รัฐกร น้อยสมวงษ์
นักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์
“ทำไมกินแต่ของกรอบๆ ผักไม่ยอมกิน”
“น้องชอบเล่นแรงๆ กระโดด ปีนป่ายไม่หยุด ห้ามก็ไม่ฟัง บางทีก็ไปผลักเพื่อนที่โรงเรียนแรงๆ จนครูมาฟ้อง”
“ลูกชอบเหม่อมองของหมุนได้ บางทีจ้องได้ทั้งวันเลยค่ะ”
“แม่คะ หนูขอไม่สระผม ไม่ไปเรียนว่ายน้ำได้ไหม หนูไม่อยากให้น้ำถูกหน้า”
“ทำไมลูกถึงตกใจกลัวเสียงแอร์บ้าง เสียงไดร์เป่าผมบ้าง ทั้งที่เป็นเสียงปกติ”
หลากหลายพฤติกรรมของเด็กที่ผู้ปกครองได้แต่ตั้งคำถามว่า พฤติกรรมเหล่านี้ เด็กแกล้งเรียกร้องความสนใจหรือเอาแต่ใจ เรามาทำความรู้จักระบบประสาทรับความรู้สึก
(Sensory Integration: SI) กัน
Sensory Integration: SI คืออะไร
สมองมีระบบหนึ่งทำหน้าที่จัดการ เรียบเรียง “ข้อมูล” ต่างๆ ที่ร่างกายรับเข้ามา เมื่อเรียบเรียง วิเคราะห์ข้อมูลแล้ว จะแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่อไป
เช่น คว้าเค้กมากินเพราะกลิ่นหอมเหลือเกิน หรือหมุนพวงมาลัยรถหลบแมวที่วิ่งตัดหน้ารถ ซึ่งระบบนี้คือ ระบบประสาทรับความรู้สึก
มีทั้งหมด 7 ด้าน คือ ภาพ เสียง สัมผัส รับรส ดมกลิ่น การทรงตัว และการรับรู้ท่าทางผ่านข้อต่อ
ระบบประสาทรับความรู้สึก เริ่มทำงานตั้งแต่แรกเกิด และพัฒนาต่อเนื่องอย่างมากในช่วง 6-7 ปีแรก จึงเป็นระยะเวลาที่เด็กควรได้รับการส่งเสริมให้รู้จักจัดการข้อมูลต่างๆ
ที่เป็นสิ่งใหม่ต่อเขา เช่น แยกแยะเสียง หน้าตา หรือ สัมผัสจากพ่อแม่ ได้วิ่งเล่นให้กล้ามเนื้อทุกส่วนทำงานเต็มประสิทธิภาพ
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแบบฝึกหัดให้เด็กเรียนรู้จัดการข้อมูลที่ได้รับมาและเปลี่ยนให้เป็นพฤติกรรมที่เหมาะสม หากข้อมูลที่ได้รับมาถูกต้อง
แต่ “การจัดการข้อมูลผิดพลาด” ก็ส่งผลให้ร่างกายตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้มาผิดพลาดไป โดยการตอบสนองการตีความข้อมูลที่ผิดพลาด
แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ไวต่อข้อมูลมากเกินไป และ เฉยชากับข้อมูลเกินไป
ปกติแล้วเราทุกคนมีจุดสมดุลที่ร่างกายจะตอบสนองต่อข้อมูลนั้นๆ ไม่เท่ากัน แต่ต่างกันไม่มากนัก เช่น เสื้อขนสัตว์ บางคนใส่ได้ไม่รู้สึกอะไร
บางคนใส่แล้วรู้สึกไม่สบายตัวแต่ก็พอใส่ได้ บางคนใส่แล้วคัน บางคนไม่กล้าใส่เลย ในกรณีที่เด็กมีจุดสมดุลต่ำเกินไป พอมีข้อมูลเข้ามาเพียงนิดเดียวก็รู้สึกว่ามันมากมายสำหรับเขาเหลือเกิน
เช่น เสียงแอร์ที่แผ่วเบา สำหรับคนอื่นอาจไม่ได้ยิน ไม่ได้ใส่ใจ แต่สำหรับเด็กที่มีจุดสมดุลต่ำแล้ว จะได้ยินเสียงดังมาก รบกวนมาก
หรือผักคะน้า สำหรับคนอื่นกินแล้วไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับเด็กที่มีจุดสมดุลต่ำแล้ว มันรู้สึกสาก ขยะแขยง ไม่น่ากินเอาเสียเลย
ในกรณีกลับกัน เด็กที่มีจุดสมดุลสูงมาก ต้องได้รับข้อมูลในปริมาณมากๆ กว่าที่เขาจะได้ยิน ได้เห็น ได้สัมผัส ได้รับรส เช่น
เด็กบางคนเรียกไม่ค่อยได้ยิน ต้องพูดดังๆ ถึงจะหัน เด็กบางคนเล่นทั้งวันก็ไม่เหนื่อยผิดกับเด็กทั่วๆ ไป เด็กบางคนชอบจ้องมองของหมุนๆ
หรือชอบหมุนตัวเองอยู่กับที่ เป็นต้น
ความไม่สมดุลดังกล่าว ถ้ามากเกินไปจะส่งผลต่อการดำเนินชีวิต พัฒนาการทางด้านต่างๆ เด็กที่หลีกเลี่ยงการกินอาหารบางพวกก็ส่งผลต่อโภชนาการ
เด็กที่เล่นแรง ซน ไม่นิ่งก็ส่งผลต่อการเข้าสังคม ไม่มีใครเล่นด้วย การเรียนแย่เพราะไม่มีสมาธิ เด็กที่เฉยชาต่อเสียงก็จะฟังคุณครูไม่ชัด
ไม่เข้าใจ เด็กที่การมองเห็นภาพไม่ปกติก็ทำให้มองกระดานไม่ชัด จำภาพตัวอักษรไม่ได้ เขียนตัวหนังสือสลับกลับหัว เป็นต้น
การรักษา
เมื่อเรื่องพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้รับการแก้ไข ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ต่อเนื่องไปเป็นลูกโซ่ เช่น เด็กที่เล่นแรง ซน ยุกยิก เข้ากับเพื่อนไม่ได้ เรียนก็ช้าไม่ทันเพื่อน คุณครูดุ เพื่อนไม่เล่นด้วย กลายเป็นคนที่เก็บตัว แยกตัว มองว่าตัวเองไม่มีความสามารถ กลายเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นต้น การรู้ปัญหาไว และได้รับช่วยเหลือเมื่อยังอยู่ในวัยที่ฝึกได้เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยปรับให้เด็กๆ ที่มีปัญหาสมดุลข้อมูลกลับมาดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น ไม่ขัดขวางพัฒนาการ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้เด็กเรียนรู้และเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรง มีจิตใจสมบูรณ์ หากสงสัยว่าบุตรหลานของท่านมีปัญหาด้านระบบประสาทรับความรู้สึก ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้เด็กๆ ได้รับการพัฒนาพร้อมฝึกทักษะอย่างถูกวิธี