เตรียมตัว เตรียมใจ อย่างไร เมื่อรู้ว่าคนใกล้ตัวเป็นโรคจิตเภท


อภิชญา พลเยี่ยม
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


โรคจิตเภท (Schizophrenia) คือ โรคจิตชนิดหนึ่งที่มีความผิดปกติในด้านความคิด การรับรู้ และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ได้อยู่ในโลกแห่งความจริง ส่งผลเสียต่อเรื่องความสัมพันธ์ การเรียน การงานและการใช้ชีวิตประจำวัน


หากญาติพบเห็นหรือสงสัยว่าคนในครอบครัวมีลักษณะอาการคล้ายโรคจิตเภท สามารถขอคำปรึกษากับจิตแพทย์โรงพยาบาลใกล้บ้านในการดูแลรักษาหรือวินิจฉัยแยกโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ได้


สิ่งที่ญาติต้องรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภท คือ อาการ โดยอาการนำเป็นอาการที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะยังไม่ได้แสดงอาการชัดเจน ได้แก่ เก็บตัว พูดน้อยลง ไม่ค่อยสนใจดูแลสุขอนามัยของตนเอง และอาการแสดงที่พบบ่อย ได้แก่

สิ่งที่ญาติต้องรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภท


• อาการประสาทหลอน ได้แก่ หูแว่ว อาจสังเกตได้จากการที่ผู้ป่วยพูดคุยโต้ตอบอยู่คนเดียว ทั้งที่จริงๆ ไม่มีใครอยู่บริเวณนั้นเลย เห็นภาพหลอน ผู้ป่วยอาจบอกว่า เห็นเงา หรือเห็นผี หรือเห็นสัตว์ประหลาดและมักแสดงอาการหวาดกลัวต่อภาพที่เห็น
• อาการหลงผิด ได้แก่ อาการหลงผิดคิดว่ามีคนคิดปองร้าย คอยติดตาม หลงผิดว่าในห้องมีคนมาแอบติดกล้องวงจรปิด มีคนอื่นหรือคนในโทรทัศน์เอาเรื่องราวของตนเองไปกล่าวถึง หรือหลงผิดว่ามีคนวางยาในอาหาร ทำให้ไม่ยอมกินอะไรเลย เป็นต้น
• ความคิดที่ผิดปกติ ไม่เป็นระบบแบบแผน สามารถสังเกตได้จากการพูดและการเขียน ได้แก่ พูดจาสับสน ฟังแล้วไม่เข้าใจ ประโยคแต่ละประโยคไม่เชื่อมโยง จับใจความไม่ได้ เป็นต้น
• พฤติกรรมแปลกประหลาด ซึ่งคนทั่วไปที่พบเห็นสามารถบ่งบอกว่ามีความผิดปกติ เช่น แก้ผ้าเดินรอบหมู่บ้าน เป็นต้น


สิ่งที่ญาติต้องรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภท

ทั้งนี้ ในการดูแลผู้ป่วยและการดูแลใจตนเองของญาติ สามารถทำได้ดังนี้
1. ทำความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ใช่ตัวตนของผู้ป่วย แต่เป็นโรคๆ หนึ่ง เป็นภาวะการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นได้และต้องรักษาให้เร็วที่สุด
2. รับประทานยาและมาพบแพทย์ตามนัดสม่ำเสมอ หากเกิดผลข้างเคียงใดๆ จากยา ให้ปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาปรับยา หลีกเลี่ยงการปรับยาเองหรือหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการของผู้ป่วยกลับมากำเริบหรือแย่ลงได้
3. สำหรับครอบครัว หลี่กเลี่ยงใช้คำพูด หรืออารมณ์ที่รุนแรงต่อกัน เพราะจะกระตุ้นให้อาการของผู้ป่วยกลับมากำเริบได้ และหากสังเกตว่าอาการของผู้ป่วยแย่ลงจากเดิม สามารถพาผู้ป่วยมาพบแพทย์ก่อนถึงวันนัดได้


ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการก้าวร้าว อาละวาดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น ญาติ หรือผู้พบเห็นสามารถแจ้งตำรวจ หรือเจ้าพนักงานฝ่ายปกครอง เพื่อช่วยนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลของรัฐที่ใดก่อนก็ได้ เพื่อช่วยการรักษาในเบื้องต้น (ตามพรบ.สุขภาพจิต 2551) ส่วนการดูแลใจของญาติ หากญาติหรือผู้ดูแลมีความเครียดจากการที่ต้องดูแลผู้ป่วยจิตเวช อาจมีการผลัดเปลี่ยนผู้ดูแล ทำกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลายผ่อนคลาย แต้ถ้ายังไม่ดีขึ้นสามารถขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ในโรงพยาบาลใกล้บ้านได้






  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม