10 วิธี สร้างวินัยให้ลูกรัก


สันติ จันทวรรณ
หัวหน้านักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์

ลูกไม่มีวินัยเป็นปัญหาที่ทำให้พ่อแม่หนักใจหรือหงุดหงิดรำคาญใจ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น เอาแต่ใจตัวเอง เล่นของเล่นแล้วไม่ยอมเก็บ ไม่รู้จักการรอคอย ไม่รับผิดชอบสิ่งที่ควรต้องทำ ฯลฯ โดยในการสร้างวินัยที่เหมาะสมในเด็กนั้น ทุกคนในบ้านต้องมีส่วนร่วมในการวางแผนและสามารถกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัวให้เหมาะสมในแนวทางเดียวกัน แล้วปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เวลาในการปรับตัวในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่เกิดขึ้น



สร้างวินัย

10 วิธีในการสร้างระเบียบวินัยให้ลูก


1. มีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบ โดยให้อธิบายถึงความรู้สึกถึงพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุให้ต้องวางกฎข้อบังคับให้ตัวเด็กทราบ พูดคุยและทำข้อตกลงร่วมในการปรับพฤติกรรมที่เป็นปัญหา


2. กฎระเบียบชัดเจน ปฏิบัติได้และเข้าใจง่าย เช่น “อนุญาตให้เล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ได้หลังจากทำการบ้านเสร็จ และให้เล่นได้ไม่เกิน 2 ชั่วโมง”


3. เหมาะสมกับวัยและปฏิบัติได้ กฎที่วางไว้ต้องมีเหตุผล ไม่บังคับให้เด็กทำตามความต้องการของพ่อแม่โดยไม่คำนึงถึงความต้องการของเด็กและให้มีอิสระตัดสินใจ เลือกหาทางปฏิบัติด้วยตนเอง แต่ต้องอยู่ในขอบเขต



สร้างวินัย

4. เป็นแบบอย่างการให้เด็กทำตามกฎระเบียบที่กำหนดให้ ผู้กำหนดกฎระเบียบ ควรเป็นแบบอย่างในการทำตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ เช่น การจัดเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบหลังใช้แล้ว การตรงต่อเวลา การรักษาคำพูด ไม่พูดจาอย่างมีอารมณ์เวลามีความขัดแย้งอย่างไม่เหมาะสม เป็นต้น ซึ่งในการกระทำหรือการแสดงออกต่างๆ ของคนในครอบครัวนั้นมีผลต่อพฤติกรรมของตัวเด็กที่จะกระทำตามแบบอย่างหรือข้อกำหนดภายในบ้าน


5. มีทางเลือกเพื่อลดความขัดแย้ง การกำหนดกฎการสร้างทางเลือก เพื่อให้เด็กมีโอกาสเลือก ทำให้เด็กสามารถวางแผน ตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง และช่วยลดความขัดแย้งได้อีกด้วย เช่น “ทำการบ้านเลยไหมหรือจะพักก่อนสักครึ่งชั่วโมงแล้วค่อยทำ”


6. เมื่อวางกฎแล้วต้องใช้สม่ำเสมอ ปฏิบัติตามอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยความเสมอต้นเสมอปลายช่วยทำให้เด็กปฏิบัติตามกฎได้ด้วยความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย แต่ก็อาจยืดหยุ่นให้ได้บ้างตามความเหมาะสม แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำตามกฎนั้นๆ



สร้างวินัย

7. เตือนทันทีเมื่อลูกทำผิดกฎ โดยไม่แสดงอารมณ์โกรธหรือลงโทษรุนแรงอย่างไม่สมเหตุสมผล แต่รับฟังและให้ลูกรอรับผลการกระทำของตนเอง ไม่ควรใจอ่อน


8. ไม่พร่ำบ่นซ้ำซาก เมื่อทำตามกฎได้แล้ว ไม่ควรสั่งสอนหรืออ้างเรื่องเดิมซ้ำซากในวันต่อๆ ไป เพราะจะทำให้เด็กรู้สึกรำคาญไม่พอใจและอาจมีพฤติกรรมต่อต้านได้


9. เสริมแรงทางบวก โดยการชื่นชมหรือให้รางวัลเมื่อลูกปฏิบัติได้ตามกฎ เช่น อาจยกย่องชมเชยหรือจัดหารางวัลให้เหมาะสมกับโอกาส และสถานการณ์ เพื่อสนับสนุนให้พฤติกรรมนั้นๆ ของเด็กคงอยู่แต่ต้องระมัดระวังไม่ใช้รางวัลนั้นๆ เป็นเครื่องต่อรองให้เด็กกระทำพฤติกรรมที่ผู้ใหญ่ต้องการ หรือให้ในลักษณะติดสินบน เช่น “ถ้าลูกทำการบ้านเสร็จ เดียวแม่จะให้เงินซื้อเกมใหม่ให้” แต่เมื่อพบว่าลูกทำการบ้านเสร็จด้วยตนเอง ควรให้การชื่นชมว่า “แม่ดีใจที่ลูกรับผิดชอบทำการบ้านได้ด้วยตนเอง เพราะทำให้แม่สบายใจไม่ต้องกังวลว่าลูกทำการบ้านหรือยัง” รางวัลเป็นสิ่งตอบแทนความดีที่เด็กกระทำ พ่อแม่ควรให้เด็กหลังจากที่เด็กได้กระทำสิ่งนั้นๆ


10. ลดข้อบังคับเมื่อลูกสามารถทำตามได้ ค่อยๆ ลดจำนวนข้อบังคับให้เหลือน้อยลง เพื่อให้ตัวเด็กฝึกให้เกิดวินัยในตนเองและสามารถดูแลตนเองได้มากขึ้น โดยอาศัยการบังคับจากพ่อแม่ให้น้อยที่สุด





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม