สมาธิสั้นในวัยรุ่นและวัยทำงาน


แพทย์หญิงสุภัจฉรีย์ เพชรวิสัย
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์


สมาธิสั้นคืออะไร กลุ่มอาการด้านการขาดสมาธิจดจ่อ (Inattentive) และกลุ่มอาการใจร้อนหุนหันพลันแล่น (Hyperactivity-Impulsivity) โดยทำให้เกิดความเดือดร้อนในการจัดการชีวิตของตัวเองหรือความสัมพันธ์บางด้านอย่างเป็นประจำ โดยมากเริ่มแสดงอาการตั้งแต่วัยเด็กและมักเห็นได้อย่างชัดเจนก่อนอายุ 12 ปี

พฤติกรรมที่สังเกตได้ของอาการสมาธิสั้นในวัยรุ่นและวัยทำงาน ปัญหาการขาดสมาธิจดจ่อ (Inattentive)
• ว่อกแว่ก จดจ่อไม่ได้ ถูกรบกวนจากสิ่งเร้าได้ง่าย เช่น เรียนไปด้วยดูมือถือไปด้วย ในวัยทำงานมักชอบทำอะไรหลายๆ อย่างไปพร้อมกัน เหม่อลอยตอนประชุม จนทำให้งานขาดประสิทธิภาพ
• มีปัญหาในการเริ่มต้นทำงาน มักผัดวันประกันพรุ่งจนทำงานล่าช้า อาจส่งผลให้ดูเป็นคนไม่ค่อยสนใจงานหรือไม่รับผิดชอบ จนเป็นเหตุให้มีปัญหาการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทั้งด้านประสิทธิภาพและความสัมพันธ์
• มักมีปัญหาในการบริหารจัดการ เช่น ลืมการบ้าน ทำงานไม่เสร็จ ไม่เรียบร้อย จัดการเวลาได้ไม่ดี ไม่สามารถคงความตั้งใจไว้จนเสร็จ ในวัยทำงานอาจพบในลักษณะลืมนัดหมายสำคัญ ขาดตกบกพร่องในรายละเอียดงานจนมีความเสียหาย เป็นต้น
• มักมีปัญหาการจัดลำดับความสำคัญ ขาดการวางแผนการทำงานอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง มักเสียเวลาไปกับเรื่องที่ไม่มีสาระหรือไม่ใช่เรื่องสำคัญในตอนนั้น เช่น เล่นเกมก่อน แม้ว่ามีงานค้างอยู่
• มีทักษะการฟังไม่ดี เกิดปัญหาการฟังแล้วเข้าใจผิด ผิดนัด ละเลยความรับผิดชอบ หลงลืมบ่อย
• มาสายเป็นประจำ โดยอาจมีเหตุนำได้หลายๆ อย่าง เช่น ขาดทักษะในการจัดลำดับความสำคัญ จัดการเวลาไม่ดี เผลอว่อกแว่กไปกับสิ่งอื่นจนลืม เป็นต้น



สมาธิสั้นวัยรุ่นและวัยทำงาน


ปัญหาการใจร้อน ขาดความอดทน หรือไม่ชอบอยู่นิ่ง (Hyperactivity-Impulsivity)
• ทำอะไรรวดเร็ว หุนหันพลันแล่น วัยรุ่นจะแสดงออกเป็นความวู่วาม ไม่คิดถึงผลที่ตามมา ขาดกาลเทศะ พูดโพล่ง พูดไม่คิด จนอาจนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง ในวัยทำงานอาจเห็นความวู่วามในลักษณะขับขี่รถเร็วอย่างประมาทอยู่เป็นประจำ
• ระเบิดอารมณ์บ่อยๆ แม้กับเรื่องเล็กน้อย โกรธง่ายหายเร็ว เจ้าตัวมักรู้สึกว่าเหมือนตัวเองไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
• มักรู้สึกกระสับกระส่าย เบื่อง่าย เมื่อต้องอดทนรอ หรือต้องนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานาน เช่น การฟังบรรยาย ประชุม ฟังพระสวด เป็นต้น
• มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดได้ง่าย จากความใจร้อน อารมณ์ร้อน



สมาธิสั้นวัยรุ่นและวัยทำงาน


สาเหตุของอาการสมาธิสั้นในวัยรุ่นและวัยทำงาน

เชื่อว่าเกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ทั้งด้านร่างกาย สิ่งแวดล้อม และด้านจิตใจ
• ด้านร่างกาย พบว่ามีการทำงานลดลงของสมองส่วนหน้าที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรม ซึ่งในญาติใกล้ชิด เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก มีโอกาสเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าคนทั่วไป 4-5 เท่า
• ปัจจัยรบกวนต่อพัฒนาการสมองในช่วงตั้งครรภ์จนถึงการเจริญเติบโต เช่น แม่ได้รับควันบุหรี่หรือดื่มสุราระหว่างตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนด การสัมผัสพิษจากอาหารและสิ่งรอบตัว เช่น ตะกั่ว ปรอท ยาฆ่าแมลงและอื่นๆ
• ด้านจิตใจและสังคม เช่น ปัญหาการเลี้ยงดูไม่เหมาะสม การได้รับอิทธิพลและการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป โดยไม่มีการควบคุมที่เหมาะสม



สมาธิสั้นวัยรุ่นและวัยทำงาน



สมาธิสั้นในวันรุ่นและวัยทำงานมีการรักษามีกี่แบบ


การรักษาด้วยยา ปัจจุบันมียาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นให้มีสมาธิอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งสามารถช่วยลดอาการสมาธิสั้นได้ถึงร้อยละ 70 ซึ่งยังส่งผลในด้านลดปัญหาการควบคุมอารมณ์ ปัญหาความสัมพันธ์ และยังช่วยกลับมารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้นเพราะแก้ปัญหาชีวิตได้มากขึ้น เห็นผลลัพธ์และประสิทธิภาพในสิ่งที่ลงมือทำจนสำเร็จ ก็ช่วยให้เกิดความภูมิใจ มั่นใจและวางใจในตนเอง
การรักษาด้านจิตสังคม เน้นกระบวนการในเรื่องทำความเข้าใจตัวเอง การสร้างทักษะในการแก้ปัญหาและจัดการชีวิตได้ดียิ่งขึ้น



การดูแลตัวเองของวัยรุ่นและผู้ใหญ่สมาธิสั้น


• การยอมรับและรู้จักความเป็นตัวเรา คนที่มีสมาธิสั้นมักมีด้านสร้างสรรค์ กล้าลองที่จะแตกต่าง พูดคุยสนุก กล้าแสดงออก และเป็นตัวของตัวเอง
• เริ่มต้นแก้ไขข้อบกพร่องทีละเล็กอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น ปัญหาการขี้ลืม อาจเริ่มจากการจดบันทึกทันทีที่รู้ การใช้เทคโนโลยีตั้งเตือน เริ่มการวางแผนและแบ่งเวลาทำทีละส่วนอย่างสม่ำเสมอ โดยเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เริ่มทำจากก้าวเล็กๆ ไปเรื่อยๆ ผลสำเร็จต้องมาถึงแน่ ในวัยเรียนอาจเริ่มด้วยการเคลียร์การบ้านก่อนไปเล่น ส่วนในวัยทำงานก็จัดหาเวลาเรียงลำดับความสำคัญในชีวิตช่วงนั้น ระหว่างงาน ครอบครัว ตัวเรา สุขภาพ เพื่อให้ชีวิตมีสมดุลที่พอดีกับตัวเรา
• ใจเย็นๆ เมื่อต้องรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นอย่างใจ ตั้งสติ คิดรับมือ แก้ไขปัญหา รอให้อารมณ์เย็นลงก่อน



สมาธิสั้นวัยรุ่นและวัยทำงาน



การอยู่ร่วมกับผู้ที่มีสมาธิสั้นในฐานะคนรัก ครอบครัว หรือผู้ร่วมงาน

ใช้ความเข้าใจเป็นพื้้นฐาน ว่าคนที่มีปัญหาสมาธิมีจุดดีและจุดบกพร่องบางด้านได้ เช่นเดียวกันกับเราทุกคน การสื่อสารที่ชัดเจนและเป็นประสิทธิภาพ การช่วยกระตุ้นเตือนซ้ำอีกครั้งเมื่อใกล้กำหนดหากเป็นเรื่องสำคัญมาก ตัวอย่างเช่น การมอบหมายเป็นเอกสารที่มีรายละเอียดงาน กำหนดส่ง แทนการบอกเล่าปากเปล่า สอบทานความเข้าใจก่อน เป็นต้น รวมไปถึงใจเย็นๆ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ต่างคนต่างมีอารมณ์ ตั้งสติและรอให้อารมณ์เย็นลงค่อยพูดคุยกันใหม่ การคุยกันตอนโมโหจะยิ่งกระตุ้นอารมณ์ให้โมโหแรงขึ้น นำไปสู่การทำลายความรู้สึกดีๆ ต่อกันได้





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม