เตรียมตัวอย่างไร เมื่อต้องไปพบจิตแพทย์


โชติกา ไกรนิษฐ์
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


ปัจจุบันการไปพบจิตแพทย์เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น คนที่ไปพบจิตแพทย์ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญหาสุขภาพจิตร้ายแรงเท่านั้น แต่อาจไปเพื่อขอคำปรึกษาในการดำเนินชีวิตก็เป็นได้

ส่วนการตัดสินใจไปพบจิตแพทย์หรือไม่นั้น ให้ชั่งน้ำหนักความทุกข์ที่เกิดขึ้นและจะดำเนินต่อไป เมื่อไม่ได้รับการดูแล เยียวยา รักษาที่ถูกต้องเหมาะสม เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะไปพบจิตแพทย์ แนะนำให้ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ซึ่งสามารถใช้ได้กับทั้งตนเองและคนใกล้ตัวค่ะ



พบจิตแพทย์


สำรวจจิตใจและอาการ


สำรวจความรู้สึกของตนเองและสังเกตอาการ เมื่อรู้สึกแย่จนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นเวลานาน เช่น กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน ไม่อยากทำงาน ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดฆ่าตัวตาย วิตกกังวลเกินเหตุ จนมีผลต่อการตัดสินใจหรือการกระทำหลายๆ อย่าง

บางคนที่มีปัญหาการเรียน การปรับตัวกับความเครียด การทำงาน การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น หรือเมื่อสังเกตว่าคนใกล้ตัวมีความคิด อารมณ์ หรือพฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม หรือผิดไปจากคนอื่นในสังคมอย่างเห็นได้ชัด เช่น พูดคนเดียว แยกตัว ซึมลง มีความเชื่อบางอย่างไม่สมเหตุผล หงุดหงิด เกรี้ยวกราดง่ายผิดปกติ จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเขาเองหรือคนรอบข้าง รวมถึงมีการใช้ยาหรือสารเสพติด



พบจิตแพทย์



เตรียมตัว


ค้นหาข้อมูลว่ามีจิตแพทย์อยู่ที่ไหนบ้าง หรือมีจิตแพทย์ประจำอยู่หรือไม่ในวันที่สะดวกไปพบ โดยการโทรสอบถามหรือตรวจสอบทางเว็บไซต์ ไม่ว่าเป็นโรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัด โรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต สังกัดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สังกัดโรงเรียนแพทย์ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เพื่อจะได้สำรวจเส้นทางก่อนไปและเตรียมพาหนะในการเดินทางด้วย

ทั้งนี้ ควรเป็นโรงพยาบาลที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก เพราะอาจต้องพบแพทย์มากกว่า 1 ครั้ง



พบจิตแพทย์



เตรียมของ


จัดเตรียมเอกสารสำคัญ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน หรือสูติบัตร (กรณีเด็กและวัยรุ่น) ข้อมูลประวัติการรักษาที่เดิม (ถ้ามี) ใบส่งตัวจากโรงพยาบาลต้นสังกัด บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรแสดงสิทธิ์การรักษา กรณีต้องการใช้สิทธิ์เบิกจ่ายของประกันสังคม มิเช่นนั้นอาจต้องชำระค่ารักษาพยาบาลเอง รวมถึงการเตรียมยา ซึ่งเป็นยาที่รับประทานประจำ จิตแพทย์จะได้มีข้อมูลในการวางแผนช่วยเหลือได้อย่างต่อเนื่อง



พบจิตแพทย์



เตรียมญาติ


การพาญาติ คนใกล้ชิด หรือเพื่อนสนิทไปด้วย จะมีประโยชน์กับจิตแพทย์ผู้รักษา เพราะบุคคลเหล่านั้นสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วย ในเรื่องที่ตัวผู้ป่วยเอง อาจไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลให้จิตแพทย์ใช้ในการวินิจฉัยโรคและให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยผู้ที่ไปด้วยจะต้องช่วยรับฟังคำแนะนำจากจิตแพทย์ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร และคนใกล้ชิดจะมีส่วนช่วยดูแลอย่างไร

หากไม่สามารถไปรับบริการยังสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์ได้ ก็สามารถขอรับคำปรึกษาเบื้องต้นกับแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปใกล้บ้าน หรือแพทย์ประจำตัวก่อนได้ หากจำเป็นต้องพบผู้เชี่ยวชาญ แพทย์จะพิจารณาส่งพบจิตแพทย์ต่อไป

ส่วนใครที่กังวลเรื่องผู้อื่นจะทราบว่ามาพบจิตแพทย์ ก็ไม่ต้องกังวลใจ เพราะทุกสถานพยาบาลมีนโยบายรักษาความลับของผู้ไปขอรับการปรึกษาเสมอ ซึ่งจะไม่เปิดเผยข้อมูลหากท่านไม่ยินยอม

พบจิตแพทย์




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม