โรคซึมเศร้า... ภัยเงียบของผู้ชาย


ผศ.นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล
ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

คุณรู้ไหมว่า คนไทยมีการฆ่าตัวตายสำเร็จเฉลี่ย 2 ชั่วโมง 1 คน โดยผู้หญิงทำร้ายตนเองหรือลงมือฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย แต่ผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จมักเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง การศึกษาทางสถิติก็พบว่าผู้ชายฆ่าตัวตายสำเร็จมากกว่าผู้หญิง 3-4 เท่า เกิดมากในช่วงอายุ 20-30 ปี และสูงขึ้นอีกในช่วงหลังเกษียณ


โรคซึมเศร้า ปัจจัยสู่การฆ่าตัวตาย

นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่ของผู้ที่ลงมือทำร้ายตนเองตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าที่อาจรุนแรงจนเป็นโรคซึมเศร้า บางคนเรียกโรคอารมณ์ตก คืออารมณ์ด้านดีพวกแจ่มใสร่าเริงเบิกบานสนุกสนานลดลงถึงหายไป ความสนใจ ความเชื่อมั่นตกต่ำลง อารมณ์กลายเป็นเบื่อ เซ็ง หดหู่ ไม่สดชื่นร่าเริง ไม่มีอารมณ์สนุกสนานเหมือนเก่า


“การตกลงเหมือนตกลงไปในหลุมดำ มองไปรอบตัวก็มีแต่สีเทาทึมๆ ไม่สามารถหลุดออกจากอารมณ์ซึมเศร้าที่ครอบงำอยู่ได้ เป็นอยู่นาน ซึ่งสะท้อนว่าการทำงานของร่างกายและสารสื่อประสาทในสมองได้เปลี่ยนแปลงไปจนยากที่จะกลับมาดีได้เอง ทั้งนี้แม้โรคซึมเศร้าจะสร้างความไม่สบายความทุกข์ให้กับผู้ที่ต้องเผชิญอย่างมาก แต่สามารถรักษาจนถึงระดับหายจากตัวโรคได้ แต่ก็ยังมีโอกาสกลับมาเป็นใหม่”

นพ.สุรชัย กล่าวอีกว่า โรคซึมเศร้าเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 2 เท่า แต่ผู้ชายที่เผชิญกับโรคนี้มองข้ามอารมณ์ตนเองและไม่พยายามปรึกษาผู้อื่นด้วยคาดหวังจากสังคมว่าผู้ชายต้องเข้มแข็ง กล้าแสดงออก เป็นผู้นำ ต้องมั่นใจในตนเอง พึ่งพาตนเองได้ ต้องเก็บความรู้สึกและไม่แสดงออกหากมีปัญหา ทำให้ผู้ชายมักไม่พูดว่าตนเองกำลังเผชิญเหตุการณ์อะไรบ้าง

“ความคาดหวังของสังคมเป็นตัวกดดันผู้ชายให้ไม่แสดงอารมณ์เศร้า พยายามเก็บความรู้สึกและพยายามต่อสู้ด้วยตนเอง ทำให้คนรอบข้างดูไม่ออก และอาจยื่นมือเข้าช่วยเหลือไม่ทันเวลา นอกจากนั้นความคาดหวังของสังคมยังเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ชายไม่เข้ารับการรักษาที่ถูกต้องหรือช้าเกินไป” นพ.สุรชัย พูดถึงภัยเงียบของโรคซึมเศร้าในผู้ชาย


"เขาเศร้ากับเธอเศร้าไม่เหมือนกัน"

ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ กล่าวต่อว่า ทั้งชายและหญิงที่เผชิญกับโรคซึมเศร้าจะมีอาการทั้งทางด้านอารมณ์และอาการทางกายหลายๆ อย่าง สามารถประเมินความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าจากอาการด้วยตนเองได้ที่

แบบคัดกรองภาวะซึมเศร้าและ ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย (Depression and Risk of suicide) คลิกที่นี่..


ถ้าคะแนนรวม
น้อยกว่า 7 ไม่มีภาวะซึมเศร้า
7-12 มีภาวะซึมเศร้าระดับน้อย
13-18 มีภาวะซึมเศร้าระดับปานกลาง
≥ 19 มีภาวะซึมเศร้าระดับรุนแรง



ซึมเศร้าในผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม มีลักษณะบางอย่างที่ต่างกันระหว่างเพศชายและเพศหญิงที่ควรสังเกตเพื่อไม่ให้คนใกล้ตัวเราต้องเผชิญกับภาวะโรคซึมเศร้าเพียงลำพัง ดังนี้


เหตุการณ์ความเครียดที่สัมพันธ์กับโรคซึมเศร้าในเพศหญิงมักเป็นปัญหาในการสมรส การหย่าร้าง การขาดที่พึ่งพา แต่ในเพศชายมักเป็นเรื่องเศรษฐกิจ
การเงิน การทำงาน และการใช้สารยาเสพติด ทำให้ผู้ชายที่มีโรคซึมเศร้ามักเข้าใจและถูกมองเพียงแค่เครียดเพราะงาน หรือมีปัญหาหนี้สิน
ผู้ชายมักแสดงออกอารมณ์ไปในรูปอาการทางกาย เช่น ปวดหัว อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ความรู้สึกทางเพศลดลง
อาจทำให้ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น “วัยทองในเพศชาย” ผู้ชายที่ซึมเศร้าอาจพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความรู้สึกของตนเอง ด้วยการหันไปทุ่มเทกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ
การโหมเล่นกีฬาหนักๆ การเล่นกีฬาหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงและอันตราย หันไปดื่มสุราและใช้สารเสพติด ซึ่งการเบี่ยงเบนนี้ช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว
ผู้ชายที่มีโรคซึมเศร้าอาจแสดงอารมณ์ออกมาในทางหงุดหงิด โมโหหรือเดือดดาลง่าย บางครั้งอาจรุนแรงมากเกินไปและขาดเหตุอันควร



ซึมเศร้าในผู้ชาย

นพ.สุรชัย ฝากเตือนว่า การสังเกตการเปลี่ยนไปของอารมณ์และพฤติกรรมของคนรอบข้างอาจช่วยนำเขาเข้าสู่ขบวนการช่วยเหลือหรือรักษาแต่เนิ่นๆ การเข้าใจ การรับฟังแบบยอมรับ การให้คำแนะนำที่เหมาะกับสถานการณ์ การเอาใจใส่ของคนใกล้ชิดจะช่วยประคับประคองให้ผู้มีโรคซึมเศร้าสู้และดำเนินชีวิตต่อไปได้


ที่มา : นสพ.โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 3 กันยายน 2558 โดย นพ.สุรชัย เกื้อศิริกุล ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์ โรคแพนิค