โรคจิตเภท (Schizophrenia)


พญ.วรลักษณา ธีราโมกข์
ผู้อำนวยการฝ่ายคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์

โรคจิตเภท คืออะไร
โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ กลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเริ่มเป็นเมื่ออายุประมาณ 14-16 ปี หรือช่วงปลายวัยรุ่น โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร



โรคจิตเภท เกิดจากอะไร
เชื่อว่ามีสาเหตุมาจากทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ดังนี้
ด้านร่างกาย
ทางพันธุกรรม ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมากยิ่งมีโอกาสสูง จากความผิดปกติของสมอง โดยสารเคมีในสมองมีความผิดปกติและจากโครงสร้างของสมองบางส่วนที่มีความผิดปกติเล็กน้อย
ด้านจิตใจ
จากความเครียดในชีวิตประจำวัน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วย การใช้อารมณ์กับผู้ป่วย การตำหนิ มีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรหรือจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากไปก็มีผลต่อการกำเริบของโรคได้


โรคจิตเภท มีอาการอย่างไร

โรคจิตเภท คืออะไร


อาการเริ่มต้นของโรคจิตเภท
อาจเกิดในแบบเฉียบพลันทันที หรือเกิดแบบค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ในกรณีที่อาการเริ่มต้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จะมีอาการเริ่มต้นอย่างช้าๆ อาจมีอาการสับสน มีความรู้สึกแปลกๆ ไม่อยู่ในความเป็นจริง อาการจะค่อยๆ มากขึ้น ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างรู้สึกว่าผู้ป่วยเปลี่ยนไปจากบุคลิกภาพเดิม เช่น แยกตัว ไม่อยากสุงสิงกับใครมีอาการระแวงคนอื่น มีปัญหาการนอนหลับ ไม่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงาน การเรียน ได้เหมือนปกติ ค่อยๆ หมดความสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัว รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยส่วนตัว อาการเหล่านี้ เป็นอาการเริ่มต้นที่ช่วยเตือนว่า อาจจะมีการเริ่มต้นของโรคจิตเภทแล้ว

สิ่งที่สำคัญที่ควรทำ คือ การปรึกษาแพทย์เพื่อรับการบำบัดรักษาแต่เนิ่นๆ ซึ่งช่วยให้การรักษาได้ผลดีกว่าการปล่อยไว้นานจนเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรัง โดยลักษณะอาการแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ได้แก่
อาการหลงเชื่อผิด
เป็นความเชื่อของผู้ป่วยที่ผิดไปจากความเป็นจริง เช่น คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย ระแวงว่าตนจะถูกวางยาพิษ คิดว่าตนส่งกระแสจิตได้
ความคิดผิดปกติ
ผู้ป่วยคิดแบบมีเหตุผลอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ทำให้คุยกับคนอื่นไม่เข้าใจ ผู้ป่วยมักพูดไม่เป็นเรื่องราว พูดไม่ต่อเนื่อง เปลี่ยนเรื่องพูดโดยไม่มีเหตุผล
ประสาทหลอน
โดยผู้ป่วยคิดว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น หูแว่วได้ยินเสียงคนมาพูดด้วยทั้งๆ ที่ไม่มีใครพูดด้วย เห็นภาพหลอน มองเห็นวิญญาณ
มีพฤติกรรมผิดปกติ
โดยมักเกี่ยวข้องกับความคิดและความเชื่อที่ผิดปกติ เช่น ทำร้ายคนอื่น อยู่ในท่าแปลกๆ ซ้ำๆ หัวเราะหรือร้องไห้สลับกันเป็นพักๆ

2. กลุ่มอาการที่ขาดหรือบกพร่องไปจากคนปกติทั่วไป ได้แก่
เก็บตัว ซึม ไม่อยากพบปะผู้คน แยกตัวเอง
ไม่ดูแลตัวเอง ไม่สนใจเรื่องการแต่งกาย กลางคืนไม่นอน
ไม่มีความคิดริเริ่ม เฉื่อยชาลง ไม่ทำงาน นั่งเฉยๆ ได้ทั้งวัน ผลการเรียนหรือการทำงานตกต่ำ
พูดน้อย ใช้เวลานานกว่าจะตอบ พูดจาไม่รู้เรื่อง เนื้อความไม่ปะติดปะต่อกัน
การแสดงออกทางอารมณ์ลดลงมาก ไร้อารมณ์ มักมีสีหน้าเฉยเมย ไม่มีอาการยินดียินร้าย


ในระยะอาการกำเริบ อาการส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มอาการที่เพิ่มมากกว่าคนปกติทั่วไป ส่วนกลุ่มอาการที่ขาดหรือบกพร่องไป จากคนปกติทั่วไป มักพบในระยะหลังโรค หากท่านหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา

โรคจิตเภท มีการดูแลรักษาอย่างไร
การรักษาด้วยยา เพื่อควบคุมอาการและลดการกำเริบซ้ำของโรค
การฟื้นฟูสภาพจิตใจ โดยฝึกการเข้าสังคมและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย
การทำจิตบำบัด โดยผู้เชี่ยวชาญพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าใจตนเองและปัญหาของตนเองมากขึ้น
ครอบครัวบำบัด โดยแพทย์เป็นผู้ให้ความรู้ในเรื่องโรคและสิ่งที่ญาติควรปฏิบัติต่อผู้ป่วย
กลุ่มบำบัด เป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มระหว่างผุ้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยมีเพื่อนคอยสนับสนุนให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

หลักทั่วไปในการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท
เข้าใจผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจสร้างความรำคาญเดือดร้อน จึงควรให้อภัยไม่ถือโทษผู้ป่วย ไม่ควรโต้เถียงกับ
ผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการทางจิต แต่ควรแสดงความเห็นใจในความทุกข์ที่ผู้ป่วยได้รับจากอาการทางจิต รวมทั้งเสนอความ ช่วยเหลือด้วยความอดทน
กระตุ้น แต่ไม่บังคับ ความเครียดมีส่วนทำให้โรคจิตเภทกำเริบได้ จึงไม่ควรมุ่งหวังหรือผลักดันผู้ป่วยมากเกินไป แต่การปล่อยปละละเลยก็ทำให้อาการแย่ลงได้เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือ กระตุ้นแต่ไม่บังคับ เช่น กระตุ้นให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเอง ช่วยทำงานบ้านอย่างง่ายๆ โดยไม่ใช้การบังคับ และควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียนผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
ดูแลผู้ป่วย การดูแลผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ จึงควรให้ความดูแลผู้ป่วยเรื่องการกินยาให้ครบ รวมทั้งการดูแลที่เหมาะสมต่อไป







  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์ โรคแพนิค