ไขปัญหายารักษาโรคสมาธิสั้นในเด็ก


ภญ.ปภินทิพย์ ธนพัตจรูญพงษ์
เภสัชกร โรงพยาบาลมนารมย์


จากคำถามมากมายเกี่ยวกับการใช้ยาในเด็กสมาธิสั้นที่หลายๆ คนสงสัยและสอบถามกันเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น ทำไมถึงต้องกินยา การรับประทานยาช่วยทำให้เรียนดีขึ้นจริงๆ หรือเปล่า หากรับประทานยาไปนานๆ จะส่งผลข้างเคียง หรือทำให้เกิดการดื้อยาหรือไม่ เภสัชกรมีคำตอบค่ะ

โรคสมาธิสั้นในเด็ก


ยาช่วยให้สมาธิดีขึ้นจริงหรือ
โรคสมาธิสั้น เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาท บริเวณสมองส่วนหน้า ถูกหลั่งออกมาน้อยผิดปกติ จึงทำให้เด็กมีอาการหุนหันพลันแล่น อยู่ไม่นิ่ง ขาดสมาธิ ทำให้ส่งผลมีแนวโน้มเรียนรู้ช้า การรักษาด้วยยาจึงมีเป้าหมาย เพื่อ กระตุ้นสมองส่วนหน้าให้หลั่งสารสื่อประสาทมากขึ้น สมองจึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โรคสมาธิสั้นในเด็ก


แพทย์ใช้ยารักษาอย่างไร
โดยทั่วไป แพทย์มักให้การรักษาด้วยยา ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยยากลุ่มหลักที่ใช้ในโรคสมาธิสั้น เป็นยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทเป็นหลัก จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มยาที่ออกฤทธิ์สั้น จะออกฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น ตัวยา Ritalin 10 มิลลิกรัม โดยแพทย์มักสั่งใช้ให้รับประทานก่อนเวลา ที่จะต้องทำกิจกรรมประมาณ 30 นาที ในช่วงเช้า และอาจให้รับประทานยาซ้ำในช่วงบ่าย ทั้งนี้แพทย์จะไม่ให้รับประทานยาในช่วงเย็น อาจจะทำให้เด็กไม่สามารถนอนหลับในช่วงกลางคืนได้ ในขณะที่ยาที่ออกฤทธิ์ยาว มักออกฤทธิ์อยู่ที่ประมาณ 8-12 ชั่วโมง ดังนั้นแพทย์จึงสั่งใช้แค่วันละ 1 ครั้ง ขณะที่ยาอื่นๆ เช่น ยาต้านเศร้า อาจถูกพิจารณาใช้ ในกรณีที่เด็กมีปัญหาในด้านอื่นร่วมด้วย



โรคสมาธิสั้นในเด็ก


ต้องกินยาทุกวันหรือเปล่า
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์มักให้เด็กรับประทานยา เฉพาะวันที่จะต้องไปโรงเรียน โดยให้หยุดยาวันเสาร์ อาทิตย์ ทั้งนี้อาจขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์อีกครั้งหนึ่ง โดยดูตามความเหมาะสมของกิจกรรม ที่ผู้ป่วยต้องทำในแต่ละวัน ร่วมกับความรุนแรงของอาการสมาธิสั้น

กินยานานๆ ติดไหม ดื้อยาหรือเปล่า
จากการวิจัยพบว่า ยารักษาโรคสมาธิสั้น ไม่ทำให้เกิดการดื้อยาหรือติดยา แม้จะรับประทานยาในขนาดสูงเป็นระยะเวลานาน ผู้ปกครองควรดูแลให้เด็กรับประทานยา ตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อผลสูงสุดในการรักษา



โรคสมาธิสั้นในเด็ก



สังเกตอาการข้างเคียงของยา
อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อยในกลุ่มยารักษาโรคสมาธิสั้น เช่น อาการเบื่ออาหารและอาการปวดท้อง ในเรื่องของอาการเบื่ออาหารมักจะเกิดขึ้น ในช่วงระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์ โดยเมื่อยาหมดฤทธิ์ เด็กมักจะหิวและรับประทานข้าวได้ตามปกติ ซึ่งผู้ปกครองควรสังเกตว่าเมื่อไหร่ยาจะหมดฤทธิ์ และจัดหาอาหารให้เด็กรับประทานในช่วงเวลานั้น เพื่อป้องกันน้ำหนักตัวของเด็กลดลง ในส่วนของเรื่องอาการปวดท้อง มักจะเกิดขึ้นแค่ระยะเวลาแรก หรือสัปดาห์แรกที่เพิ่งเริ่มยา ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยการให้รับประทานยาหลังอาหารทันที สำหรับอาการข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจพบได้อีก เช่น นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน สามารถแก้ไขได้ โดยการปรับเปลี่ยนเวลารับประทานยาให้เร็วมากขึ้น อีกอาการที่สามารถพบได้ คือ อาการปวดหัว มักจะเกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์แรกที่เพิ่งเริ่มยา และจะสามารถดีขึ้นได้เอง หลังจากรับประทานยาไประยะเวลาหนึ่ง


กินยาแล้ว ทำไมเด็กดูซึมๆ
เนื่องจากยากลุ่มสมาธิสั้น ออกฤทธิ์โดยการ เข้าไปกระตุ้น สารสื่อประสาทให้หลั่งมากขึ้น ทำให้เด็กมีสมาธิมากขึ้น จึงเห็นว่าเด็กนิ่งขึ้น ซึ่งในมุมมองของผู้ปกครอง อาจดูเหมือนว่า เด็กมีอาการซึมลง ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เด็กมีสมาธิในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ มากขึ้น แตกต่างจากอาการซึมที่เด็กมักมีอาการเหม่อลอย รู้สึกคล้ายง่วงตลอดเวลา หรือตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวลดลง หวังว่าเภสัชกรจะสามารถตอบคำถาม ไขข้อข้องใจที่หลายๆ คนมีเกี่ยวกับการใช้ยาในโรคสมาธิสั้นในเด็กได้ หากใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในโรคจิตเวชสามารถส่งคำถามมาให้เภสัชกรช่วยตอบได้นะคะ






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม