เส้นทางแห่งความสุข


นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์ และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์

ถ้าถามว่า “ใครอยากมีความทุกข์ให้ยกมือขึ้น” คงไม่มีใครยกมือเป็นแน่ ใครๆ ก็อยากมีชีวิตที่มีความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าถามต่อไปอีกว่า ความสุขของคุณคืออะไร? คำตอบของแต่ละคนคงแตกต่างกันออกไปได้หลากหลายมากมาย


สำหรับคนที่มีพร้อมทุกอย่างทั้งรูปร่าง หน้าตา สมบัติพัสถาน เชื่อว่าใครหลายคนคงคิดและมองว่าเขาเหล่านั้นต้องมีความสุขมากอย่างแน่นอน แต่ในความจริงอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นก็ได้ ทั้งนี้เพราะความสุขในชีวิตคนไม่ได้มีเฉพาะความสุขทางกาย แต่ยังมีเรื่องของความสุขทางใจอีกด้วย ซึ่งในชีวิตคนส่วนใหญ่ ความสุขทางใจเป็นตัวกำหนดเรื่องของความสุขในชีวิตมากกว่าความสุขทางกาย


ความสุขในชีวิตประกอบด้วยความสุขทางกายและความสุขทางใจ ความสุขทางกายส่วนใหญ่เป็นความสุขที่ได้จากการได้ตอบสนองการเสพทางกายผ่านประสาททาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ตอบสนองความอยาก ความหิว ทำให้เกิดความอิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเสพทางวัตถุ เป็นความต้องการที่ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากการตอบสนองความต้องการเสพทางกายแล้ว ความสุขทางกายอีกด้านหนึ่ง คือ การไม่ต้องเจ็บ ไม่ต้องป่วยทางกาย นั่นก็คือ การมีสุขภาพกายแข็งแรง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ขึ้นกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบหมวดหมู่ การออกกำลังกายเพิ่มเสริมสร้างความแข็งแรง การพักผ่อน และภูมิต้านทานโรคทำให้ไม่เกิดอาการเจ็บป่วยได้ง่าย



path_to_happiness


ส่วนความสุขทางใจ เป็นความสุขที่ซับซ้อนและไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าเหมือนความสุขทางกาย เป็นความสุขที่เกิดจากความรู้สึกเต็มทางด้านจิตใจ ไม่รู้สึกว่าตัวฉันขาดอะไร คนที่ไม่ค่อยมีความสุขทางด้านจิตใจ สาเหตุใหญ่เกิดจากความรู้สึก (ในระดับจิตใต้สำนึก) ไม่มั่นใจในตัวเองว่ามีคุณค่าพอหรือดีพอ เป็นคนเก่งพอหรือไม่ ฉลาดพอหรือไม่ เป็นลูกที่ดีพอหรือไม่ เป็นพี่น้องที่ดีพอหรือไม่ เป็นพ่อแม่ที่ดีพอหรือไม่ ฯลฯ ดังนั้น จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นตลอดเวลาว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่นหรือไม่ (ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นเกือบตลอดชีวิต) และส่วนใหญ่แล้วมักจะเปรียบเทียบกับคนที่เหนือกว่า




เมื่อรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่า (ซึ่งหลายครั้งเกิดจากการมองตัวเองในด้านลบมากเกินไป) ทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่า ผิดหวัง ท้อแท้ หรือซึมเศร้า ในบางรายอาจเกิดเป็นความรู้สึกว่าด้อยกว่า พ่ายแพ้ แต่ใจไม่ยอมรับ เกิดความรู้สึกไม่พอใจ อิจฉา ริษยา โกรธแค้น ซึ่งเป็นอารมณ์ลบอีกด้านหนึ่ง



คนที่รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่าพอหรือดีพอ (ในระดับจิตใต้สำนึก) จึงเป็นคนที่หาความสุขทางใจได้ยาก เมื่อการมองตนเองในแง่บวกทำได้ไม่ดี ก็ทำให้การมองผู้อื่นในแง่บวก มองโลกในแง่ดี ก็ทำได้ยากเช่นกัน ดังนั้นการมีสุขภาพจิตดี จึงจำเป็นต้องฝึกฝนเรื่องการมองตนเองและมองโลกภายนอก



คนที่มีสุขภาพกายดี แม้ยังไม่ป่วยก็ยังต้องออกกำลังกาย วิ่งจ๊อกกิ้งเป็นประจำ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคทางกาย ทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ยังไม่ป่วยก็ควรเพิ่มภูมิต้านทานทางใจด้วยการฝึกจิตใจให้สามารถรู้เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง และสามารถมองตัวเองรวมทั้งผู้อื่นในแง่บวก แง่ดี ทำให้ตัวเองไม่รู้สึกขาด รู้สึกเต็มทางด้านจิตใจ ทำให้ความคิด ความรู้สึกเปรียบเทียบกับผู้อื่นลดลง ชีวิตที่ต้องวุ่นวายกับการดิ้นรนหาวัตถุทรัพย์สินเพื่อเอาชนะการเปรียบเทียบลดลง โอกาสเกิดอารมณ์ลบ ผิดหวัง ท้อแท้ หรือโกรธ ไม่พอใจก็จะน้อยลงหรือยากขึ้น การสามารถมองผู้อื่นในด้านบวกช่วยให้คนเราให้อภัยกันง่ายขึ้น การสะสมอารมณ์โกรธ แค้น ไม่พอใจ ก็มีน้อยลง เกิดมีความสุขทางใจได้ง่าย



path_to_happiness


ความสามารถมีความสุขทางใจเป็นงานยากง่ายต่างกันในคนแต่ละคน เนื่องจากต้นทุนทางด้านจิตใจที่รู้สึกว่าเต็มหรือขาดของแต่ละคนไม่เท่ากัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเลี้ยงดูในวัยเด็ก ประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับจากพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่เลี้ยงดูเด็ก นอกจากดูแลเรื่องสุขภาพทางกายแล้ว สุขภาพทางจิตก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่ากัน แต่มักถูกละเลย การเลี้ยงดูเด็กให้มีความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ ผู้เลี้ยงดูจำเป็นต้องสนใจหาความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูกที่ถูกวิธี โดยเฉพาะในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนอย่างมากในยุคปัจจุบัน



สำหรับผู้ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่สุขภาพจิตใจยังไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะรับมือกับปัญหาในชีวิต หรือไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะหาความสุขใจในชีวิตได้ ก็ใช่จะสิ้นหวังเสียทีเดียว คนเราสามารถฝึกฝนทักษะทางด้านจิตใจให้มีความแข็งแรงขึ้นได้ด้วยการศึกษาจากตำรา แนะนำหรือคอร์สอบรมพัฒนาตนเอง ทั้งนี้ต้องใช้เวลาฝึกฝนปฏิบัติ จะใช้เวลามากหรือน้อยกว่าที่จะดีขึ้น ก็ขึ้นกับต้นทุนความแข็งแรงด้านจิตใจและการสนใจ หมั่นฝึกฝนปฏิบัติของแต่ละคนว่ามีมากหรือน้อยอย่างไร

path_to_happiness




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม