เป็นโรคซึมเศร้ามีความรักได้ไหม...ต้องทำอย่างไรเมื่อพบกับรักที่ผิดหวัง...


แพทย์หญิงวนัทดา ถมค้าพาณิชย์
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

หลายคนตั้งคำถามว่าเราเป็นโรคซึมเศร้าสามารถมีแฟนมีความรักได้ไหม หากมีเราควรบอกเขาไหม บอก เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วเขาจะรับได้ไหม เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร มาลองหาคำตอบกันดูค่ะ


สำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั้น ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าโรคซึมเศร้าเป็นภาวะหนึ่งที่มีการทำงานที่ผิดปกติไปของสมองซึ่งส่งผลต่ออารมณ์ ความคิด ร่างกาย และพฤติกรรม ระยะเวลาและความรุนแรงของโรคนั้นขึ้นกับปัจจัย ภายนอก (เช่น สิ่งที่เข้ามากระทบ ครอบครัว เป็นต้น) และปัจจัยภายใน (เช่น ปัจจัยทางชีวภาพ บุคลิกภาพ เป็นต้น)ของคนๆ นั้น ซึ่งหมายถึงว่าโรคซึมเศร้าเป็นเหมือนโรคอื่นๆ ที่เกิดขึ้นชั่วคราว และสามารถรักษาหายได้ การเป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้หมายถึงตัวตนของคนๆ นั้น แต่เป็นภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้นเอง คำถามที่ว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าสามารถมีแฟนได้ไหม ก็คล้ายกับคำถามที่ว่าคนเป็นโรคไมเกรนจะมีแฟนได้ไหม ต่างกันเพียงแต่ว่าการปรับตัวเข้ากับแฟนที่มีโรคประจำตัวที่แตกต่างกันอาจจะต้องมีประเด็นที่มุ่งความสำคัญต่างกัน โดยเฉพาะโรคซึมเศร้านั้น หากคนอยู่ด้วยขาดความเข้าใจอาจทำให้ความสัมพันธ์เกิดรอยร้าวได้



โรคซึมเศร้ามีความรัก

เมื่อคุณมีภาวะซึมเศร้า การเปิดใจกับคนที่เรารักสามารถช่วยเหลือเยียวยาจิตใจได้ แต่ก็คงไม่ง่าย หากคุณเพิ่งเริ่มคบหาดูใจกัน อย่างไรก็ตามการไม่บอกอะไรเลยอาจทำให้ผู้ที่เรากำลังคบหาอยู่นั้น เข้าใจผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าผิดได้ในหลายๆ กรณี และไม่สามารถช่วยเหลือดูแลประคับประคองในยามที่จำเป็นได้ อุปสรรคสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในการบอกคนที่คุณคุยด้วยหรือคนที่คุณรัก คือ ความเข้าใจผิดแบบดั้งเดิม ที่ว่าโรคซึมเศร้าเป็นเพียงความอ่อนแอของจิตใจและมักจะรู้สึกอับอายกับการที่ตนเองเป็นโรคนี้มากกว่าโรคทางกายอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลการศึกษาที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิมที่จะทำให้ความเข้าใจผิดเหล่านั้นค่อยๆ ลดน้อยลงไป


เวลาที่เหมาะสมในการเล่าเรื่องราวหรือประสบการณ์เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าให้กับคนที่คุณรักหรือคบหาฟังนั้น คงไม่มีเวลาไหนที่บอกว่าใช่เลย เวลาที่ดีที่สุด คือ เวลาที่คุณพร้อมที่สุดนั่นเอง การคาดเดาการตอบรับนั้น คุณสามารถสังเกตดูคนที่คุณกำลังคบหาอยู่ว่าเป็นคนอย่างไร โดยสังเกตเวลาที่เขาพูดถึงคนอื่น เช่น มีความเมตตา มีความเป็นผู้ใหญ่ มีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นหรือไม่ นอกจากนี้การที่คุณตัดสินใจบอกเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าของคุณกับคนที่คุณกำลังคบหาอยู่หรือไม่นั้น คุณเองอาจลองถามตัวเองดูว่าคุณรู้สึกจริงจังหรือมองเห็นอนาคตกับคนๆ นี้มากน้อยเพียงใด หากคุณกำลังคบหาคนที่ชอบตัดสินผู้อื่นอาจต้องระมัดระวังในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของคุณให้เขาฟัง คุณสามารถลองพิจารณาง่ายๆ จากการพูดคุย เล่าเรื่องราว ประสบการณ์อื่นๆ ที่เคยผ่านมาโดยเฉพาะเรื่องราวที่อ่อนไหว แล้วลองสังเกตดูว่าปฏิกิริยาตอบสนองของเขาเป็นเช่นใด หากตัวคุณดูแล้วว่าเขาคนนั้นมีขีดความสามารถในการรองรับเรื่องราวที่อ่อนไหวเหล่านี้ยังไม่ดีพอ คุณอาจต้องพิจารณาในการคบหาเขาในระยะยาวอีกครั้ง

โรคซึมเศร้ามีความรัก

การเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าของคุณไม่จำเป็นต้องทำในแบบที่เคร่งเครียดหรือเป็นทางการ เล่าเรื่อง ราวเหล่านั้นให้เสมือนว่าเป็นเรื่องราวหนึ่งในชีวิตคุณ ถ้าเป็นไปได้ การคุยกันในบรรยากาศดีๆ รู้สึกสบายๆ เช่น นั่งฟังเพลงอยู่บนโซฟาที่บ้านก็จะดีที่สุด และไม่ควรทำในกรณีที่อารมณ์ไม่ค่อยดี เช่น มีปัญหาหรือโกรธกัน ลองเล่าในสิ่งที่คุณมีประสบการณ์มากับโรคซึมเศร้า รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ที่อาจมีประโยชน์สำหรับความสัมพันธ์ เช่น ลักษณะของผู้ป่วยซึมเศร้า การช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นต้น


การบอกให้คนที่คุณคบหาดูใจเข้าใจเกี่ยวกับโรคซึมเศร้ามักเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ เนื่องจากหลาย ครั้งการตอบสนองของคุณโดยเฉพาะเวลาที่มีอารมณ์เศร้านั้น อาจแตกต่างจากปกติที่คุณเคยเป็น หรือแตกต่างจากความคาดหวังของอีกฝ่าย เช่น น้อยใจง่ายกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ การบอกให้อีกฝ่ายเข้าใจ รวมถึงการที่ตัวคุณเองพยายามสังเกตและจับอารมณ์ของตนเองจะทำให้อารมณ์เศร้าของคุณไม่แย่ลงกว่าเดิม อีกฝ่ายก็สามารถเข้าใจคุณได้มากขึ้น รวมถึงสามารถตอบสนองและช่วยเหลือคุณได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น



โรคซึมเศร้ามีความรัก


อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าเราจะพยายามอย่างดีที่สุดแล้ว ไม่ได้หมายความว่าการประคับประคองชีวิตคู่จะลงเอยด้วยดีเสมอไป การที่คนสองคนจะไปไม่ถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นเพราะการไม่เข้าใจกันหรือว่าเป็นเพราะอีกฝ่ายไม่ สามารถทำความเข้าใจและอยู่กับตัวโรคซึมเศร้าใดก็ตาม การบอกลานั้นก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การบอกลาไม่ว่าจะเป็นกับใครก็น่าจะตามมาด้วยความเจ็บปวดเสมอ แต่กระนั้นก็ตาม ถึงแม้ว่าจะยาก ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่สามารถก้าวผ่านความเจ็บปวดนั้นไปไม่ได้ กระบวนการที่จะพอช่วยให้คุณก้าวผ่านสิ่งเหล่านี้มาได้ ได้แก่



1. รู้สึกอย่างที่คุณรู้สึก ไม่ต้องพยายามเก็บความรู้สึกเอาไว้ หากอยากร้องไห้ก็สามารถร้องออกมาได้ หาทางระบายออกมา ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับเพื่อน หรือเขียนบันทึกก็สามารถช่วยแบ่งเบาความรู้สึกข้างในของคุณออกมาได้
2. พยายามอย่าอยู่คนเดียว การอยู่กับความคิดตัวเองในห้องเงียบๆ กับดนตรีเศร้าๆ ไม่ได้เป็นความคิดที่ดีนักในช่วงนี้ เพราะจะทำให้คุณจมอยู่กับความรู้สึกเศร้าและความคิดลบๆ การพยายามออกไปข้างนอก เจอแสงแดด และการออกกำลังกายเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยทำให้คุณไม่จมกับอารมณ์เศร้าและความคิดของตัวเองมากจนเกินไป
3. คิดถึงสิ่งดีๆ ในชีวิต เวลาที่เราเลิกกับใคร เรามักจะรู้สึกเหมือนสูญเสียทุกอย่างในชีวิตไป จนลืมสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต การเติมพลังของคุณด้วยการขอบคุณสิ่งดีงามต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของคุณจะสามารถช่วยเพิ่มพลังในทางบวกสำหรับคุณได้
4. ทำในสิ่งที่คุณรัก ช่วงที่คุณเศร้าอาจเป็นการยากในการพาตัวเองไปทำกิจกรรม แต่อย่างไรก็ตาม หากคุณสามารถทำได้ การทำกิจกรรมที่คุณชอบไม่ว่าจะเป็นการเล่นกีฬา ดูหนัง ฟังเพลง ก็จะช่วยเพิ่มพลังบวก ให้กับคุณได้เช่นกัน
5. การที่คุณเลิกกับใครไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของคุณนั้นลดลง หลังเลิกกันหลายคนอาจรู้สึกว่าเราไม่ดีพอ หรือเราไม่มีค่าพอหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเราเป็นฝ่ายถูกบอกเลิกไป จริงๆ แล้วคุณค่าที่แท้จริงของตัวคุณนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่ว่าคนๆ หนึ่งซึ่งเป็นคนอื่นมองคุณอย่างไร แต่อยู่ที่ความเป็นตัวตนของตัวคุณเอง เพราะฉะนั้น คนที่สำคัญที่สุดที่จะมองเห็นคุณค่าของตัวคุณนั้น ก็คือ ตัวคุณนั่นเอง ไม่ใช่คนอื่น เพราะการที่เราคบคนๆ หนึ่งไม่ได้หมายถึงว่าคนๆ นั้นมีค่าหรือดีเพียงอย่างเดียว แต่ประกอบไปด้วยหลายอย่างเข้าด้วยกันที่เหมาะและพอดีกับตัวเรา หลายครั้งคนที่ดีมากๆ มาชอบพอตัวเรา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะชอบเขาเพราะว่าเค้าดีเพียงอย่างเดียว ซึ่งการที่เราไม่ได้ชอบเขาก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้มีค่าเช่นกัน ในทำนองเดียวกัน หากคนที่เรากำลังเริ่มคบหรือคบอยู่ไปต่อกับเราไม่ได้ ก็ไม่ได้เป็นเพราะเราไม่มีค่าหรือไม่ดีพอ เป็นเพียงแค่ความรู้สึกและเหตุผลที่อาจไม่ได้พอดีกัน คุณค่าของตัวคุณนั้นก็ยังอยู่ที่เดิม อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ ถ้าเขาไม่รักเรา เราก็ต้องรักตัวเองให้มากๆ เพราะคุณเป็นคนที่สำคัญที่สุดสำหรับตัวคุณนั่นเอง


โรคซึมเศร้ามีความรัก

สำหรับคู่รักที่เป็นโรคซึมเศร้าทั้งคู่ อาจมีความยากลำบากโดยเฉพาะเวลาที่มีอาการทั้งสองฝ่าย แต่จุดแข็งก็ คือ ทั้งคู่จะสามารถเข้าใจความรู้สึกและความคิดที่เกิดขึ้นกับอีกฝ่ายได้อย่างลึกซึ้งกว่าคนที่ไม่มีประสบการณ์เป็นโรคซึมเศร้าเลย คู่รักทั้งสองอาจต้องฝึกฝนที่จะรู้อารมณ์ของตัวเอง รวมถึงสามารถบอกอารมณ์ ความคิด และความต้องการของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา รวมถึงฝึกในการที่จะรับฟังและตอบสนองสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งสื่อออกมาได้อย่างเหมาะสม ก็จะทำให้การปรับตัวเข้าหากันของทั้งสองฝ่ายเป็นไปได้อย่างดียิ่งขึ้น


สุดท้ายแล้ว การมีความสัมพันธ์หรือการที่มีคนคอยรัก คอยห่วงใย เป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงจิตใจคนให้มีความสุข สดชื่น แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าการที่เราจะต้องเลิกรากันไป หรือการที่จะต้องอยู่คนเดียวนั้นจะทำให้ชีวิตคุณมีความสุขสดชื่นไม่ได้ หากคุณมีความรักเหลือเฟือพร้อมที่จะมอบให้กับคนอื่นมากมาย ลองมอบความรักความอบอุ่นเหล่านั้นให้กับตัวเองบ้าง แล้วคุณจะพบว่าความสุขนั้นไม่ได้ห่างไกลอย่างที่คุณคิดเลย





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม