จิตแพทย์แนะเทคนิค จัดการลูกขี้อ้อน


ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

บ่อยครั้งที่พ่อแม่มักจะใจอ่อนเมื่อเจอความน่ารัก สดใส ไร้เดียงสาของลูกๆ ที่เข้ามาออดอ้อน ขอนั่นขอนี้ จนพ่อแม่ยอมทุกครั้ง จนทำให้ไม่กล้าปฏิเสธเพราะกลัวลูกจะเสียใจ กลัวลูกไม่รัก หากเรื่องที่ลูกๆ อ้อนเป็นเรื่องที่ดีสร้างสรรค์ก็คงไม่เป็นไร แต่ถ้าหากเป็นเรื่องที่ลำบากใจไม่เหมาะสม พ่อแม่ควรตรึกตรองให้ถี่ถ้วนว่าผลที่จะเกิดตามมานั้นได้หรือคุ้ม


สำหรับพฤติกรรมการอ้อนของเด็กที่แสดงออกต่อพ่อแม่นั้น นับเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นไปตามวัยของเด็ก ซึ่ง ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็กวัยรุ่นและครอบครัว ที่ปรึกษาของโรงพยาบาลมนารมย์ ให้ข้อสังเกตว่า ถ้าหากเด็กเล็กๆ มาอ้อนพ่อแม่แสดงว่าเขาต้องการการตอบสนองจากพ่อแม่เพื่อเป็นการแสดงความรัก หากลูกอ้อนบ่อยๆ ถี่ๆ ขอนั่นขอนี่ อ้อนให้ทำสิ่งต่างๆ ก็ไม่ควรตามใจจนเกินสมควร ควรจะเชียร์ให้เขาทำเองในสิ่งที่เขาทำได้แล้ว หลังจากนั้นก็กล่าวคำชื่นชม เช่น อาจจะบอกว่าแม่กำลังยุ่ง ลูกทำเองเลย ลูกเก่งทำได้อยู่แล้ว ให้รู้ทันเขา แต่ถ้านานๆ เขามาอ้อนทีก็ควรตอบสนองบ้างเป็นครั้งคราว


ศ.พญ.นงพงา ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับลูกวัยรุ่นนั้นไม่ค่อยชอบมาอ้อนพ่อแม่ เพราะเขาจะมีโลกส่วนตัวของเขา มีกลุ่มเพื่อนอยู่แล้ว จึงไม่ค่อยจะมาอ้อนพ่อแม่สักเท่าไหร่ นานๆ ทีเขาถึงจะมาอ้อนก็ควรตอบสนองไป เพราะนั่นแสดงว่าเขาอยากให้พ่อแม่แสดงความรักต่อเขา ในกรณีหากลูกวัยรุ่นมาอ้อน พ่อแม่ควรพูดไปตามเหตุตามผล พูดเชิงบวก เช่น จะไม่ให้ก็ต้องอธิบายเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงไม่ให้ ไม่ใช่ไปดุหรือตำหนิ แต่ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องให้ทุกครั้งที่เด็กอ้อนขอ เช่น เด็กขอไปเที่ยวต่างจังหวัด ทั้งๆ ที่มันไม่สมควรจะไป ไม่มีผู้ใหญ่ไปดูแล และไม่สมควรกับอายุ เราก็บอกว่ากรณีนี้ไม่อยากให้ไป เพราะว่าไม่มีผู้ใหญ่ไปดูแลเรื่องความปลอดภัย เพราะสิ่งที่ต้องสนใจมากที่สุดคือเรื่องความปลอดภัยของเด็ก หรือมาอ้อนขอไปค้างบ้านเพื่อน พ่อแม่ไม่ควรตามใจลูก เพราะไม่รู้ว่าบ้านเพื่อนคนนั้นมีอะไร ไปทำกิจกรรมอะไร มีผู้ใหญ่ดูแลหรือเปล่า คือต้องดูความเหมาะสม ดูความปลอดภัยเป็นหลัก แล้วก็คุยกับเขาตามเหตุผล


เทคนิคดูแลลูกขี้อ้อน

สำหรับการรับมือหรือเตรียมความพร้อมของพ่อแม่หากต้องเจอการอ้อนของลูกๆ ศ.พญ.นงพงา ลิ้มสุวรรณ แนะนำดังนี้
1. ควรทำความเข้าใจว่าเด็กต้องการอะไร โดยนึกย้อนกลับไปตอนเด็ก พ่อแม่เจอการเลี้ยงดูแบบไหน แล้วแบบไหนที่พ่อแม่ชอบ แบบไหนที่ไม่ชอบ ก็จะรู้แล้วว่าลูกอยากได้อะไร เด็กอยากได้พ่อแม่แบบไหน เป็นสิ่งที่ตัวพ่อแม่เองก็เคยมีประสบการณ์มาแล้ว และอาจจะลืมไปแล้ว
2. การสื่อสารในเชิงบวก ต้องคุยในเชิงบวก ไม่ตำหนิซะก่อน เราต้องบอกเหตุผลว่าเพราะอะไร ถึงให้ไป เพราะอะไรถึงไม่ให้ไป เพราะอะไรถึงได้ เพราะอะไรถึงไม่ได้ อย่าไปออกเชิงตำหนิ ซึ่งเขาจะเบือนหน้าหนี เช่น ลูกขอไปดูคอนเสิร์ต เราก็ควรอธิบายเกี่ยวกับความปลอดภัย เราต้องคุยว่าความปลอดภัยมันเป็นอย่างไร มีคนดูแลเรื่องความปลอดภัยไหม มีผู้ใหญ่กำกับหรือเปล่า ถ้ามีผู้ใหญ่ดูแล เช่น พ่อแม่ของเพื่อนไปด้วยสักคนก็ไว้ใจได้ก็สมควรให้ไป
3. หากลูกเข้ามาอ้อน พ่อแม่ควรแสดงความรัก ความห่วงใยที่เหมาะสม เช่น กอด สัมผัสร่างกาย พูดคุยกับลูก
4. อย่าใจอ่อนหรือตามใจผิดๆ เพราะหากเลี้ยงลูกแบบตามใจมากตั้งแต่เด็ก โตขึ้นเขาก็เอาแต่ใจตัวเอง ไม่ฟังใคร พ่อแม่ต้องอบรมโดยการสอนให้ลูกมีวินัย คือให้รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรไม่ได้ อะไรเหมาะไม่เหมาะ ให้มีความเหมาะสมตามวัย ตามกาลเทศะ เช่น ลูกเรียนอยู่ ป.1 มาอ้อนขอซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ราคาเกือบสามหมื่นบาท ซึ่งเด็กอายุแค่ขนาดนี้ไม่ควรใช้ของที่เกินวัย พ่อแม่ควรอธิบายให้ลูกฟังถึงความเหมาะสม

“ถ้าดูแลเขามาตั้งแต่เล็ก ใกล้ชิดพอสมควร และดูแลเขามาอย่างถูกต้อง พอลูกเข้าสู่วัยรุ่นจะไม่ค่อยมีปัญหา ในรายที่มีปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่ค่อยถูกต้อง เช่น ตามใจมากเกินไป เข้มงวดมากเกินไป หรือห่างเหินมากเกินไป ไม่ได้เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลย พวกนี้ก็จะมีปัญหา คือมาพูดกันตอนโตความสนิทมันไม่มี ถ้าดูแลกันมาดีพอสมควรมันก็พูดคุยกันได้อยู่แล้ว มีปัญหาก็พูดคุยกัน แต่ถ้ามันไม่มีความสนิทความใกล้ชิด เด็กก็จะไม่มีความไว้วางใจ ไม่เห็นว่าพ่อแม่เป็นที่พึ่ง ที่ปรึกษาได้”


ศ.พญ.นงพงา เสริมว่า หากในช่วงวันหยุด ลูกมาอ้อนขอไปเที่ยวข้างนอก หรือ ไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หากพ่อแม่กังวลแต่ถึงความปลอดภัยของลูก จึงไม่อนุญาตให้เขาออกไป โดยปล่อยให้เขาอยู่บ้าน พ่อแม่ควรจะคำนึงถึงความปลอดภัยของพวกเขาในขณะอยู่ที่บ้านด้วย เช่น บางคนปล่อยให้ลูกอยู่บ้านคนเดียว บ้านอยู่ในซอยเปลี่ยว อยู่ห่างจากหลังอื่นๆ หรือ มีรั้วรอบขอบชิดที่ปลอดภัยหรือไม่ บางคนอยู่คนเดียวได้เพราะมีเพื่อนบ้านที่ดี ช่วยเป็นหูเป็นตา ถ้าเด็กเล็กก็ต้องมีผู้ใหญ่ดูแลเสมอ


สายใยรักในครอบครัวถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าหากสถาบันครอบครัวเข้มแข็ง สมาชิกภายในครอบครัวมีความสุข ได้รับความรักที่เพียงพอ ก็จะมีความมั่นคงทางอารมณ์ สามารถประสบความสำเร็จ มีความสุขในชีวิตได้ไม่ยาก และสามารถแบ่งปันความสุขไปสู่คนรอบข้างได้ แต่ปัจจุบันพบว่ายังมีหลายครอบครัวที่ยังไม่ค่อยเข้าใจและไม่มีทักษะความรู้ในการเลี้ยงลูก จึงทำให้เกิดปัญหา ความยุ่งยากตามมามากมาย


เทคนิคดูแลลูกขี้อ้อน





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม