ยาต้านเศร้ารักษาโรคซึมเศร้าได้อย่างไร


วรวัฒน์ บานชื่นวิจิตร
เภสัชกร โรงพยาบาลมนารมย์

กลไกการออกฤทธิ์ ชนิดของยา และความเข้าใจที่ถูกต้องของยาต้านเศร้า


การออกฤทธิ์ของยารักษาโรคซึมเศร้าหรือยาต้านเศร้า (antidepressants) ในปัจจุบันมุ่งไปที่การแก้ไขสมดุลของสารเคมีในสมอง หรือสารสื่อประสาทในสมอง (neurotransmitters) คือ เซโรโทนิน (serotonin, 5-HT) , โดพามีน (dopamine, DA) และ นอร์อิพิเนฟรีน (norepinephrine, NE) ซึ่งควบคุม กำกับ ดูแลสมดุลของอารมณ์ แรงจูงใจ ความอยากอาหาร



Antidepressants

โดยทั่วไปยาต้านเศร้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ


1. กลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทหลายชนิด SNRIs (Serotonin and Norepinephrine Reuptake Inhibitors) เช่น Duloxetine, Venlafaxine, Desvenlafaxine, Amitriptyline, Nortriptyline, Imipramine, Desipramine ออกฤทธิ์ต่อการเก็บกลับของเซโรโทนินและนอร์อิพิเนฟรีน นอกจากนั้นยายังมีฤทธิ์ต่อสารเคมีอื่นๆ ด้วย เช่น ฤทธิ์ anticholinergic ทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง ซึ่งเป็นอาการข้างเคียง สามารถแก้ไขได้โดยจิบน้ำบ่อยๆระหว่างวัน


2. กลุ่มที่ออกฤทธิ์จำเพาะต่อสารสื่อประสาทเพียงชนิดเดียว SSRIs (Selective Serotonin Reuptake Inhibitors) เน้นหนักไปที่ยับยั้งการเก็บกลับของเซโรโทนิน เช่น Fluoxetine, Fluvoxamine Sertraline, Citralopram, Escitralopram, Paroxetine กลุ่มยาพวกนี้มีอาการข้างเคียงค่อนข้างน้อย




Antidepressants

การรักษาโรคซึมเศร้า จำเป็นต้องกินยาต้านเศร้าอย่างต่อเนื่อง บางรายอาจต้องทำจิตบำบัด เช่น Cognitive Behavioral Therapy (CBT) ร่วมด้วย และเนื่องจากยาออกฤทธิ์ปรับสมดุลการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้น ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษาและรอการออกฤทธิ์เต็มที่ของยา เช่น Fluoxetine ใช้เวลาในการเริ่มเห็นฤทธิ์ในการรักษาคือ 1-2 สัปดาห์ และเห็นผลการรักษาเต็มที่ภายใน 1 เดือน หรือ Nortriptyline เริ่มเห็นผลการรักษาภายใน 14 วัน ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องรับทราบ โดยเภสัชกรจะอธิบายลักษณะการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ยาตามแพทย์สั่งได้



โดยทั่วไป อาการของโรคไม่ได้หายทันทีที่กินยา ส่วนใหญ่จะใช้เวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นไปอาการจะดีขึ้นอย่างเห็นชัด ยามีส่วนช่วยในระยะแรกๆ ทำให้ผู้ป่วยหลับได้ดี เจริญอาหารขึ้น มีเรี่ยวแรงทำอะไรมากขึ้น ความรู้สึกกลัดกลุ้มหรือกระสับกระส่ายเริ่มลดลง


ยาทุกชนิดสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ทั้งสิ้น ควรใช้ในขนาดและกินตามเวลาที่แพทย์สั่งเท่านั้น หากกินยาตามสั่งไม่ได้หรือเกิดอาการใดๆ ที่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงหรือไม่ ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้ง




Antidepressants

ผู้ป่วยจำนวนมากไม่กล้ากินยาตามแพทย์สั่ง แพทย์สั่งกิน 4 เม็ดก็กินแค่ 2 เม็ด หรือกินบ้างหยุดกินบ้าง เพราะกลัวติดยา หรือกลัวยาสะสมในร่างกาย แต่ความจริงยาต้านเศร้าไม่มีการติดยา ถ้าขาดยาแล้วมีอาการไม่สบาย นั่นเพราะยังไม่หายจากอาการของโรค การกินยาบ้าง ไม่กินบ้าง กินๆ หยุดๆ หรือกินยาไม่ครบขนาด ยิ่งทำให้รักษายากมากขึ้น ไม่ได้ผลดี และอาจใช้เวลารักษายาวนานกว่าเดิม


ยาต้านเศร้ามีหลายขนาน จากการศึกษาไม่พบว่าตัวไหนดีกว่ากันอย่างชัดเจน เรียกว่าผู้ป่วยคนไหนจะถูกกับยาตัวไหนเป็นเรื่องเฉพาะตัว โดยรวมแล้วมักรักษาได้ผลทุกตัว การใช้ยาขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย และผู้ป่วยมีโรคทางกายหรือกำลังกินยาอื่นๆ ที่ทำให้ใช้ยาบางตัวไม่ได้หรือไม่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ตอบสนองต่อยาต้านเศร้าตัวแรกที่ให้ หากอาการยังไม่ดีในระยะแรก อาจเพราะยังปรับยาไม่ได้ขนาด หรือยังไม่ได้ระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ได้เต็มที่มากกว่า หากแพทย์รักษาไประยะหนึ่งแล้วเห็นว่าให้ยาในขนาดที่พอเพียงแล้วแต่ผู้ป่วยอาการดีขึ้นไม่มาก ก็อาจพิจารณาใช้ยาตัวอื่นต่อไป





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม