ลูกพูดช้า พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง พ่อแม่อย่าชะล่าใจ


อาจารย์ปรียา หล่อวัฒนพงษา
นักบำบัดทางการพูดและภาษา โรงพยาบาลมนารมย์

การพูดถือเป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งว่าเด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตสมวัยหรือไม่ เด็กบางคนพูดจาน่ารักน่าเอ็นดู พูดเป็นนกแก้วนกขุนทอง แต่เด็กบางคนโตจนตั้งไข่หัดเดินได้แล้ว กลับไม่รู้ภาษา ฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่ได้แม้แต่คำว่าพ่อและแม่ หรือบางรายกลายเป็นเด็กที่พูดไม่ชัด พูดติดอ่าง หรือพูดแล้วผู้อื่นฟังไม่รู้เรื่อง จับใจความไม่ได้


สมาคมโสตสัมผัสวิทยาและการแก้ไขการพูดแห่งประเทศไทย ได้แบ่งประเภทปัญหาด้านการพูดและภาษาไว้ 9 ชนิด คือ พูดไม่ชัด เสียงผิดปกติ (เช่น เสียงแหบ เสียงเบา) พูดติดอ่าง พัฒนาการพูดและภาษาล่าช้ากว่าวัยในเด็กกลุ่มต่างๆ เช่น ออทิสติก ความบกพร่องทางสมอง กลุ่มดาวน์ซินโดรม กลุ่มของเด็กที่มีปัญหาด้านจิตใจ กลุ่มที่มีปัญหาการได้ยิน และกลุ่มที่มีเพดานโหว่และปากแหว่ง ซึ่งความผิดปกติทางการพูดและภาษาเหล่านี้ มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ พัฒนาการทางการคิดและการเรียนรู้ตลอดจนบุคลิกภาพโดยรวมของเด็กในวัยต่อไป



พูดติดอ่าง

ความผิดปกติทางการพูดที่เกิดขึ้นในวัยเด็กพบได้หลายชนิด ตั้งแต่ไม่พูด หรือพูดได้แล้วแต่ ไม่มีความคืบหน้าด้านพัฒนาการของภาษา มีคำศัพท์น้อย พูดได้สั้นๆ พูดเป็นคำๆ ไม่สามารถนำคำที่รู้มาเรียบเรียงต่อเป็นประโยค ไม่สามารถบอกความต่อเนื่องหรือเล่าเรื่องได้ บางคนมีความเข้าใจและ มีคำศัพท์แต่ไม่สามารถนำคำศัพท์ที่รู้มาใช้ได้ เป็นต้น ส่วนอาการของการพูดไม่ชัด สังเกตได้จากการพูดเพี้ยนหรือนำเสียงใดก็ได้มาทดแทน เช่น ในเสียงพยัญชนะต้น คำว่า “ช้อน” กลายเป็น “จ๊อน” “สวย” ก็ออกเสียงเป็น “จ๋วย” ในเด็กไทยที่พบส่วนใหญ่จะพูดเสียง ส เสือ ร เรือ และคำควบกล้ำ ไม่ชัด หรือในเสียงตัวสะกด เช่น คำว่า "บ้าน" จะลดเสียงพูดว่า "บ้า" ไม่มีเสียง น หนู หรือ "บ้าง" โดยนำ ง งู มาเติมแทน น หนู เป็นต้น



นอกจากนี้ยังมีปัญหาการพูดที่พบมากในเด็กประถมต้น คือ การพูดติดอ่าง สาเหตุของการพูดติดอ่างที่พบได้บ่อย คือ เกิดจากลมหายใจของเด็กไม่สัมพันธ์กับการพูด เด็กพวกนี้มักมีร่างกายอ่อนแอหรือเหนื่อยง่าย มีโรคประจำตัว โรคภูมิแพ้ มีน้อยรายมากที่เกิดจากพ่อแม่ดุหรือเข้มงวดเกินไป และยังมีอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถบอกถึงสาเหตุที่ชัดเจนได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากได้รับการรักษาก็สามารถมีพัฒนาการที่ดีขึ้นเป็นลำดับ





พูดติดอ่าง

วิธีการสังเกตเด็กว่ามีปัญหาในเรื่องของการพูดหรือไม่ สามารถทำได้โดยให้พ่อแม่หมั่นพูดคุยกับลูก และเปรียบเทียบในใจถึงพัฒนาการของลูกกับเด็กคนอื่นในวัยเดียวกัน ไม่พูดเปรียบเทียบให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย หากมีปัญหาพูดไม่ชัด หรือสื่อความหมายถึงสิ่งที่เขารู้สึกไม่ได้ ทั้งที่เพื่อนในวัยเดียวกันทำได้ ให้รีบพามาปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่ถูกวิธี เพื่อให้พัฒนาการด้านการพูดและภาษาของเด็กได้ถูกพัฒนาไปพร้อมกับพัฒนาการด้านร่างกาย สังคม และทักษะอื่นๆ



พ่อแม่เป็นด่านแรกที่สามารถสังเกตดูลูกตัวเองว่ามีความผิดปกติในเรื่องใดบ้าง มีพัฒนาการด้านต่างๆ สอดคล้องไปด้วยกันกับวัยหรือไม่ เช่น เรื่องพัฒนาการด้านพูดและภาษา



• 1 ขวบ ควรชี้หู ตา จมูกได้
• 1 ½ ถึง 2 ขวบ ควรพูดได้
• 3 ขวบ ควรจะพูดชัด
• 4 ขวบ น่าจะเล่าเรื่องสั้นๆ ได้


หากผิดเพี้ยนไปจากนี้ ควรขอรับคำปรึกษาจากแพทย์


ทุกความผิดปกติของการพูดและภาษาสามารถแก้ไขได้ หากพ่อแม่สังเกตเห็นตั้งแต่แรกเริ่ม แล้วพามาตรวจเพื่อรับการรักษาด้วยการฝึกพูดอย่างถูกวิธี จะทำให้พัฒนาการของเด็กตามทันเพื่อน ในวัยเดียวกันได้ ดีกว่าปล่อยไว้จนโตแล้วมาแก้ไขทีหลัง การที่เด็กได้รับการรักษาล่าช้า เมื่อเติบโตขึ้นมา หลายรายประสบปัญหาเรื่องบุคลิกภาพจนเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตในสังคม ตั้งแต่ในโรงเรียนและที่ทำงาน เป็นปมด้อยที่ถูกล้อเลียนทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และไม่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตเท่าที่ควรจะเป็น


“การเอาใจใส่ สังเกตความผิดปกติ และการช่วยเหลือลูกรัก แก้ไขตั้งแต่แรกเริ่ม เป็นการลงทุน ที่คุ้มค่าอย่างยิ่ง”