โรคแพนิก - โรคตื่นตระหนก (Panic disorder)


จิตแพทย์และทีมสหวิชาชีพ
ที่ปรึกษาฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

แพนิกคืออะไร

“โรคตื่นตระหนก” มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษที่หลายคนคงเคยได้ยินบ่อยๆ ว่า “โรคแพนิก” (Panic Disorder) เป็นโรควิตกกังวลชนิดหนึ่งที่มีความวิตกกังวลสุดขีด หรือมีความกลัว ความอึดอัด ไม่สบายอย่างรุนแรง เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและถึงขีดสูงสุดในเวลา 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง อาการมักหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการหายผู้ป่วยมักเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการแพนิก ผู้ป่วยจะกลัวว่าจะเป็นอีก ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเองโดยไม่มีปัจจัยกระตุ้น พบบ่อยในวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ทำให้ความสามารถในการประกอบอาชีพลดลง และความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ตึงเครียดมากขึ้น ผู้ป่วยมักคิดว่าตนเองเป็นโรคหัวใจหรือ โรคร้ายแรง เวียนไปพบแพทย์บ่อยๆ ซึ่งการตรวจร่างกายและการทดสอบพิเศษจะไม่พบความผิดปกติ ทำให้ยิ่งกังวลไปกันใหญ่ สรุปแล้ว ฉันเป็นอะไรกันแน่?


ลักษณะอาการแพนิก

สารพัดอาการของโรคแพนิกที่เห็นได้ชัด และดูใกล้เคียงกับโรคหัวใจจนหลายคนมักเข้าใจผิด ได้แก่ ใจสั่น ใจเต้นเร็ว ลั่นเหมือนตีกลอง เหงื่อแตก ตัวสั่น หายใจติดขัด หายใจไม่อิ่ม รู้สึกอึดอัด หรือสำลักเหมือนมีก้อนจุกที่คอ เจ็บหรือแน่นหน้าอก คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง มึนงง วิงเวียน รู้สึกโคลงเคลง หรือเป็นลม ชามือหรือซ่าตามปลายเท้า หนาวสั่น ร้อนวูบวาบ อ่อนเพลีย หรือแม้กระทั่งรู้สึกว่าส่วนต่างๆ ในร่างกายของตัวเองหรือสิ่งแวดล้อมนั้นเปลี่ยนไป ไม่เหมือนจริง กังวลมากจนถึงขั้นกลัวจะควบคุมตัวเองไม่ได้ รวมถึงกลัวจะเป็นบ้า กลัวว่าจะตาย



อาการข้างต้นนั้นสามารถเกิดที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคาดเดาได้ยาก แต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกต และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงและรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง



Panic disorder


แบบประเมินและวิเคราะห์โรคตื่นตระหนก (Panic Disorder) https://www.manarom.com/test/panic_disorder_thai.html


สาเหตุของโรคแพนิก

Panic disorder

สาเหตุของโรคแพนิก เชื่อว่ามีปัจจัยหลายประการที่อาจประกอบกันทำให้เกิดอาการ เช่น
1. ทางด้านร่างกาย มีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนควบคุมความกลัว “Fear” ซึ่งเป็นความผิดปกติของสารสื่อนำประสาทบางอย่าง
2. ทางกรรมพันธุ์ โรคนี้อาจพบได้ในครอบครัวเดียวกัน
3. ทางด้านจิตใจ เช่น ความตึงเครียดในชีวิต ได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง
4. โรคทางอายุรกรรม หรือสารยาบางตัว
โดยในบางรายอาจไม่มีสิ่งกระตุ้นเหล่านี้เลย และถึงแม้ว่าสิ่งกระตุ้นได้หมดไปแล้วก็ตาม แต่ผู้ป่วยก็ยังคงมีอาการจู่โจมเกิดขึ้นต่อไป


การรักษาแพนิก

โรคแพนิกสามารถรักษาให้หายได้และไม่อันตรายถึงชีวิต ปัจจุบันวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ คือ การรักษาด้วยยา ซึ่งควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ถึงแม้ว่าอาการดีขึ้นแล้ว แต่ไม่ควรหยุดยาทันที เพราะจะเกิดอาการของการหยุดยาหรือมีอาการเก่ากำเริบ อีกวิธีหนึ่ง คือ การดูแลทางด้านจิตใจ ซึ่งเป็นการรักษาแบบ Cognitive Behavioral Therapy (CBT) โดยการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการแพนิกร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่น การฝึกผ่อนคลาย การฝึกหายใจ และการเผชิญกับสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกกลัว ร่างกายจะค่อยๆ ปรับตัว อาการต่างๆ จะดีขึ้น และหายไปเอง


Panic disorder


• การรักษาด้วยยา
ยารักษากลุ่มอาการตื่นตระหนกแบ่งตามการออกฤทธิ์ได้ ดังนี้
1. ยากลุ่มออกฤทธิ์เร็ว
ยากลุ่มนี้ควบคุมอาการของโรคได้เร็ว แต่หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้ดื้อยา แพทย์จึงมักให้ยากลุ่มนี้ในระยะแรกหรือให้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อควบคุมอาการ เช่น ยากลุ่มช่วยคลายเครียดและนอนหลับ (Benzodiazepines)

2. ยากลุ่มออกฤทธิ์ช้า
ยากลุ่มนี้เป็นยาที่ต้องใช้ระยะเวลาในการออกฤทธิ์ เนื่องจากยาไปเปลี่ยนแปลงระดับสารสื่อประสาทในสมอง ผู้ป่วยจึงต้องรับประทานยาติดต่อกันอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นผล ยา กลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยาเหมือนยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น ยากลุ่มต้านเศร้า (Anti-depressants)


แพทย์มักพิจารณาให้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็วและออกฤทธิ์ช้าร่วมกันในระยะแรก จนเมื่อเริ่มเห็นผลการรักษาของยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ช้า จึงพิจารณาปรับลดหรือหยุดยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้ยาครั้งแรกอาจต้องทำการรักษาต่อเนื่อง 8-12 เดือน แพทย์จึงพิจารณาหยุดยา ดังนั้น ผู้เข้ารับการรักษาควรรับประทานยาต่อเนื่องตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด



โดยทั่วไปประสิทธิภาพในการรักษาภาวะตื่นตระหนกของยาแต่ละชนิดในกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ช้านั้น ไม่แตกต่างกัน การเลือกใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละรายจึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติทางเภสัชวิทยา อาการข้างเคียง ประวัติการรักษา ภาวะทางจิตเวชอื่นๆ โรคประจำตัว ยาอื่นที่ใช้ร่วม รวมถึง ความเหมาะสมด้านราคา


อาการข้างเคียงที่อาจพบได้ของยาแต่ละกลุ่ม ได้แก่ อาการง่วงซึม วิงเวียน แขนขาอ่อนแรง เดินเซ ในยากลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว และอาจพบอาการปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูก ตาพร่ามัว วิงเวียนศีรษะ ง่วงนอน คลื่นไส้ นอนไม่หลับ กระวนกระวาย ปัสสาวะลำบาก ปัญหาระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ในผู้ที่ใช้ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ช้า โดยอาจเกิดในช่วงแรกที่เริ่มยาและดีขึ้นเมื่อรับประทานยาต่อเนื่องไประยะหนึ่ง


การใช้ยารักษาในผู้ที่มีอาการตื่นตระหนกมีความสำคัญ หากแพทย์พิจารณาให้การรักษาโดยการใช้ยา ผู้เข้ารับการรักษาควรปฏิบัติตนและรับประทานยาตามแพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด มาพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ควบคุมอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำได้


• การดูแลทางด้านจิตใจ

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy – CBT) ช่วยให้ผู้ป่วยเรียนรู้ว่า อาการแพนิกที่เกิดขึ้นไม่เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตเหมือนที่ผู้ป่วยมักกลัว รวมถึงเรียนรู้การปรับเปลี่ยนความคิดในแง่ลบ ฝึกการตอบสนองต่อความรู้สึกหวาดกลัวหรืออาการตื่นตระหนกที่เกิดขึ้น ฝึกการผ่อนคลายและการจัดการกับความวิตกกังวลอย่างเหมาะสม


