นายแพทย์ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์ และกรรมการผู้จัดการ โรงพยาบาลมนารมย์
ปัจจุบันปัญหาสุขภาพจิตมีความสำคัญมากขึ้น ประชาชนมีความรู้ ความตื่นตัวเกี่ยวกับโรคทางจิตเวชมากขึ้น โดยเฉพาะ “โรคซึมเศร้า”
จากข่าวการฆ่าตัวตายที่พบเห็นตามสื่อแทบทุกวัน ยิ่งมีส่วนให้ประชาชนยอมรับว่า ปัญหาโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตาย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
และยังเกิดการสูญเสียหลายด้าน นอกจากโรคซึมเศร้าที่รู้จักกันดีแล้ว ยังมีการเจ็บป่วยด้านจิตใจอีกชนิดหนึ่ง เป็นภาวะซึมเศร้าแต่ไม่แสดงอาการซึมเศร้าออกมาให้เห็นเด่นชัด
เกิดผลกระทบต่อชีวิตของผู้ป่วยและคนใกล้ชิดได้ไม่น้อยกว่าโรคซึมเศร้า การเจ็บป่วยนี้ คือ “ภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น” (Masked
Depression)
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) จะมีอาการซึมเศร้าชัดเจน เช่น เบื่อหน่าย ท้อแท้ หมดกำลังใจ ขาดความสนใจในกิจกรรมที่เคยชอบ
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นอนไม่หลับ รู้สึกไร้ค่า คิดอยากตาย แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้น (Masked Depression)
มักไม่พบอาการซึมเศร้าที่ชัดเจน ผู้ป่วยโรคนี้หลายคนยังรับผิดชอบหน้าที่การงานได้ พูดจาทักทาย ยิ้มแย้มกับคนใกล้ชิดได้เหมือนไม่มีปัญหาอะไร
แต่มัก มีความวิตกกังวล ไม่มีความสุข พูดถึงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยทางกายให้เห็นบ่อยๆ เช่น ปวดหัว ปวดหลัง ปวดท้อง เจ็บหน้าอก
หายใจไม่อิ่ม คลื่นไส้ ปั่นป่วนในท้อง หลายคนไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุของการเจ็บป่วยทางกาย แต่ก็ไม่พบความผิดปกติทางกายใดๆ
อย่างชัดเจน หรือในบางรายอาจมีอาการทางพฤติกรรม เช่น พฤติกรรมแบบ Perfectionist คือ ย้ำคิดย้ำทำหมกมุ่นกับความสมบูรณ์แบบ
เพราะในระดับจิตใต้สำนึกของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นจะมีความรู้สึกไม่มั่นคง สงสัย และไม่มั่นใจในคุณค่าของตัวเอง
จึงพยายามทุ่มเท ทำทุกสิ่งทุกอย่างให้ดี สมบูรณ์แบบที่สุดตามมาตรฐานเพื่อให้ตนเองเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น และถ้างานไม่ได้ผลตามที่คาดหวัง
จะรู้สึกผิดหวังรุนแรง โกรธเกรี้ยวรุนแรง หงุดหงิดง่ายอย่างไม่สมเหตุสมผล หรืออาจมีพฤติกรรม Workaholic ที่ทุ่มเทกับงานอย่างหนัก
แบบหามรุ่งหามค่ำ กดดันตัวเองอย่างหนัก ไม่ยอมพักผ่อน เพื่อให้ได้ผลงานที่ดีเยี่ยม สมบูรณ์ที่สุด ในบางราย ความคาดหวัง
หมกมุ่นเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเครียดสะสมหรือปัญหาการนอนไม่หลับ จนต้องแก้ปัญหาด้วยการใช้เหล้า สุรา ยานอนหลับ หรือสารเสพติด
ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นยังคงทำงานได้ รับผิดชอบงานได้ แต่อาจไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ เนื่องจากความเครียด ความกังวลมากเกินไป
ต่างจากผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า ที่มีอาการซึมเศร้าจนไม่สามารถรับผิดชอบต่อหน้าที่การงาน ครอบครัว หรือตนเองได้เลย
ภาวะซึมเศร้าที่ซ่อนเร้นนี้ หากปล่อยสะสมไว้นาน ไม่ได้รับการแก้ไขที่เหมาะสม สามารถส่งผลกระทบหลายด้าน คือ บุคคลนั้นไม่สามารถสร้างผลงานได้เต็มที่ตามศักยภาพ
รู้สึกตนเองมีปัญหาเจ็บป่วยทางกาย ได้รับการตรวจรักษามากเกินจำเป็น เสียเวลา เสียเงินทอง เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ
ผู้มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นมีสุขภาพจิตไม่แข็งแรง ทำให้ความสามารถในการรับมือกับปัญหา ความผิดหวังจากเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงที่เข้ามาในชีวิตจะทำได้ไม่ดี
นำไปสู่การป่วยทางจิตใจต่อไป อาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ และหากไม่สามารถปรับตัวได้อีกก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนถึงการฆ่าตัวตายก็เป็นได้
สำหรับการดูแลรักษาผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นอาจมีความยุ่งยาก เพราะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นจำนวนมากไม่ยอมรับว่าตนเองมีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจ
มองว่าตนเองเจ็บป่วยทางกายเท่านั้น จึงมักปฏิเสธการเข้าพบจิตแพทย์ และเลือกที่จะเก็บกดปัญหาเอาไว้ ดังนั้น การพาผู้ป่วยมาพบจิตแพทย์เพื่อได้รับการช่วยเหลือ
ต้องอาศัยคนใกล้ชิดที่ผู้ป่วยเชื่อถือ ไว้วางใจ เข้าใจในตัวโรค และเกลี้ยกล่อมโน้มน้าวให้ผู้ป่วยยอมรับการช่วยเหลือได้
การรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ ไม่มีสูตรสำเร็จ วิธีการดูแลช่วยเหลือแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน โดยทั่วไปการรักษาหลักเป็นการให้ความรู้
ทำจิตบำบัด และการบำบัดแบบอื่นๆ เช่น ศิลปะบำบัด ฝึกผ่อนคลาย ฝึกสมาธิ ซึ่งต้องใช้เวลาให้ผู้ป่วยเข้าใจเรื่องบุคลิกภาพของตนเอง
กลไกทางจิตของตนเองที่ใช้แก้ปัญหา และช่วยให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาในชีวิต รวมทั้งเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาที่ดีกว่าเดิม
สร้างสรรค์กว่าเดิม ในบางราย ยาแก้อาการซึมเศร้าอาจมีบทบาทช่วยเสริมในการรักษาให้ได้ผลเร็วขึ้นได้
ถ้าหากประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าซ่อนเร้นมากขึ้น สามารถแนะนำ ช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะดังกล่าวให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมจะช่วยลดปัญหาสุขภาพจิตในประเทศไทยได้อีกมาก
ประชากรที่มีความสุขทางจิตใจก็มีมากขึ้น