นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
กรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์
ปัจจุบันนี้สถาบันครอบครัวไทยอ่อนแอลงมาก สมาชิกในครอบครัวมีความสุขน้อยลง ผู้สูงอายุเปลี่ยวเหงา ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เด็กและเยาวชนก็ขาดความอบอุ่น
ถูกชักจูงไปในทิศทางที่ไม่เหมาะสม กลายเป็นสมาชิกของสังคมที่ขาดคุณภาพ ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการเอาใจใส่แก้ไขแล้ว
อนาคตของชาติก็เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง สังคมจะดีได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของคนในสังคมนั้นๆ คุณภาพของคนจะดีหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพครอบครัวซึ่งเป็นฐาน
มีครอบครัวจำนวนมากที่มีทรัพย์สินเงินทอง มีฐานะ สุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่บรรยากาศครอบครัวไม่ดี สมาชิกในครอบครัวไม่สนใจกัน ไม่มีเวลาให้กัน
ไม่เข้าใจกัน ใช้อารมณ์ ใช้ความรุนแรงต่อกัน ก็ไม่สามารถที่จะเป็นครอบครัวที่มีความสุขได้ ขณะที่ครอบครัวที่ไม่ได้ร่ำรวย
มีโรคมีความเจ็บป่วยอยู่บ้าง แต่คนในครอบครัวเข้าใจกัน เอาใจใส่กัน มีเวลาให้กัน สนใจความรู้สึกของกันและกัน
ย่อมเป็นครอบครัวที่มีความสุขมากกว่า คนเราทุกคนเป็นสภาพแวดล้อมของกันและกัน ถ้าเราปรารถนาจะมีความสุข
ก็เป็นหน้าที่ของคนทุกคนในครอบครัว จากตัวอย่างที่กล่าวถึง จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่เป็นตัวตัดสินว่า คนในครอบครัวจะมีความสุขหรือไม่
ไม่ใช่เรื่องของทรัพย์สินเงินทอง แต่เป็นเรื่องของความรู้สึก ความอบอุ่นใจ เป็นเรื่องของสุขภาพจิตมากกว่าสุขภาพกาย
หรือเรื่องของวัตถุ ดังนั้น ถ้าเราต้องการที่จะมีความสุข มีครอบครัวที่อบอุ่น ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนในครอบครัวต้องร่วมกันสร้าง
และกระทำไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งแต่การมีเป้าหมายร่วมกัน การมีเวลาให้กัน มีกิจกรรมร่วมกันและมีการสื่อสารที่มีคุณภาพระหว่างกัน
ในเรื่องของเป้าหมายของครอบครัว น่าจะเป็นไปในทิศทางที่มุ่งสู่ความสุขทางใจของสมาชิกทุกคนมากกว่าความสุขที่ได้จากวัตถุ การทำให้ครอบครัวอบอุ่น
บรรยากาศบ้านน่าอยู่ สิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้นในจิตใจของสมาชิกแต่ละคนก็คือ ให้รู้สึกว่ามีฉันอยู่ในบ้านนี้
ฉันมีค่า ในบ้านนี้มีคนสนใจความรู้สึกของฉัน เป็นห่วงเป็นใยฉัน เข้าใจฉัน พูดกันรู้เรื่อง รู้สึกปลอดภัย ถ้าหากมีปัญหามีคนสนใจที่จะรับฟังปัญหาของฉัน
สามารถจะขอความช่วยเหลือ พึ่งพิง ขอคำปรึกษาได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับวิธีการที่คนในครอบครัวพูดจาสื่อสาร
และปฏิบัติต่อกัน ให้เกียรติกัน เป็นการสื่อสารทางอ้อม ไม่ใช่เป็นการเอาแต่พูด แต่ไม่ได้ปฏิบัติ เพราะคนเราพิจารณาความจริงใจผ่านการกระทำมากกว่าคำพูด
ดังนั้น การจะสร้างให้คนในครอบครัวมีสุขภาพจิตดีได้ ทุกคนจำเป็นต้องมีเวลาให้กันเพื่อที่จะมีกิจกรรมร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์กัน
เพื่อจะได้มีการสื่อสารให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อกันและกัน ถ้ามีครอบครัวแล้วไม่มีเวลาให้กัน ให้มีกิจกรรมร่วมกันคงจะหวังความสัมพันธ์ที่ดี
ที่แข็งแรงได้ยาก
การสื่อสาร เป็นเรื่องสำคัญที่เรามักจะละเลย ลืมไปที่จะให้ความสำคัญ มีครอบครัวจำนวนมากที่แคร์ความรู้สึกคนนอกบ้านมากกว่าความรู้สึกคนในบ้าน
ซึ่งอาจจะเกิดจากความรู้สึกว่าคนในครอบครัวเป็นคนกันเองมาก ใกล้ชิดกันมาก จนไม่ได้นึกถึงความรู้สึกของกันและกัน
ลืมที่จะชื่นชมเมื่อใครคนหนึ่งทำอะไรสำเร็จ ลืมขอบคุณ เมื่อคนในบ้านทำอะไรให้ ลืมขอโทษเมื่อตนเองทำอะไรผิดพลาดไม่ถูกต้อง
สิ่งเหล่านี้ถึงแม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถ้าหากเกิดขึ้นสะสมเป็นระยะเวลายาวนานเป็นปีๆ ก็อาจจะทำให้เกิดความเย็นชา
เกิดช่องว่างระหว่างกัน ความรู้สึกดีๆ ต่อกันในครอบครัวก็จืดจางไปได้ รวมไปถึงความรู้สึกมีคุณค่า เอาใจใส่ ห่วงใยกันและกัน
นอกจากนี้ยังมีพ่อแม่จำนวนมากที่รักลูก ปรารถนาดีต่อลูก แต่ใช้วิธีสื่อสารเชิงลบ เด็กจะรู้สึกไม่อยากเข้าหา เพราะเข้าหาก็จะรู้สึกว่าวันนี้ฉันจะถูกตำหนิเรื่องอะไรอีก
เข้าใกล้แล้วรู้สึกว่าเจ็บ เสียความรู้สึกทุกที ตัวฉันไม่มีอะไรน่าภูมิใจเลย บ้านไม่น่าอยู่ ออกไปแล้วหาความภูมิใจจากนอกบ้านดีกว่า
ทั้งๆ ที่สิ่งที่พ่อแม่ว่ากล่าวตักเตือนเป็นความหวังดี เจตนาดีแท้ๆ ดังนั้นวิธีสื่อสารที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญ
สังคมไทยต้องเผชิญกับปัญหามากมาย ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจสังคม ยาเสพติด การใช้ความรุนแรงต่อกัน การที่จะฝ่าฟันเอาชนะปัญหาทั้งหลายทั้งปวงได้
ต้องอาศัยชุมชนและสังคมที่เข้มแข็ง ต้องอาศัยสถาบันครอบครัวที่แข็งแรง ครอบครัวดีไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ
หรือตามยถากรรม แต่เกิดขึ้นจากความตั้งใจที่แน่วแน่ เกิดจากความรู้ ความเข้าใจ การเอาใจใส่กัน ความอดทนและการเสียสละของสมาชิกทุกคน