เดือนที่เหมาะกับการแต่งงานตามความเชื่อของคนไทย ได้แก่ มกราคม กุมภาพันธ์ พฤษภาคม และพฤศจิกายน จึงเป็นเวลาแห่งการใช้ชีวิตคู่ที่หวานชื่นที่กำลังเริ่มต้น
แต่การรักษาความสัมพันธ์ให้ยืนยาวนานและมีความสุขเป็นสิ่งท้าทายความสามารถในการปรับตัวของแต่ละคู่ เทคนิคการปรับตัวมีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล
คละเคล้ากันไป แต่นั้นก็ทำให้ชีวิตคู่มีสีสันมิใช่หรือ?
การใช้ชีวิตคู่หากเป็นอาหารจานหนึ่งจะอร่อยได้ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่าง องค์ประกอบหลักของชีวิตคู่ก็คือ ความรักและการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
ถ้าคู่ไหนมีสองอย่างนี้ก็รับประกันได้ว่าสามารถอยู่ด้วยกันได้อย่างมีความสุข
การมีชีวิตคู่ที่ไม่น่าเบื่อและสุขใจควรเป็นทั้งสองฝ่าย เพราะถ้าฝ่ายหนึ่งสุขแต่อีกฝ่ายทุกข์ก็ไม่นับเป็นชีวิตสมรสที่ดีนัก สามีภรรยาควรมีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังต่อไปนี้
1. รับผิดชอบในพฤติกรรมของตนเองและรับผิดชอบในความภาคภูมิใจของตนเอง ว่ากันง่ายๆ คือทำผิดก็ยอมรับผิดและแก้ไข
อย่าคิดว่าตัวเองด้อยหรือถ้าคิดก็ต้องระวังไม่แสดงออกมา ถ้าน้อยเนื้อต่ำใจ พฤติกรรมจะแสดงออกมาในทางนั้น คนที่ไม่ภาคภูมิใจในตนเอง
มองตนเองไม่เก่ง ไม่ดี มักมีอารมณ์เศร้าได้ง่าย และบางครั้งก็แปลความหมายที่สามีหรือภรรยาบอกผิดไปได้ หากมีความรู้สึกด้อยควรรีบปรับปรุง
คิดถึงตนเองในแง่ดี หากยังปรับไม่ได้ ต้องพยายามควบคุมพฤติกรรมที่มีผลมาจากการไม่ภาคภูมิใจในตนเอง เช่น ผู้ชายบางคนอาจหาเงินได้น้อยกว่าภรรยาก็ต้องระวัง
ไม่คิดว่าด้อยกว่า เพราะจะนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันได้
2. แต่ละคน แต่ละคู่ ควรตั้งเป้าหมายในชีวิตแต่งงานว่าอยากให้เป็นอย่างไร เช่น ไม่ทะเลาะกัน แต่วันไหนทะเลาะต้องพูดกันก่อนนอน หรือถ้าทะเลาะกันก็ต้องพูดกันด้วยคำพูดไม่รุนแรง หยาบคาย คุยกันอย่างสันติ ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวว่าตั้งเป้าหมายกันแบบไหนที่จะเป็นวิธีการที่ดี ทำให้ครอบครัวมีความมั่นคง มีการบอกกล่าวเป้าหมายของทั้งสองฝ่าย หากอันไหนแย้งกันก็หาวิธีแก้ไข
3. สนับสนุนเวลาที่คนรักทำอะไรดีๆ แต่หากเขาทำไม่ดีหรือกำลังทำอะไรผิดพลาด หาทางพูดคุย บอกกล่าวกัน
4. สื่อสารความรู้สึก ความต้องการอย่างเปิดเผยและซื่อสัตย์โดยไม่รู้สึกผิด และบอกโดยคำนึงถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ไม่เรียกร้องมากเกินไปและไม่ก้าวร้าวกับอีกฝ่าย เวลาคนรักแสดงความดีใจ เสียใจ
5. รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ เวลาคู่แต่งงานแสดงความดีใจ เสียใจ บ่น ก็ให้รับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ รู้ว่าเพราะอะไรคนรักจึงรู้สึกอย่างนั้น
6. รักษาน้ำใจซึ่งกันและกัน ศึกษากันและกันว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่มีอิทธิพลต่อความคิดความรู้สึกของคนรัก อะไรพูดแล้วทำให้คนรักสะเทือนใจก็ควรหลีกเลี่ยง
7. ยอมรับในค่านิยมของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นค่านิยมทางศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ซึ่งการยอมรับนั้นไม่ได้หมายความว่าต้องทำตามเสมอไป
8. เลือกทำสิ่งต่างๆ ที่ดีต่อความสัมพันธ์ เช่น ในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนจะทำกิจกรรมอะไรด้วยกัน ไม่พูดถึงอดีตต่างๆ ของกันและกัน เป็นต้น
9. เลือกความคิด คำพูด ภาษาและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดผลที่ดีต่อกัน ยกตัวอย่าง ถ้าแฟนกลับบ้านช้าก็อย่าไปคิดอะไรในแง่ร้ายไว้ก่อนเพราะจะมีผลต่อความรู้สึกและการกระทำ เมื่อคนรักกลับมา ก็ควรถามด้วยความเป็นห่วงเป็นใย หรืออาจหาน้ำหาอะไรให้รับประทาน หรือหากกลับบ้านช้าก็อาจโทรบอกกันไว้เพื่อไม่ให้อีกฝ่ายเป็นห่วง เป็นต้น
10. ช่วยกันแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นร่วมกัน
11. สัญญาร่วมกันที่จะรักษาชีวิตการแต่งงานให้มีความสุข
หากทำได้เช่นนี้ชีวิตสมรสของคุณจะเกิดความผูกพันที่แนบแน่น เข้าอกเข้าใจกันชนิดเรียกได้ว่ามองตาก็รู้ใจและรักษาชีวิตรักไว้ได้อย่างยาวนาน
แม้สภาพสังคมเปลี่ยนไปเช่นไร แต่หากคนสองคนมีเทคนิคการปรับตัวในการอยู่ร่วมกันที่ดีแล้ว ก็เป็นหลักประกันได้ว่าชีวิตคู่ของคุณจะยืนยาวไม่แพ้คนสมัยก่อนแน่นอน
ขอให้ชีวิตสมรสทุกคู่มีความสุขและเลือกสิ่งๆ ดีให้ต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูด หรือการกระทำนะคะ