• การฝึกการหายใจ

โดยทั่วไป ถ้าสามารถควบคุมการหายใจได้อาการแพนิกก็จะดีขึ้น ดังนั้น ควรฝึกการหายใจ (Breathing Exercise) อย่างสม่ำเสมอ และใช้เวลาในการฝึกอย่างน้อยครั้งละ 10-15 นาที ตามขั้นตอนดังต่อไปนี้


o นอนหงายตามสบายบนเตียงหรือพื้นที่ในบริเวณที่สงบ ปิดตา ทำจิตใจให้สบายๆ
o มือทั้งสองประสานวางอยู่บนหน้าท้อง ไม่เกร็ง ผ่อนคลายกล้ามเนื้ออกและหัวไหล่ ให้ทุกส่วนของร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย
o สูดลมหายใจเข้าช้าๆ รับรู้การเคลื่อนไหวของลมหายใจผ่านรูจมูกเข้าไปลึกจนหน้าท้องขยายขึ้น รู้สึกได้จากการที่มือทั้งสองถูกยกขึ้นช้าๆ
o เมื่อหายใจเข้าเต็มที่แล้ว เก็บลมหายใจ ไว้ชั่วครู่
o ผ่อนลมหายใจออกยาวๆ รับรู้การเคลื่อนไหวของลมหายใจออกผ่านรูจมูกจนหน้าท้องแฟบลง มือทั้งสองลดต่ำลง
o เมื่อชำนาญ อาจนั่งพิงเก้าอี้ตามสบาย มือทั้งสองประสานไว้ที่หน้าขาหรือหน้าท้อง แล้วทำตามขั้นตอนเหมือนท่านอนหงาย


• การฝึกหายใจแบบ 4-7-8

โดย Dr. Andrew Weil จัดทำโดย ดร.อภันตรี สาขากร ลองศึกษาและฝึกปฏิบัติได้ที่นี่





• ปรับพฤติกรรมเพื่อการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม


o พักผ่อนให้เพียงพอและมีสุขลักษณะการนอนที่ดี
o หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติดและกลุ่มยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นให้เกิดอาการใจสั่น เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการแพนิกได้
o ลดหรืองด เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม
o ออกกำลังกายพอเหมาะสม ตามความสามารถ


Panic disorder


• ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ
การได้ปรึกษาหรือระบายปัญหาต่างๆ กับคนที่ไว้ใจ หรือจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต เช่น นักจิตวิทยาคลินิก นักจิตบำบัด ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยได้มากในการรักษาโรคแพนิก

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง อาจส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันได้ โดยในเด็กอาจมีผลต่อพัฒนาการ การเรียน การเข้าสังคม ส่วนวัยผู้ใหญ่อาจไปทำงานไม่ได้ตามปกติเพราะต้องหยุดงานบ่อยๆ หรืออาจเลี่ยงไม่ทำสิ่งต่างๆ ถ้าสิ่งนั้นทำให้เกิดอาการแพนิก อีกทั้งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ เช่น มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดสารเสพติด แอลกอฮอล์ เป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวล ซึ่งเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากกว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ารายอื่นๆ



การปฐมพยาบาลผู้มีภาวะแพนิก*


เมื่อพบเห็นผู้ที่มีอาการตื่นตระหนกหรือแพนิก ใครๆ ก็สามารถให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ ที่เรียกว่า “ALGEE” ดังนี้


Panic disorder


A (Aware and Assess) ตั้งสติ ประเมินสถานการณ์
การช่วยเหลือผู้มีภาวะแพนิก จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ช่วยเหลือต้องตั้งสติให้ได้ก่อนและต้องมีอารมณ์ที่มั่นคง เพราะจะส่งผลให้ผู้ที่กำลังเกิดอาการแพนิกรู้สึกปลอดภัยและเชื่อมั่นในตัวผู้ช่วยเหลือ จากนั้นผู้ช่วยเหลือควรประเมินว่าเขาเคยมีอาการเช่นนี้มาก่อนหรือไม่ ถ้าเคย ควรถามตรงๆ ว่าเขาต้องการให้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง อะไรที่ช่วยให้เขาทุเลาลง ผู้ช่วยเหลือควรพาเขาออกจากสิ่งแวดล้อมที่มีผู้คนพลุกพล่านไปนั่งในบริเวณที่สงบ ลองเสนอให้เขาดื่มน้ำสักเล็กน้อยอาจช่วยให้ผ่อนคลายลงและอาการลดลง
L (Listen non-judgmentally) รับฟังโดยไม่ตัดสิน
แม้ผู้ช่วยเหลือรู้ดีว่าอาการแพนิกไม่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตแน่นอน ในขณะที่ผู้ป่วยแพนิกที่หวาดกลัวอย่างมากว่าตนใกล้จะตาย ผู้ช่วยเหลือก็ควรรับฟังสิ่งที่เขาพูดด้วยท่าทีใส่ใจ หลีกเลี่ยงคำพูดที่เป็นการดูถูกหรือตัดสินเขา เช่น “แค่เครียด..ไม่ตายหรอกน่า” หรือ “สงบสติอารมณ์บ้างสิ”
G (Give reassurance) ให้ความมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัย
เช่น พูดว่า “คุณจะไม่เป็นไรค่ะ เดี๋ยวมันก็ผ่านไป” ถ้าผู้ช่วยเหลือไม่รู้จะพูดอะไรก็ไม่จำเป็นต้องพูด เพียงนั่งอยู่กับเขาจนผ่านพ้นภาวะแพนิกก็เพียงพอแล้ว
E (Encourage slow breathing) แนะนำให้เขาหายใจช้าลง
โดยหายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปากช้าๆ ในลักษณะห่อปากเพื่อเก็บกักคาร์บอนไดออกไซด์ให้นานขึ้น (เนื่องจากผู้มีภาวะแพนิกมักหายใจเร็วและตื้น ทำให้ได้รับออกซิเจนมากเกินไปจึงต้องทำให้ร่างกายเกิดภาวะสมดุลโดยการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์) ผู้ช่วยเหลืออาจใช้วิธีนำจังหวะการหายใจ เช่น ยกมือขึ้นเพื่อนำการหายใจเข้าและเอามือลงเพื่อนำการหายใจออก พร้อมให้กำลังใจเป็นระยะว่าเขาทำได้ดีแล้ว การหายใจในถุงกระดาษอาจยิ่งส่งผลเสียสำหรับบางคน เช่น คนที่เป็นโรคหอบหืด โรคหัวใจ หรือบางคนอาจพึ่งพาถุงกระดาษจนกลายเป็น วิตกกังวลมากกว่าเดิม
E (Encourage professional help) แนะนำให้เขาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
ในกรณีที่เขามีอาการครั้งแรกหรือไม่เคยพบแพทย์มาก่อน ควรแนะนำให้เขาพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง บางคนมีอาการแพนิกมากกว่า 1 ครั้ง แต่ไม่ต้องการพบแพทย์เพราะกลัวถูกตีตราว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจากอาการแพนิกเกิดขึ้นได้กับทุกคนแม้ในคนปกติ
การปฐมพยาบาลผู้มีภาวะแพนิกนั้นไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป เพียงปฏิบัติตามขั้นตอนง่ายๆ ที่เรียกว่า “ALGEE” ข้างต้นนี้ ก็สามารถช่วยเหลือให้ผู้ที่มีอาการแพนิกอาการทุเลาลงได้ อาการข้างต้นนั้นสามารถเกิดที่ไหนหรือเมื่อไหร่ก็ได้ ซึ่งคาดเดาได้ยาก แต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกต และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ เพื่อที่จะได้หลีกเลี่ยงและรู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง



เทคนิคเลือก-เลี่ยงอาหารสำหรับโรคแพนิก**
มีการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็นโรคแพนิกมีความไวต่อสารอาหารบางชนิด ดังนั้นการเลือกรับประทานอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมีเทคนิคการหลีกเลี่ยงอาหารและอาหารที่ควรรับประทานสำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิกง่ายๆ ดังนี้
อาหารที่ผู้ป่วยโรคแพนิกควรหลีกเลี่ยง
1. กาเฟอีน
โดยปกติกาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้น ในผู้ที่เป็นโรคแพนิกหากบริโภคกาเฟอีนอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เป็นโรคแพนิกมีอาการกำเริบขึ้นได้ เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน ได้แก่ กาแฟ ชา น้ำอัดลม เป็นต้น
2. แอลกอฮอลล์
การดื่มแอลกอฮอล์เพื่อให้เกิดการผ่อนคลาย แต่แอลกอฮอล์อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล หงุดหงิดเพิ่มขึ้นได้
3. โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG)
โมโนโซเดียมกลูตาเมต (MSG) หรือผงชูรส สามารถกระตุ้นอาการผู้ที่เป็นโรคแพนิกในบางรายได้ เป็นสารปรุงแต่งกลิ่นรสที่นิยมเติมลงในอาหารเอเชีย เช่น ซุป เนื้อสัตว์ อาหารแช่แข็ง เป็นต้น
4. อาหารน้ำตาลสูง
อาหารที่มีน้ำตาลในปริมาณสูงอาจส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียหลังจากรับประทาน เนื่องจากอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลสูงจะไปเพิ่มน้ำตาลในเลือด ร่างกายจึงต้องปล่อยอินซูลินออกมาเพื่อปรับระดับน้ำตาลให้ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว กลายเป็นภาวะน้ำตาลต่ำ ทำให้รู้สึกอ่อนเพลีย และกระตุ้นทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงในที่สุด



Panic disorder

เทคนิคการเลือกรับประทานอาหารสำหรับผู้ที่เป็นโรคแพนิก
1. กินอาหารให้มีความสมดุลของ น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน เพื่อการทำงานที่ทำให้มีสุขภาพดี
2. กินอาหารที่อุดมด้วยสังกะสี เช่น ธัญพืช หอยนางรม ผักคะน้า บรอกโคลี ถั่ว พืชตระกูลถั่ว
3. กินอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม เช่น ปลา อะโวคาโด ผักใบเขียวเข้ม
4. กินอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ อะโวคาโด
5. กินอาหารที่อุดมด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 เช่น ปลาแซลมอน ปลาแมกเคอเรล ปลาซาร์ดีน ถั่วเหลือง
6. กินอาหารที่อุดมด้วยโปรไบโอติก เช่น โยเกิร์ต นมเปรี้ยว
การเลือกรับประทานอาหารของผู้ที่เป็นโรคแพนิก คือ การลดหรือเลิกการรับประทานอาหารที่เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ และเลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง นอกจากจะลดการเกิดโรคได้แล้ว ยังได้สุขภาพที่ดีอีกด้วย




Panic disorder


โรคแพนิก กับ โรควิตกกังวล เหมือนหรือต่างกันหรือไม่? อย่างไร?

จริงๆ แล้ว “โรคแพนิก” หรือ โรคตื่นตระหนก เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มโรควิตกกังวล ซึ่งประกอบด้วยโรคต่างๆ ได้แก่ โรควิตกกังวลทั่วไป โรคกลัวที่แคบ โรคกลัวสังคม โรคกลัวสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างรุนแรง โรควิตกกังวลต่อการแยกจาก ภาวะไม่พูดในบางสถานการณ์ โรคแพนิก และโรควิตกกังวลจากภาวะทางกายหรือจากสารต่างๆ

สิ่งที่เหมือนกัน คือ ทั้งสองโรคต่างเป็นโรคที่เกิดอาการวิตกกังวลร่วมกับมีอาการแสดงออกมาทางร่างกาย สิ่งที่แตกต่างกัน คือ โรคแพนิกมีอาการทางกายรุนแรง ทันทีทันใด จะหายเองใน 10-20 นาที แต่ก็เกิดขึ้นได้อีก มีอาการ เช่น หายใจเร็ว แน่นหน้าอก เหงื่อแตก ใจสั่น ตัวสั่น มือเท้าชา และไม่สามารถหาสาเหตุได้ชัดเจน หลังจากมีอาการมักกังวลว่าจะเป็นอีก ส่วนโรควิตกกังวลทั่วไป จะกังวลแทบทุกเรื่องราวในชีวิต จนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน มีอาการทางกาย ได้แก่ นอนหลับยาก อ่อนเพลีย ปวดตึงกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย มักเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะคิดว่าตนเองเป็นโรคแพนิกหรือโรควิตกกังวลทั่วไปหรือไม่นั้น หมออยากให้ได้รับการประเมินจากอายุรแพทย์ก่อนว่าอาการที่เป็นเกิดจากโรคทางกายหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคหัวใจ โรคไทรอยด์ โรคปอด หรือโรคทางสมองที่มีอาการใกล้เคียงกับทั้งสองโรค เมื่อแน่ใจว่าไม่ได้เกิดจากโรคทางกายแล้ว จึงควรมาปรึกษากับจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป



อ้างอิงข้อมูลจาก
* การปฐมพยาบาลผู้มีภาวะแพนิก
• Milligan, A. How to help someone who is having a panic attack. 2018

** เทคนิคเลือก-เลี่ยงอาหารสำหรับโรคแพนิก
• Sheryl Ankrom (Licensed clinical professional counselor). The Role Your Diet Might Be Playing in Your Panic Attacks. 2018
• Uma Naidoo, MD. Eating well to help manage anxiety: Your questions answered. 2018






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม