จันทร์จิรา ทำนา
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
เมื่อกล่าวถึง โรคสมาธิสั้น หลายคนอาจคุ้นเคยหรือได้ยินบ่อยๆ ซึ่งถือเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยที่สุดทางจิตเวชเด็กและวัยรุ่น และหากไม่ได้รับการรักษาอาจมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้
แนวทางการรักษา“สมาธิสั้น” นั้น ต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสานหลายด้านเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรค การช่วยเหลือเรื่องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การช่วยเหลือด้านจิตใจสำหรับเด็กและครอบครัว การช่วยเหลือด้านการเรียน และ “การรักษาด้วยยา” ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากเพราะช่วยปรับสมดุลสารเคมีในสมอง
เมื่อพูดถึงการรักษาด้วยยา พ่อแม่ ผู้ปกครองหลายท่านอาจมีความกังวลใจหรือเข้าใจผิด คิดว่ายาที่แพทย์ใช้ในการรักษาเด็กสมาธิสั้นนั้นไป “กด” สมองเพื่อให้เด็กนิ่งขึ้นหรือซนน้อยลง จึงเกิดความลังเลไม่มั่นใจ และไม่อยากให้กินยา ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ยาจะออกฤทธิ์โดยการไป “กระตุ้น” เซลล์สมองให้หลั่งสารเคมีออกมามากขึ้นในระดับที่เด็กปกติควรจะมี และเป็นตัวที่ช่วยให้เด็กสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มีสมาธิยาวนานขึ้น เรียนหนังสือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถแสดงศักยภาพออกมาได้อย่างเต็มที่มากที่สุด
เมื่อพ่อแม่ ผู้ปกครองยอมรับและเข้าใจความสำคัญของการกินยาแล้ว จะทำอย่างไรให้เด็กๆ ยอมกินยาตามที่แพทย์แนะนำ สิ่งแรกพ่อแม่ควรพูดคุยกับเด็กว่า คิดเช่นไรที่ต้องกินยา เช่น กังวลคิดว่าตัวเองเจ็บป่วยหรืออายเพื่อนไหมที่ต้องกินยา ฯลฯ เพื่อจะได้ทราบถึงความรู้สึก พร้อมทั้งอธิบายถึงความสำคัญและความจำเป็นของการกินยา
• กรณีเด็กเล็ก
อาจยังไม่สงสัยว่าทำไมต้องกินยาจึงยอมกินตามที่พ่อแม่บอก แต่ก็อาจพบปัญหาเรื่อง “การกลืนยา” เด็กอาจกังวลกับขนาดยาหรือยังไม่เคยกินยาเม็ด คุณพ่อคุณแม่ควรช่วยฝึกเรื่องการกลืนเพิ่มเติมหรือขอความร่วมมือจากคุณครูประจำชั้นให้ช่วยดูแลเรื่องการกินยาของเด็กด้วย
• กรณีเด็กโต วัยรุ่น
วัยรุ่น ที่มีความเข้าใจ มีความคิด ความเป็นตัวตนสูงขึ้นตามวัยนั้น “บอกหนูได้แต่อย่าหลอกหนู” ควรพูดให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็กเองเมื่อกินยา เช่น ยานี้ช่วยให้ควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น สามารถจดจ่อ มีสมาธิทำในสิ่งที่ชอบได้นานขึ้น ทำให้เป็นเด็กดี น่ารัก ทำงานเป็นระเบียบเรียบร้อย พ่อแม่ภูมิใจมาก และไม่ควรหลอกเด็กว่าเป็นอย่างอื่น เช่น วิตามิน หรือไม่ควรขู่ว่าเป็นยาแก้ดื้อ เพราะจะทำให้เด็กมีทัศนคติไม่ดีต่อการกินยาได้
สิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปรับยาหรือหยุดยาเอง หากมีข้อสงสัยหรือปัญหาเพิ่มเติมควรปรึกษาแพทย์