ชีวิตชุมชนขาดหายไป ทำให้ภูมิคุ้มกันของสังคมขาดหายไปด้วย สิ่งไม่ดีเข้า สู่ชุมชนได้ง่าย อาทิเช่น ยาเสพติด การลักขโมย จี้ปล้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินต่ำ ไม่ค่อยมีใครสนใจใคร


วันครอบครัว

นอกจากสังคมอุตสาหกรรมแล้ว สังคมบริโภคนิยมซึ่งใช้กิจกรรมการตลาด กระตุ้นการบริโภคของผู้คน ในสังคมให้ยึดติดวัตถุ ร่วมกับการไหลบ่าเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ขณะที่วัฒนธรรมไทยขาดการดูแล เอาใจใส่ ส่งเสริมอนุรักษ์อย่างจริงจัง จึงทำให้เยาวชนไทยในปัจจุบัน เป็นคนไร้ราก ขาดความภูมิใจ ในวัฒนธรรม ขาดความรู้ ความเข้าใจถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย รวมถึงค่านิยมทางเพศและค่านิยมการมีครอบครัวที่เปลี่ยนจากเดิม


จากลักษณะสังคมที่ผู้คนห่างเหินกันในปัจจุบัน ทำให้สถาบันครอบครัวไทย ที่เป็นหน่วยพื้นฐาน และเป็นหน่วยที่สำคัญที่สุดของสังคมอ่อนแอลงอย่างมาก เด็กและคนชราค่อนข้างเหงาและว้าเหว่ ขาดคนดูแลเอาใจใส่ใกล้ชิด สังคมไทยกำลังเผชิญกับปัญหาคนรุ่นใหม่ที่ขาดความมั่นคงทางจิตใจ ขาดความอดทนรอคอยและความสามารถในการแก้ปัญหาในชีวิตต่ำลง ผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นอยู่กับความเหงา และมีปัญหาโรคซึมเศร้ามากขึ้น


ในอดีตคนในครอบครัวมีเวลาให้กันมาก มีความใกล้ชิดเข้าอกเข้าใจกันดี สิ่งยั่วยุจากภายนอกก็มีน้อย ทำให้ปัญหาครอบครัวและสังคมไม่รุนแรงนัก ต่างกับปัจจุบันที่สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง นอกจากนี้สถาบันการศึกษาพัฒนาคนและสถาบันศาสนาที่เป็นที่พึ่งยึดเหนี่ยวทางใจของผู้คนในสังคมก็อ่อนแอลงเช่นกัน ทำให้ปัญหาครอบครัวและปัญหาสังคมรุนแรงกว่าในอดีต แนวทางแก้ไขปัญหาที่สำคัญ เร่งด่วน และเริ่มต้นได้เลย คือ การทำครอบครัวให้แข็งแรง โดยการให้เวลาแก่กัน มีกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย อาทิเช่น การออกกำลังกายในสวนสาธารณะ การจ่ายตลาด ทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน ทำบุญตักบาตร การมีเวลาทำกิจกรรมร่วมกันจะช่วยเพิ่มความใกล้ชิด ความสัมพันธ์ ความเข้าใจกันและโอกาสให้กำลังใจแก่กัน นอกจากการให้เวลากันแล้ว สมาชิกครอบครัวก็ควรเพิ่มเติมความรู้ ความเข้าใจทางด้านจิตวิทยาของคนวัยต่างๆ เพื่อช่วยให้การพูดคุยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันทำได้ดียิ่งขึ้น


บางคนอาจคิดว่า เรื่องครอบครัวทำไมต้องศึกษาหาความรู้ด้วย เราก็เติบโตมาในครอบครัว เห็นมาตั้งแต่เด็ก ทำไมจะไม่รู้จักว่าควรจะทำตัวอย่างไร ในความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราต้องการผลลัพธ์ของครอบครัวให้ออกมาดี บรรยากาศดี การมีความรู้ที่ถูกต้องจะช่วยให้การดูแลและแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า เพราะครอบครัวแต่ละครอบครัว และแต่ละช่วงเวลาเป็นโจทย์คนละข้อ ต้องการวิธีการจัดการที่แตกต่างกัน ครอบครัวที่มีลูกเล็ก ครอบครัวที่มีลูกเป็นเด็กโต เด็กวัยรุ่น ครอบครัวที่มีผู้สูงอายุ มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาสมองเสื่อมหรือซึมเศร้า ก็ต้องการวิธีการดูแลที่แตกต่างกัน เด็กคือหน่อไม้อ่อนที่กำลังเติบโต หากดูแลให้ดีก็จะเป็นสมาชิกที่ดี มีคุณภาพของครอบครัวและสังคม ขณะที่พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย เป็นผู้สูงอายุ เป็นผู้มีพระคุณ การได้มีโอกาสแสดงความกตัญญูกตเวที ดูแลท่านให้มีความสุข ไม่ว้าเหว่ เหงาใจ ได้รับความอบอุ่นจากลูกหลานก็เป็นความงามอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมไทยของเรา


ที่จริงการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวและผู้สูงอายุ ควรทำทุกวันไม่ใช่แต่ไม่ใช่เฉพาะช่วงสงกรานต์ แต่สำหรับใครที่อาจหลงลืมไปบ้างจะใช้โอกาสช่วงสงกรานต์ปีนี้เป็นจุดเริ่มต้นหันกลับมาเอาใจใส่ครอบครัว และผู้สูงอายุก็จะเป็นสิ่งที่ดีอย่างยิ่ง เริ่มต้นลงมือปฏิบัติตั้งแต่บัดนี้ ก่อนที่จะเกิดความสูญเสียในครอบครัวที่สายเกินแก้หรือก่อนที่จะไม่มีโอกาสตอบแทนผู้มีพระคุณให้มีความสุขในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่



วันครอบครัว


"ถ้าทุกคนปฏิบัติได้ เราคงจะได้เห็นครอบครัวไทย ชุมชนไทย และสังคมไทยที่แข็งแรง มีแต่ความเข้าใจกันกลับคืนมาเช่นกันกับในอดีต"




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม