ใครไม่เคยเศร้าบ้าง? คงไม่มี เพราะอารมณ์เศร้าเป็นอารมณ์ที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน และในแต่ละวันระดับอารมณ์ก็มีขึ้นๆ ลงๆ และมีหลายแบบเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลาตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบและการรับรู้ของแต่ละคน
“ซึมเศร้า” ทางการแพทย์ หรือ Clinical depression หมายถึง ภาวะซึมเศร้าที่มีมากกว่าอารมณ์เศร้า และเป็นพยาธิสภาพแบบหนึ่งที่พบได้ในหลายๆ
โรคทางจิตเวช โดยเฉพาะโรคทางอารมณ์ คือ โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder หรือ Depressive episode) และ โรคไบโพลาร์
(Bipolar disorder) โรคทางอายุรกรรมบางโรค สารยาบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการซึมเศร้าที่รุนแรงได้
โรคซึมเศร้าถือเป็นโรคทางด้านจิตเวชที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรมและปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อม
ปัจจัยทางชีวภาพหรือพันธุกรรม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมอง หรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่สำคัญ
ส่วนปัจจัยด้านจิตใจหรือสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่าปัจจัยทางอารมณ์ เป็นผลมาจากสถานการณ์ความตึงเครียดทางอารมณ์ เช่น หากเป็นภาวะซึมเศร้าในวัยเด็กอาจมีสาเหตุจากความตึงเครียดในครอบครัว
เหตุการณ์สะเทือนใจอย่างรุนแรง ภาวะซึมเศร้าในโรคประสาทซึ่งอาจพบร่องรอยว่าถูกบีบคั้นอย่างมากในวัยเด็ก แล้วปะทุออกมาในช่วงชีวิตภายหลัง
ภาวะซึมเศร้าเพราะความชราเกิดเพราะความสามารถในการปรับตัวลดน้อยลง มีชีวิตโดดเดี่ยว ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย หรือปัญหาที่เรียกกันว่าภาวะสะเทือนใจหลังเกษียณ
(สูญเสียคุณค่าในตน ไม่มีงาน มีความรู้สึกว่าไร้สมรรถภาพ)
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงภาวะซึมเศร้าจากปฏิกิริยาทางใจ เช่น อาการซึมเศร้าหลังจากคู่แต่งงานเสียชีวิต ตกงาน หย่าร้าง ภาวะซึมเศร้าเพราะสภาพจิตใจอ่อนล้า
เป็นการตอบสนอง ทางใจต่อสภาวะความเครียดเรื้อรัง เช่น ชีวิตสมรสมีปัญหาขัดแย้งไม่รู้จบ ความกดดันจากงานที่ต้องรับผิดชอบ การเปลี่ยนงาน
ภาระมากเกินไป ภาวะซึมเศร้าชนิดนี้มักเกิดในหญิงซึ่งต้องรับภาระทั้งในครอบครัวและทำงานนอกบ้าน และในชายที่อยู่ในช่วงอายุ
50-60 ปี ซึ่งถูกกดดันจากการไม่อาจขึ้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพการงานของตนได้
แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและ ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (Depression and Risk of suicide)
คลิกที่นี่..
หากพบว่า มีอาการดังกล่าวอย่างน้อย 4 ข้อ ต้องพยายามระมัดระวังความคิด และพยายามดึงตัวเองออกมาจากภาวะนั้นให้ได้ พยายามเตือนตัวเองให้มีสติอยู่ตลอดเวลาว่าเรากำลังทำอะไรอยู่
คิดอะไรอยู่ที่ทำให้รู้สึกไม่ดีหรือเปล่า หากรู้ตัวว่าไม่สามารถหยุดความคิดได้ หรือยิ่งรู้สึกสิ้นหวังแบบรุนแรงจนรู้สึกหมดซึ่งหนทางที่อยากจะใช้ชีวิตต่อไป
ต้องรวบรวมกำลังใจเพื่อให้โอกาสตัวเอง โดยการหาทางระบายความคิดและความรู้สึกของตัวเองออกมา แต่การให้โอกาสที่ดีกับตัวเองต้องพยายามเปิดใจหาผู้ที่ท่านมั่นใจว่าช่วยเหลือท่านได้จริงๆ
หรือปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อความปลอดภัยจากภาวะซึมเศร้าที่เป็นอยู่ ณ ขณะนั้นให้ได้
รักษา
การรักษาโรคซึมเศร้า มีทั้งรักษาด้วยการใช้ยาและไม่ใช้ยา ซึ่งในบางคนอาจต้องใช้หลายวิธีร่วมกัน ขึ้นกับอาการและความรุนแรงของโรค โดยมีวิธีการรักษาดังนี้
1. การรักษาด้วยจิตบำบัด เป็นวิธีการรักษาซึ่งตั้งอยู่บนรากฐานของทฤษฎีทางจิตวิทยา เป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดีในการลดอาการซึมเศร้าวิธีหนึ่ง การทำจิตบำบัดมีหลายรูปแบบ ได้แก่ จิตบำบัดแบบประคับประคอง จิตบำบัดแบบมุ่งเน้นการปรับความคิดความเข้าใจ จิตบำบัดแบบพฤติกรรมบำบัด ทั้งนี้ ผู้บำบัดจะพิจารณารูปแบบของการบำบัดตามความเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย
2. การรักษาด้วย dTMS สมองของผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าจะมีการปล่อยและรับสารเคมีที่ผิดไปจากปกติ การรักษาด้วย dTMS (deep Transcranial Magnetic Stimulation) เป็นการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นสมองในตำแหน่งที่ต้องการ คล้ายการออกฤทธิ์ของยา เหนี่ยวนำให้การปล่อยประจุไฟฟ้าเข้าไปปรับสมดุลทุกส่วนที่เชื่อมโยงกับสมองส่วนที่กระตุ้น ช่วยให้สารเคมีในสมองกลับมาทำงานเป็นปกติ
3. การรักษาด้วยการใช้ยา ในการใช้ยารักษาอาจมีอาการข้างเคียงเกิดขึ้นได้ ดังนี้
• ยากลุ่ม Tricyclics อาการข้างเคียง คือ คอแห้ง ปากแห้ง ท้องผูก มึนงง ตาพร่า หน้ามืดเวลาเปลี่ยนท่า หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดจังหวะ ง่วงนอน
• ยากลุ่ม Tetracyclics group อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง ง่วงนอนมาก
• ยากลุ่ม Triazolopyridines group อาการข้างเคียง คือ ง่วงนอนมาก มึนงง ความดันต่ำขณะเปลี่ยนท่าทำงาน ปวดหัว
• ยากลุ่ม NDRI อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง นอนไม่ค่อยหลับ คลื่นไส้ อาเจียน
• ยากลุ่ม SSRI group อาการข้างเคียง คือ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ท้องเสีย อาจมีอาการนอนไม่หลับและความต้องการทางเพศลดลง
• ยากลุ่ม SNRI Group อาการข้างเคียง คือ ปากแห้ง คอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน นอนไม่หลับ และความต้องการทางเพศลดลง
อาการข้างเคียงของยาที่มาจากสารสื่อประสาท Serotonin มีปริมาณสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการ Serotonergic Effect กล้ามเนื้อกระตุก สั่น
สามารถลดอาการดังกล่าวได้โดยใช้ยาแก้แพ้ร่วมด้วยหรือหยุดยา ซึ่งอาการจะหายไปเองภายใน 24 ชั่วโมง
ขั้นตอนการรักษาทั้งหมดจะมีจิตแพทย์เป็นผู้ประเมินอาการ เพื่อพิจารณายาที่จะใช้ในการรักษา โดยเริ่มในขนาดยาที่ต่ำก่อน แล้วนัดติดตามผลการรักษา ก่อนปรับขนาดยาขึ้นทุกๆ 1-2 สัปดาห์ จนเห็นผลการรักษาที่ดี
การกินยาไม่ใช่จะดีขึ้นทันทีที่กิน แต่ต้องมาพบจิตแพทย์เพื่อประเมินผลการรักษา เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้น อาจต้องกินยาต่อเนื่องอีก 4-6 เดือน แล้วจึงค่อยลดขนาดยาลงจนหยุดยาได้ เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้ง
การดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า
1. อย่าตั้งเป้าหมายในการทำงาน การปฏิบัติตัวที่ยากเกินไป หรือรับผิดชอบมากเกินไป
2. แยกแยะปัญหาใหญ่ๆ ให้เป็นส่วนย่อยๆ พร้อมทั้งจัดเรียงความสำคัญก่อนหลังและลงมือทำเท่าที่สามารถทำได้
3. อย่าพยายามบังคับตนเอง หรือตั้งเป้ากับตนเองให้สูงเกินไป เพราะอาจไปเพิ่มความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง
4. พยายามทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับบุคคลอื่นดีกว่าอยู่เพียงลำพัง
5. เลือกทำกิจกรรมที่สร้างความรู้สึกที่ดีขึ้น หรือเพลิดเพลินและไม่หนักเกินไป เช่น การชมภาพยนตร์ การออกกำลังกายเบาๆ การร่วมทำกิจกรรมทางสังคม
6. อย่าตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญต่อชีวิตมากๆ เช่น การลาออกจากงาน การแต่งงาน หรือการหย่าร้าง โดยไม่ได้ปรึกษาผู้ใกล้ชิดที่รู้จักผู้ป่วยดี
และต้องเป็นบุคคลที่สามารถพิจารณาเหตุการณ์นั้นอย่างเที่ยงตรง มีความเป็นกลาง และปราศจากอคติที่เกิดจากอารมณ์มาบดบัง
ถ้าเป็นไปได้และที่ดีที่สุดคือ เลื่อนการตัดสินใจออกไปจนกว่าภาวะโรคซึมเศร้าจะหายไปหรือดีขึ้นมากแล้ว
7. ไม่ควรตำหนิหรือลงโทษตนเองที่ไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ เพราะไม่ใช่ความผิดของผู้ป่วย ควรทำเท่าที่ตนเองทำได้
8. อย่ายอมรับว่าความคิดในแง่ร้ายที่เกิดขึ้นในภาวะซึมเศร้าเป็นส่วนหนึ่งที่แท้จริงของตนเอง เพราะโดยแท้จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของโรคหรือความเจ็บป่วย
และสามารถหายไปได้เมื่อรักษา
9. ในขณะที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ากลายเป็นคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นก็อาจมีบุคคลรอบตัวๆ ที่ไม่เข้าใจในความเจ็บป่วยของผู้ป่วย
และอาจสนองตอบในทางตรงกันข้ามกลายเป็นการซ้ำเติมโดยไม่ได้ตั้งใจ
การดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
1. เข้าใจ การเข้าใจโรคที่ผู้ป่วยเป็น สามารถช่วยให้ญาติลดความคาดหวัง ความหงุดหงิด และความคับข้องใจในตัวผู้ป่วยได้
2. รับฟังแบบ deep listening การฟังผู้ป่วยด้วยความเข้าใจ ใส่ใจ และไม่ตัดสิน จะช่วยให้ความรู้สึกของผู้ป่วยดีขึ้น
3. ระบายความรู้สึก เมื่อผู้ป่วยได้ระบายความคิด ความรู้สึกที่ไม่ดีต่างๆ ออกมา โดยเฉพาะความคิดอยากฆ่าตัวตาย จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดในใจลงได้
4. ออกกำลังกาย การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายของผู้ป่วยแข็งแรง จิตใจแจ่มใส หากได้ออกกำลังกายร่วมกับผู้อื่นจะยิ่งช่วยเพิ่มการเข้าสังคม ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
5. เปลี่ยนบรรยากาศ ควรพาผู้ป่วยไปเที่ยวเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ จะช่วยให้จิตใจของผู้ป่วยแจ่มใส สดชื่นขึ้นได้อีกทาง
6. ป้องกันทำร้ายตนเอง ญาติต้องระวังผู้ป่วยทำร้ายตนเอง โดยเก็บอุปกรณ์ที่ผู้ป่วยสามารถนำมา ทำร้ายตนเองให้ออกห่างผู้ป่วย
7. สังเกตอาการ หมั่นสังเกตอาการผู้ป่วยว่ามีเรื่องเศร้า เครียด หรือคิดทำร้ายตนเองหรือไม่ ถ้าพูดคุยแล้วไม่ดีขึ้น ควรพามาพบแพทย์เพื่อปรึกษาอาการ
8. ดูแลกิจวัตร ติดตามการกินยา ญาติควรช่วยดูแลกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วย เช่น กินอาหารให้เหมาะสม ตื่นและนอนให้เป็นเวลา รวมถึงติดตามการกินยาให้เป็นไปตามที่แพทย์สั่งและอดทนเพราะการรักษาให้เห็นผลต้องใช้เวลา