แพทย์หญิงอัฉริยา ถวัลย์กิจดำรงค์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
ทักษะการแก้ปัญหา เป็นหนึ่งในทักษะส่วนบุคคลที่มีความสำคัญ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้สามารถทำความเข้าใจปัญหา คิดวิเคราะห์ และนำไปสู่แนวทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้น ทักษะนี้มีความจำเป็นต่อทุกช่วงวัยของชีวิต ตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่
เด็กขาดทักษะนี้ได้อย่างไร
เด็กหลายคนขาดทักษะในการแก้ปัญหา เนื่องจากไม่เคยได้เผชิญกับปัญหาหรือฝึกแก้ปัญหาด้วยตนเองมาก่อน คุณพ่อคุณแม่หลายคนดึงลูกออกจากปัญหาที่เขาต้องเผชิญ เข้าไปคิดและจัดการแก้ไขให้ เพราะต้องการช่วยเหลือหรือไม่อยากให้เกิดความยากลำบาก โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองเผชิญและลองแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง เด็กๆ เหล่านี้จึงมีความเปราะบาง และไม่พร้อมรับมือกับสถานการณ์ยากลำบากที่อาจเกิดขึ้นในชีวิต ไม่สามารถคิดหรือตัดสินใจในเรื่องสำคัญต่างๆ
ทุกทักษะที่เด็กๆ ยังไม่เคยทำเป็นสิ่งใหม่สำหรับพวกเขาเสมอ ดังนั้นในช่วงเริ่มแรกที่ได้ลองทำจึงดูเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากลำบาก ทำได้ช้า ดูไม่คล่องแคล่ว คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรใจร้อน หรือเร่งให้เขารีบทำให้ได้ คอยเป็นกำลังใจให้ในขณะที่เขากำลังค่อยๆ ลงมือทำ ชื่นชมเมื่อเขาทำสำเร็จ ให้ฝึกทำซ้ำๆ จนคล่อง สุดท้ายก็จะกลายเป็นทักษะที่สามารถทำได้อย่างคุ้นเคย
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกอย่างไรเพื่อให้เกิดทักษะนี้
เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้และมีทักษะในการแก้ปัญหา คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการฝึกกระตุ้นพัฒนาการตามวัยอย่างเหมาะสม ร่วมกับสอนให้ลูกเรียนรู้และพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาผ่านกระบวนการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
• การฝึกช่วยเหลือตนเอง การช่วยงานบ้าน เป็นสิ่งแรกๆ ที่จะเปิดโอกาสให้เขาได้ฝึกลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ควรให้เค้าได้ลงมือทำเอง อย่าใจร้อนเข้าไปแทรกแซงหรือทำแทน หากเขาทำไม่ได้หรือไม่ถูกต้อง และชื่นชมเมื่อเขาทำสำเร็จ
• การเล่นและการเล่านิทาน เป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมพัฒนาการตามวัย อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาความคิดและจินตนาการจากกิจกรรมที่ทำ
• เปิดโอกาสให้ลูกได้เลือก หรือฝึกตัดสินใจด้วยตนเอง โดยเริ่มจากเรื่องง่ายๆ แล้วขยับไปสู่เรื่องที่ยากหรือซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเลือกเสื้อผ้าหรือของใช้ต่างๆ เป็นต้น ให้ลองผิดลองถูก ฝึกรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง เรียนรู้จากประสบการณ์จริง รวมถึงเรียนรู้และยอมรับความผิดพลาด ไม่ตำหนิเมื่อเขาตัดสินใจผิดพลาด สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขาเกิดความมั่นใจในตัวเอง กล้าเผชิญกับปัญหาต่างๆและกล้าที่จะตัดสินใจ
• อย่าเพิ่งรีบช่วย เมื่อลูกต้องเจอกับปัญหา อย่าเพิ่งรีบร้อนเข้าไปแก้ปัญหา ให้กระตุ้นและเป็นกำลังใจให้เขาลงมือแก้ปัญหาด้วยตนเองก่อน หากเขาต้องการความช่วยเหลือ อาจตั้งคำถามที่ช่วยกระตุ้นให้ลูกลองคิดวิเคราะห์หาวิธีแก้ก่อน อย่าเพิ่งรีบเสนอวิธีแก้ไขโดยตรง
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกเริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้นจากการขาดทักษะในการแก้ปัญหา ส่งผลให้เกิดปัญหาทางอารมณ์ พฤติกรรม การใช้ชีวิต หรือปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แนวทางการแก้ไขที่สำคัญ คือ พาเขาไปรับการตรวจประเมินกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อที่จะได้รับการรักษาและได้รับแนวทางการช่วยเหลือแบบองค์รวมอย่างเหมาะสม รวมถึงการเรียนรู้และฝึกทักษะการแก้ปัญหากับนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญก็จะช่วยให้เขามีศักยภาพในการรับมือกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตต่อไปได้