เป็นคนดี ก็ปฏิเสธได้


นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องดำรงชีวิตอยู่เป็นกลุ่ม เป็นหมู่คณะ การดำเนินชีวิตของคนแต่ละคนส่วนใหญ่ไม่ได้ราบเรียบไร้อุปสรรคเสมอไป ต้องมีบางครั้งบางเวลาที่ไม่สามารถรับมือกับปัญหาที่เข้ามาในชีวิตได้ด้วยตัวเอง อาจจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นบ้าง และในขณะเดียวกันถ้ามีโอกาสที่จะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ก็สมควรให้ความช่วยเหลือผู้อื่นด้วยเช่นกัน คนที่มีน้ำใจให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้มาก ก็จะได้รับการยอมรับนับถือ ยกย่องว่าเป็นคนดี ดังนั้นจึงเกิดค่านิยมในสังคมขึ้นว่า คนดีควรเป็นคนที่มีน้ำใจช่วยเหลือ แบ่งปันแก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างไรก็ตามความสามารถในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ของแต่ละคนใช่ว่าจะสามารถทำได้เท่าเทียมกันทุกคนเสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมในชีวิตของแต่ละคน การให้ความช่วยเหลือคนจึงต้องมีความพอดี ความเหมาะสมกับแต่ละเหตุการณ์ แต่ละบุคคล เป็นรายๆ ไป อะไรก็ตามในโลกนี้ ถ้ามากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดีทั้งนั้น หนทางที่ดีที่สุด คือ ทางสายกลาง


การพูดปฏิเสธ

เชื่อว่าทุกคนคงเคยมีประสบการณ์มีความลำบากใจที่จะปฏิเสธผู้ที่มาขอความช่วยเหลือ เพราะตนเองมีความไม่พร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่ก็เกรงว่า ผู้ที่ขอความช่วยเหลือหรือคนอื่นๆ อาจมองว่าตนเองเป็นคนไม่ดี ไม่มีน้ำใจ ใจแคบ บ่อยครั้งจึงมักลงเอยด้วยการฝืนใจรับปากให้ความช่วยเหลือ ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากทำ ไม่มีความพร้อม และมาก่อปัญหาให้ตนเองต้องประสบกับความลำบาก ความยุ่งยาก เดือดร้อน หรือบางครั้งอาจกระทบไปถึงคนในครอบครัว คนรอบข้าง และมักมารู้สึกเสียใจภายหลังว่า ไม่น่ารับปากเลย น่าจะปฏิเสธไปตั้งแต่ต้น ตัวอย่างเช่น ไปเซ็นค้ำประกันให้เพื่อนซื้อรถ ทั้งที่รู้ว่าเพื่อนเป็นคนไม่มีความรับผิดชอบ แล้วในที่สุดเพื่อนหนีหนี้ ตัวเองต้องมาลำบากผ่อนรถแทนเพื่อน โดยที่เป็นรถที่ตัวเองไม่เคยได้เห็น ไม่เคยได้ใช้ด้วยซ้ำ ดังนั้นการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแล้วไม่ก่อให้เกิดปัญหา แต่เกิดประโยชน์ ผลดี กับทุกฝ่ายจึงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม



การพูดปฏิเสธ

ความเหมาะสมของการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น สามารถพิจารณาปัจจัยออกมาได้ 2 ด้าน คือ ด้านผู้ขอความช่วยเหลือ และด้านผู้ให้ความช่วยเหลือ ในส่วนของผู้ขอความช่วยเหลือนั้น อาจต้องพิจารณาว่า คนคนนั้นสมควรได้รับความช่วยเหลือหรือไม่ ปัญหาเกิดจากเขาทำตัวเองหรือไม่ ปัญหาที่ขอความช่วยเหลือนั้น เกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัยหรือไม่ หรือตัวเองก็มีความสามารถรับมือกับปัญหาได้ แต่ไม่อยากรับผิดชอบ ไม่พยายามช่วยตัวเอง และผลักภาระไปให้คนอื่น เอาตัวเองสบาย ไม่รู้สึกผิดต่อการคอยเอาเปรียบผู้อื่น เช่นนี้ก็ไม่สมควรให้ความช่วยเหลือ ซึ่งต่างจากคนที่ประสบปัญหาจากเหตุสุดวิสัย และได้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองแล้ว สุดความสามารถของตัวเองแล้วจึงขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีคนอีกประเภทหนึ่ง คือ คนที่ไม่เคยช่วยเหลือใครเลย ถึงแม้ตัวเองมีความพร้อม พอถึงคราวตัวเองลำบาก กลับมาเรียกร้องให้คนอื่นช่วยเหลือตัวเอง ก็ต้องพิจารณาว่าสมควรให้ความช่วยเหลือหรือไม่ เมื่อพิจารณาได้แล้วว่าคนคนไหนสมควรให้ความช่วยเหลือ ขั้นต่อไป คือ การพิจารณาว่าตัวผู้ให้ความช่วยเหลือเองมีความพร้อมมากน้อยเพียงใด ความพร้อมนี้มักหมายถึงความพร้อมด้านเวลา ทรัพย์สิน กำลังกาย ความรู้ ความสามารถ ถ้าหากมีความพร้อม และการช่วยเหลือนั้นไม่ก่อให้เกิดภาระกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและครอบครัวมากนัก ก็อาจพิจารณาสมควรให้ความช่วยเหลือตามเงื่อนไขเท่าที่ตัวเองให้ได้ แต่ถ้าไม่มีความพร้อม การให้ความช่วยเหลือนั้นเกินกำลังของตนเอง ก่อให้เกิดภาระ ความยากลำบากแก่ชีวิตตนเองและครอบครัว ก็ควรปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือนั้นไปเสีย


ผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมเติบโตมาภายใต้การสอนจากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ ครู ที่มักสอนบอกว่า คนดีต้องมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปัน ช่วยเหลือผู้อื่น การปฏิเสธผู้อื่นเป็นสิ่งที่ไม่สุภาพ เห็นแก่ตัว เป็นคนแล้งน้ำใจ เป็นคนไม่ดี ไม่ควรกระทำ คำสอนเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ในวัยเด็กและฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก เป็นความคิดอัตโนมัติว่า คนที่ไม่ช่วยเหลือคนอื่นเป็นคนไม่ดี การที่คนคนหนึ่งกล้าที่จะปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือเมื่อตัวเองไม่พร้อม จะช่วยให้คนผู้นั้นไม่ต้องประสบปัญหาอึดอัดใจ เสียใจ ลำบากใจภายหลัง แต่การที่คนจำนวนมากไม่สามารถปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นทั้งที่ตัวเองไม่พร้อม ก็เพราะความคิดอัตโนมัติที่ถูกโปรแกรมอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกตั้งแต่วัยเด็ก


คนเราเกือบทุกคนในโลกนี้ ในระดับจิตใต้สำนึก มีความไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง และไม่สามารถบอกตัวได้ด้วยตัวเองว่า ฉันเป็นคนมีคุณค่า ต้องอาศัยปฏิกิริยาท่าทีตอบสนองของคนรอบข้างที่ยืนยันบอกว่าเธอเป็นดี มีคุณค่า ยิ่งระดับความไม่มั่นใจในคุณค่าของตนเองมีมากเท่าไหร่ ระดับการต้องพึ่งพิงการยอมรับจากบุคคลอื่นยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดวิธีคิด วิธีรู้สึกว่า ฉันจะเป็นคนมีคุณค่าต่อเมื่อทุกคนชื่นชมฉัน ชอบฉัน ยอมรับฉัน ฉันมีความสุขต่อเมื่อทุกๆ คน บอกว่าฉันเป็นคนดี คนดีต้องไม่ทำให้คนอื่นผิดหวัง ต้องมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น


การพูดปฏิเสธ

ดังนั้นเพื่อที่จะทำชีวิตให้พ้นจากปัญหาและความไม่สบายใจเหล่านี้ ผู้ที่ประสบปัญหาจำเป็นต้องฝึกทักษะที่จะสามารถปฏิเสธ การให้ความช่วยเหลือคนที่ไม่น่าช่วยเหลือ และการปฏิเสธเมื่อตนเองไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือ การฝึกทักษะการปฏิเสธสามารถทำได้โดยการปรับ วิธีคิดอัตโนมัติ (Reprogramming) เสียใหม่ลงไปในระดับจิตใต้สำนึกให้ได้มากที่สุด ความคิดที่สมควรได้รับการปรับ ได้แก่


• ชีวิตฉันมีคุณค่าหรือไม่ ฉันสามารถบอกตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องอาศัยการแสดงออกของคนอื่น
• ถ้าความสุขของฉันขึ้นอยู่กับความคิดของคนอื่น ชีวิตฉันจะหาความสุขได้ยากมาก เพราะ ฉันไม่สามารถควบคุมความคิดของคนอื่นได้
• คนดีไม่จำเป็นต้องทำให้ทุกคนพอใจในทุกๆ เรื่อง
• การที่ใครไม่ชอบฉัน เพราะว่าฉันไม่ได้ให้ความช่วยเหลือตามที่ถูกร้องขอ ไม่ได้แปลว่าฉันเป็นคนไม่ดี
• ฉันจะให้ความช่วยเหลือใคร ก็เพราะเขาสมควรได้รับความช่วยเหลือและตัวฉันอยู่ในสภาพพร้อมให้ความช่วยเหลือ ไม่ใช่เพราะฉันกลัวคนมองว่าฉันเป็นคนไม่ดี กลัวคนไม่ยอมรับฉัน
• การให้ความช่วยเหลือคนที่ไม่สมควรได้รับความช่วยเหลือนั้น เป็นการทำร้ายคนคนนั้น เพราะเป็นการส่งเสริมให้เขาเป็นคนไม่รู้จักความรับผิดชอบชีวิตของตนเอง
• การให้ความช่วยเหลือผู้อื่นในขณะที่ตัวฉันไม่พร้อม หรือเกินกำลังของตัวเองนั้น เป็นการทำร้ายตนเอง ครอบครัว และคนใกล้ชิด



เราทุกคนประสบปัญหาลำบากใจที่ต้องปฏิเสธการขอความช่วยเหลือนี้ด้วยดีกรีที่แตกต่างกัน คนที่เป็นไม่รุนแรง และการดำเนินชีวิตไม่ถูกกระทบมาก การฝึกฝนทักษะการฏิเสธอาจทำได้ด้วยตนเองด้วยการฝึกฝนตนเองผ่านการอ่าน การเขียน การฟังข้อเตือนใจในการ Reprogram ต่างๆ ข้างต้นทุกๆ วัน เพื่อเป็นการช่วยให้วิธีคิดนี้ถูกปลูกฝังเข้าในจิตใจ นานวันเข้าก็สามารถช่วยให้เกิดความมั่นใจ เกิดความเข้มแข็งในจิตใจ เมื่อต้องประสบกับสถานการณ์จริง ก็สามารถตั้งสติ เตือนตัวเอง และสามารถทำการปฏิเสธได้ด้วยความไม่ลำบากใจมากนัก การเปลี่ยนแปลงนี้อาจไม่สามารถทำได้สำเร็จภายในวันสองวัน หรือในเหตุการณ์ครั้งสองครั้ง แต่ต้องใช้เวลาและการปฏิบัติหลายๆ ครั้ง ทำให้มีความชำนาญมากขึ้น ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ สำหรับคนที่จิตใจอ่อนแอมาก และปัญหาการไม่สามารถปฏิเสธผู้อื่น กระทบการดำเนินชีวิตมาก การฝึกทักษะ แก้ไขด้วยตนเองทำสำเร็จได้ยาก อาจต้องอาศัยตัวช่วยเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นโค้ชให้ เช่น นักจิตวิทยา จิตแพทย์


การเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีรู้สึกซึ่งอยู่ลึกในระดับจิตใต้สำนึกนี้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ต้องฝึกฝน Reprogram เตือนตนเองทุกๆ วัน เป็นระยะเวลานานเป็นเดือน เป็นปีจึงจะเห็นความเปลี่ยนแปลง ผู้อ่านที่ชีวิตไม่ต้องประสบกับปัญหานี้ ผู้เขียนขอแสดงความยินดีด้วย สำหรับผู้อ่านที่ประสบปัญหาก็ขอให้สามารถทำความเข้าใจ ฝึกฝน และผ่านพ้นปัญหาไปได้ด้วยดีทุกๆ คน เช่นกัน





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม