โรคซึมเศร้าเรื้อรังคืออะไร



โรงพยาบาลมนารมย์


โรคซึมเศร้าเรื้อรัง มีชื่อทางการแพทย์ว่า Dysthymia หรือ Persistent Depressive Disorder (PDD) ที่แม้มีอาการรุนแรงไม่มากเท่ากับโรคซึมเศร้า แต่กลับส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำมากกว่า เพราะมีอาการติดต่อกันยาวนานอย่างน้อย 2 ปี และอาจมีบางคนที่มีอาการทั้งสองโรคพร้อมกันได้


โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางอารมณ์เกี่ยวข้องทั้งด้านพฤติกรรม จิตใจ และความคิด ส่งผลต่อการกิน การนอนหลับ ความคิดต่อสิ่งต่างๆ และความรู้สึกต่อตัวเอง แตกต่างกับความรู้สึกที่ไม่มีความสุขหรืออารมณ์เศร้าแบบปกติ ไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอหรือตั้งใจที่จะเป็น คนที่มีอาการของโรคซึมเศร้าจะไม่สามารถสลัดให้หลุด เอาออกไป หรือรู้สึกดีขึ้นได้เอง แต่สิ่งที่ช่วยให้เขาดีขึ้นได้คือการรักษา


โรคซึมเศร้าเรื้อรัง


สาเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรัง


ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุของโรคซึมเศร้าเรื้อรังได้แน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเป็นผลจากการทำงานที่ผิดปกติของสารเคมีในสมอง และยังมีอีกหลายปัจจัยที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้ เช่น สิ่งแวดล้อม จิตใจ สุขภาพร่างกาย พันธุกรรม ความเครียดสะสด รวมถึงการเผชิญเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต



โรคซึมเศร้าเรื้อรัง


โรคซึมเศร้าเรื้อรังมีอาการอย่างไร


o มีความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือ เฉยๆ อยู่ในอารมณ์ว่างเปล่า เป็นเกือบตลอดเวลา ร่วมกับ 2 อาการจากอาการต่อไปนี้
o ไม่สามารถจดจ่อ มีสมาธิได้ คิดและตัดสินใจไม่ได้
o ไม่มีพลัง เหนื่อยล้า รู้สึกสิ้นหวัง น้ำหนักหรือการกินเปลี่ยนไปจากเดิม กินน้อยลงหรือกินมากขึ้น
o การนอนเปลี่ยนไป นอนไม่หลับ อาจตื่นตอนเช้ากว่าปกติ หรือนอนมากเกินไป
o ความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ
o สมาธิ การจดจ่อลดลง ตัดสินใจลำบาก
o รู้สึกสิ้นหวัง

การวินิจฉัยในผู้ใหญ่ต้องมีอาการอย่างน้อย 2 อย่างจากทั้งหมดและเป็นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2 ปี หากในเด็กและวัยรุ่นประมาณ 1 ปี อาการเจ็บป่วยเหล่านี้อาจดูเหมือนอาการทางสุขภาพจิตอื่นๆ แนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

โรคซึมเศร้าเรื้อรัง



การรักษาโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

• การรักษาด้วยยา
การใช้ยาต้านเศร้าช่วยให้อาการดีขึ้น อาจใช้เวลา 4 – 6 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับอาการ ของแต่ละคน เมื่อกินยาแล้วอาจไม่ได้เห็นผลชัดเจนในช่วงแรก แต่อาการจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญ คือ ต้องกินยาต่อเนื่องตามที่แพทย์แนะนำ หากมีผลข้างเคียง ควรรีบปรึกษาแพทย์ประจำตัว


• การทำจิตบำบัด
มีประโยชน์ต่อการรักษาในหลายๆ คนที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง ซึ่งช่วยให้ปรับเปลี่ยน ความคิดต่อตัวเองและสิ่งรอบข้างและช่วยพัฒนาทักษะด้านต่างๆ เช่น
o การแสดงความคิดหรือความรู้สึกอย่างมีประสิทธิภาพ
o การจัดการอารมณ์ตัวเอง
o การปรับตัวเมื่อเจอกับความท้าทายหรือสถานการณ์วิกฤต
o การพัฒนาทักษะทางสังคม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
o การระบุความคิด พฤติกรรมและอารมณ์ทางลบที่ส่งผลต่ออาการของตัวเองได้
o การปรับความเชื่อในแง่ลบให้เป็นทางบวก
o เพิ่มความรู้สึกพึงพอใจในชีวิต
o ตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้

อาการของโรคซึมเศร้าเรื้อรังอาจต้องใช้ระยะเวลารักษาแบบระยะยาว อาการของโรคทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยล้า สิ้นหวัง ไม่มีคุณค่า ซึ่งเป็นความคิดและความรู้สึกทางลบที่ทำให้คุณอยากเลิกรักษา สิ่งสำคัญ คือ การตระหนักรู้ว่าความคิดและความรู้สึกทางลบที่เกิดขึ้นนี้มาจากอาการของโรคไม่ใช่ตัวตนของผู้ป่วย
อีกสิ่งสำคัญ คือ การเข้าร่วมการบำบัดรักษาตามแผนที่แพทย์วางไว้ การปรับเปลี่ยนกิจกรรมที่ทำจะส่งผลต่อการรักษาให้ดียิ่งขึ้น เช่น
• การออกกำลังกาย อย่างน้อย 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์
• การกินอาหารที่มีประโยชน์
• หลีกเลี่ยงสารเสพติดและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอลล์
• การทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ หรืองานอดิเรก


โรคซึมเศร้าเรื้อรัง

คนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรังจะช่วยเหลืออย่างไร
สิ่งสำคัญที่สุดที่สามารถช่วยผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้องรังได้ คือ การตระหนักและรับรู้ว่าเขาป่วยจริงๆ มันเป็นอาการของโรค เขาไม่ได้พยายามที่จะแกล้งทำ ปฏิบัติ หรือรู้สึกกับคนอื่นในทางลบ เขาอาจไม่มีปฏิกิริยากับการฟังข่าวดี หรือเรื่องที่น่ายินดี ควรให้กำลังใจสนับสนุนให้เขาไปปรึกษาจิตแพทย์ ติดตามการนัดหมายกับแพทย์ ดูแลให้เขากินยาและไปบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่อง


อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/dysthymia
https://www.healthline.com/health/dysthymia#outlook
https://www.nami.org/Blogs/NAMI-Blog/January-2018/Understanding-Dysthymia
https://www.webmd.com/depression/guide/chronic-depression-dysthymia
https://www.webmd.com/depression/depression-or-dysthymia






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม