แพทย์หญิงปรารถนา เจรียงประเสริฐ
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
โรคซึมเศร้าคืออะไร
ก่อนอื่นต้องแยก โรคซึมเศร้า ออกจาก อารมณ์เศร้า โดยทั่วไปก่อน
“อารมณ์เศร้า” เป็นอารมณ์พื้นฐานตามธรรมชาติของมนุษย์ มักเกิดขึ้นเมื่อมีสิ่งมากระทบใจ เป็นอารมณ์ชั่วคราว ใช้เวลาไม่นานเกินข้ามวันมักจะดีขึ้น
ส่วน “โรคซึมเศร้า” นั้น คือ การที่เด็กๆ รู้สึกเศร้าอย่างต่อเนื่องยาวนานติดกันหลายๆ วันเป็นสัปดาห์ จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การไปโรงเรียน หรือการเข้าสังคม เป็นต้น
พฤติกรรมของโรคซึมเศร้าในเด็กที่ควรสังเกต
ในเด็กอาจมีอาการแสดงที่แตกต่างหลากหลาย ดังต่อไปนี้
• ในด้านอารมณ์ เด็กบางคนอาจมีอารมณ์หงุดหงิด ก้าวร้าว ดื้อต่อต้านมากขึ้น บางคนมีอารมณ์เศร้า อาจร้องไห้เจ้าน้ำตา ไม่ร่าเริง งอแง บางคนอาจดูวิตกกังวลและกลัวมากขึ้น เป็นต้น
• การรับประทานอาหาร มีได้ทั้งรู้สึกเบื่ออาหาร หรือรับประทานมากขึ้นผิดปกติ
• มีปัญหาการนอน เช่น นอนไม่หลับ หลับๆ ตื่นๆ ฝันร้าย หรือนอนมากขึ้น
• รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีพลัง
• คิดลบมากขึ้น รู้สึกผิดง่าย โทษตัวเองบ่อยๆ
• สมาธิความจำแย่ลง เริ่มมีปัญหาการเรียน เช่น มีงานค้าง เรียนไม่รู้เรื่อง เป็นต้น
• พัฒนาการถดถอย (ในเด็กเล็ก) เช่น มีปัสสาวะราด อุจจาระราด ทั้งๆ ที่เคยกลั้นได้
• มีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ที่รักษาพบแพทย์แล้วไม่ดีขึ้น
• พูดเรื่องความคิดอยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่
ดูแลอย่างไร เมื่อเด็กเป็นโรคซึมเศร้า
ผู้ปกครองหลายท่านมักถามหมอว่า มีคำพูดอะไรที่จะช่วยให้เด็กดีขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว หมอคิดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรับฟังและการให้เวลาคุณภาพกับลูก
การรับฟังที่ดีนั้น คือ การฟังอย่างตั้งใจ พยายามเข้าใจสถานการณ์โดยไม่ตัดสิน และยังไม่ต้องแสดงความคิดเห็น ทำให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกทั้งหมดออกมา ส่วนเรื่องการให้เวลาคุณภาพนั้น คือ การได้ใช้เวลาร่วมกันกับผู้ป่วย ทำกิจกรรมสนุกด้วยกัน เช่น บอร์ดเกม เล่นดนตรี ดูหนัง เป็นต้น
ส่วนเรื่องของการพูดคุยกับเด็กที่ป่วยเป็นซึมเศร้านั้น ผู้ปกครองควรระมัดระวังการใช้คำพูดเชิงตำหนิ บ่น เพราะเด็กที่เป็นโรคซึมเศร้ามีแนวโน้มคิดลบมากกว่าปกติอยู่แล้ว ควรพูดสื่อสารโดยใช้ “I Message” เป็นประโยคที่ผู้ฟังจะเข้าใจสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการสื่อโดยไม่รู้สึกแย่ เช่น “แม่อยากให้หนูลงมาทานข้าว เพราะเป็นห่วง กลัวว่าหนูจะปวดท้อง” เป็นต้น
การมีตารางกิจวัตรประจำวันที่แน่นอน สม่ำเสมอก็เป็นเรื่องสำคัญ ผู้ป่วยควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ 8-10 ชั่วโมง โดยหลีกเลี่ยงการใช้สื่อหน้าจอทุกชนิด 1 ชั่วโมงก่อนเวลาเข้านอน หากมียารับประทานก็ควรดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ และถ้าสามารถชักชวนให้ผู้ป่วยออกกำลังกายโดยการเล่นกีฬาที่ผู้ป่วยชอบได้ด้วยก็จะยิ่งดีมาก
สิ่งสุดท้ายที่หมออยากฝากไว้ก็คือ อย่าลืมดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจของผู้ปกครองเองด้วย เพราะหากผู้ปกครองมีภาวะเครียด กังวล เศร้า หรือหงุดหงิดควบคุมอารมณ์ไม่อยู่ ตัวผู้ป่วยเองก็จะซึมซับอารมณ์เหล่านั้นจนอาจทำให้อาการแย่ลงได้
การรักษาโรคซึมเศร้าในเด็ก
โรคซึมเศร้านั้น เป็นโรคที่รักษาได้ ยิ่งรักษาเร็วแต่เนิ่นๆ ก็ยิ่งเป็นผลดี หากผู้ป่วยเป็น โรคซึมเศร้าแบบไม่รุนแรง (MILD) แพทย์อาจพิจารณารักษาแบบไม่ใช้ยาได้ และเน้นการรักษาโดยการทำจิตบำบัด ปรับพฤติกรรม การเล่นบำบัด ดนตรีบำบัด สอนวิธีจัดการกับความเครียด และวิธีการแก้ปัญหา ซึ่งวิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ในบางกรณี แพทย์และผู้ปกครองอาจต้องพูดคุยกับทางโรงเรียนเพื่อให้คุณครูเข้าใจถึงอาการและปัญหาของผู้ป่วย ซึ่งจะนำไปสู่การช่วยเหลือ และลดความเครียดของผู้ป่วยได้ในขณะรักษา
ในผู้ป่วยที่เป็น โรคซึมเศร้าแบบปานกลางถึงรุนแรง (Moderate to severe) แพทย์มักพิจารณาใช้ยาต้านเศร้า ลดวิตกกังวล ร่วมกับการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นด้วย