สังเกตพฤติกรรมลูก เมื่อไหร่ต้องไปพบจิตแพทย์


พญ.ปรานี ปวีณชนา
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์

ในความคิดของคนส่วนใหญ่เมื่อพูดถึง “การพบจิตแพทย์” ดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว เนื่องจากคนมักจะเข้าใจว่าต้องเป็น “โรคจิต โรคประสาท เป็นบ้า” ถึงค่อยมารักษากับจิตแพทย์ แต่จริงๆ แล้วจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสามารถช่วยเด็กๆ ผู้ปกครองและคนรอบข้างได้มากกว่านั้น โรคหรือปัญหาที่พบในเด็กจะมีความต่างจากผู้ใหญ่หลายอย่าง หากได้รับการรักษาช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติ ผลการรักษาจะดี เพราะสมองของเด็กมีความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ การรักษาจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนและใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพที่เด็กมีอยู่ เป็นการลดปัญหาหรืออาการแทรกซ้อนที่จะเกิดตามมาในอนาคต เช่น การใช้สารเสพติด ติดเกม ก้าวร้าว เรียนไม่จบ



พบจิตแพทย์

ปัญหาที่จิตแพทย์เด็กสามารถช่วยได้ คือ


1. ปัญหาการเรียน เช่น สอบตก ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ส่งงาน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ สอนแล้วไม่จำ


2. ปัญหาพฤติกรรม เช่น ซน ไม่นิ่ง ใจร้อน ก้าวร้าว ดื้อ ซึม แยกตัว ไม่อยากไปโรงเรียน โกหก ติดเกม ติดมือถือ ถูกเพื่อนแกล้งหรือไปแกล้งเพื่อน ใช้สารเสพติด คบเพื่อนเกเร การกินการนอนผิดไปจากปกติ ปรับตัวยาก กัดเล็บ ดูดนิ้ว ดึงผม ปัสสาวะรดที่นอน พี่น้องทะเลาะกัน


3. ปัญหาด้านอารมณ์ เช่น กังวลง่าย กลัวการแยกจาก เศร้า ดูไม่มีความสุข หงุดหงิด คุมอารมณ์ไม่ได้


4. ปัญหาพัฒนาการล่าช้า เช่น ไม่พูด พูดช้า พูดไม่ชัด พูดแล้วคนอื่นไม่เข้าใจ ไม่เล่นหรือเข้ากลุ่มกับเด็กคนอื่น ใช้มือไม่คล่อง งุ่มง่าม ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าวัย


5. ปัญหามีอาการทางกายเรื้อรังที่ไม่พบสาเหตุชัดเจน เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ใจสั่น หายใจเร็ว


6. ปัญหาจากสิ่งแวดล้อม เช่น คนในบ้านมีวิธีการเลี้ยงดูที่ต่างกัน พ่อแม่ทะเลาะกัน หย่าร้าง มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว คนใกล้ชิดป่วยหนักหรือประสบอุบัติเหตุร้ายแรง



พบจิตแพทย์

เนื่องจากเด็กมีข้อจำกัดเรื่องการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและมีทักษะการใช้ภาษาอธิบายเรื่องต่างๆ ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ นอกจากนี้เด็กไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไรอยู่ ดังนั้นเมื่อเด็กเครียด ไม่มีความสุข ต้องการความช่วยเหลือ เด็กจะไม่สามารถบอกอธิบายได้ตรงๆ สิ่งที่ผู้ใหญ่จะสังเกตได้ คือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมีความแตกต่างไปจากเด็กในวัยเดียวกัน เมื่อเด็กเข้าสู่กระบวนการประเมินและรักษา จิตแพทย์จะซักประวัติจากผู้ปกครอง และพูดคุยกับเด็กด้วยวิธีการที่เหมาะกับเด็กแต่ละคน เช่น ผ่านการเล่น นอกจากนี้ต้องขอข้อมูลจากที่โรงเรียนเพิ่มเติม เมื่อได้ข้อมูลที่มากพอต่อการวินิจฉัยและการวางแผนรักษา จิตแพทย์จะพูดคุยกับผู้ปกครองเรื่องแนวทางในการรักษาและติดต่อประสานงานกับคนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การช่วยเหลือเด็กเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ขอความร่วมมือจากคุณครูให้ช่วยเด็กในห้องเรียน การรักษาให้เด็กอาการดีขึ้นต้องใช้หลายวิธีร่วมกันและทำต่อเนื่องถึงจะได้ผลดี เช่น การกินยา ปรับพฤติกรรม ปรับสภาพแวดล้อม กระตุ้นพัฒนาการ ฝึกพูด ฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ฝึกทักษะสังคม ฝึกการจัดการกับความโกรธ






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม