ปรับใจเข้าหากัน ลดความรุนแรงในครอบครัว


ดร.อภันตรี สาขากร
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์

ครอบครัวที่อบอุ่นเป็นรากฐานของสุขภาพจิตที่ดีและความสำเร็จในอนาคต ไม่ว่าบุคคลวัยใด เด็กหรือผู้ใหญ่ต่างมีความปรารถนาที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสบายใจและรู้สึกปลอดภัย แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่ทำให้ทุกคนต้องทำงานหนักขึ้น มีเวลาพักผ่อนน้อยลง มีความเครียดสะสม รวมทั้ง ปัญหาด้านสุขภาพจิตต่างๆ เช่น อาการซึมเศร้า โรคติดสุรา ปัญหาเรื่องยาเสพติดและการพนัน หรือปัจจัยด้านค่านิยมอื่นๆ เช่น สามีเป็นเจ้าของภรรยา รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจนำมาสู่ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว อาจแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่


1. ความรุนแรงระหว่างคู่สมรส คู่สมรสเดิม ผู้ที่อยู่กินหรือเคยอยู่กินฉันสามีภรรยา (Intimate Partner Violence and Abuse)

2. ความรุนแรงต่อเด็ก (Child Abuse)

3. ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ (Elder Abuse)


ความรุนแรง คือ การกระทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและการทำให้เกิดความทุกข์ทางจิตใจ หรือการกระทำทางเพศ หรือการทอดทิ้งปล่อยปละละเลย ซึ่งแนวทางการป้องกันและแก้ไขเพื่อลดความรุนแรงในครอบครัวสามารถทำได้โดย


ลดความรุนแรงในครอบครัว


• สร้างบรรยากาศภายในบ้าน ให้รู้สึกอบอุ่น ปลอดภัย ปลูกฝังความเมตตากรุณาต่อกัน แก้ปัญหาต่างๆ ในครอบครัวร่วมกันด้วยความสุขุม รอบคอบ มีเหตุผล สงบสันติ ไม่ก้าวร้าวหรือใช้คำผรุสวาทด่าทอต่อว่ากัน และไม่ทำร้ายร่างกายกัน


• หาโอกาสพูดคุยกันในครอบครัว ปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน แต่ถ้าไม่สามารถควบคุมหรือแก้ปัญหาพฤติกรรมนี้ได้ ควรไปพบจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาเพื่อรับฟังคำแนะนำและนำมาปรับปรุงแก้ไข เช่น เรียนรู้การสื่อสารโดยตรงกับคนในครอบครัวด้วยความรัก ความเข้าใจและด้วยเหตุผล เรียนรู้เรื่องการจัดการอารมณ์ รวมถึงการฝึกทักษะการรับฟังอย่างเข้าใจ คือ เปิดใจรับฟัง ไม่มีอคติแอบแฝง เมื่อมีปัญหาขัดแย้งก็ร่วมกันแก้ไขอย่างใจสงบ สืบหาสาเหตุเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งได้ตรงจุด


• หลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจทำให้เกิดความรุนแรง เช่น การดื่มสุรา เสพสิ่งเสพติด เป็นต้น ทั้งนี้ ถ้าหากมีการโต้เถียงกันขึ้น ควรมีฝ่ายหนึ่งหยุดและหลีกเลี่ยงคำพูดยั่วยุส่อเสียด ทั้งทางวาจา สายตา เพราะอาจจะทำให้อีกฝ่ายโกรธมากยิ่งขึ้น ถ้าถึงขั้นขว้างปาสิ่งของหรือจะเข้ามาทำร้ายร่างกาย ควรหลบหลีกออกจากสถานการณ์ตรงนั้นไปก่อน


• เมื่อเกิดการกระทำความรุนแรงในครอบครัว ควรพาผู้บาดเจ็บไปรับการรักษาโดยแพทย์ และหากได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจควรพามาพบจิตแพทย์เพื่อบำบัดฟื้นฟูสภาพจิต ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ความรุนแรงควรพบจิตแพทย์เพื่อรับการประเมินปัญหาทางจิตเวชและได้รับการบำบัด เช่นเดียวกัน



ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมิใช่ปัญหาส่วนบุคคลเท่านั้น คนในชุมชนหรือสังคมควรเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาด้วยเช่นกัน หากผู้ใดพบเห็นการกระทำความรุนแรงควรแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการต่อไป

ลดความรุนแรงในครอบครัว




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม