นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
โรคจิตเภท เป็นความผิดปกติทางจิตที่พบได้บ่อย ในประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 4-5 แสนคน เป็นโรคเรื้อรัง ผู้ที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ต้องมีอาการนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป อาการของโรคจิตเภท สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มอาการทางบวกและกลุ่มอาการทางลบ สำหรับกลุ่มอาการทางบวก ได้แก่ อาการประสาทหลอน เช่น หูแว่ว ได้ยินเสียงคนพูดหรือด่าว่า อาการพูดคนเดียว เป็นต้น อาการหลงผิด เช่น คิดว่ามีคนมาปองร้าย คิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษ เป็นผู้สร้างโลก เป็นพระพุทธเจ้ากลับชาติมาเกิด มาโปรดสัตว์ เป็นต้น ส่วนอาการทางลบ ได้แก่ อาการเฉยเมย พูดน้อยหรือไม่พูด ขาดความสนใจในกิจกรรมทุกชนิด นั่งเหม่อลอยได้ทั้งวัน ไม่สนใจดูแลตัวเอง ไม่อาบน้ำ เนื้อตัวสกปรก เป็นต้น อาการผิดปกตินี้เมื่อเป็นอยู่นานก็จะกระทบต่อการดำเนินชีวิต เป็นภาวะเสื่อมถอย ไม่สามารถรับผิดชอบการเรียน หน้าที่การงาน ครอบครัว หรือแม้กระทั่งตัวเองได้
ส่วนสาเหตุของโรคจิตเภท นั้นยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า สาเหตุใหญ่เกี่ยวข้องกับระดับของสารเคมีในสมองผิดปกติซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม ภาวะแทรกซ้อน ระหว่างตั้งครรภ์ที่มีผลต่อสมองของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ปัจจัยด้านจิตใจและสังคม เช่น บรรยากาศในครอบครัวและสังคมที่สับสน ไม่อบอุ่น มีภาวะกดดันมาก ก็อาจมีส่วนกระตุ้นความผิดปกติให้แสดงอาการออกมาด้วย
สำหรับการดำเนินโรค อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยเริ่มเป็นครั้งแรกในผู้ชาย มักพบในช่วง 15-25 ปี ส่วนผู้หญิงอยู่ในช่วง 20-30 ปี อาการเริ่มต้นส่วนใหญ่มักเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็มีบางรายก็มีอาการมากแบบเฉียบพลันเลย อาการผิดปกติแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น แยกตัวออกจากสังคม ขาดความสนใจในการเรียน การงาน ไม่ดูแลสุขอนามัย มีพฤติกรรมผิดปกติ พูดแปลกๆ พูดคนเดียว มีวิธีคิดหรือความเชื่อแปลกๆ ญาติๆ จะเห็นว่าผู้ป่วยต่างไปจากคนเดิม นานเข้าอาการจะชัดเจนขึ้น คือ มีหูแว่ว ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง การดำเนินโรคของผู้ป่วยแต่ละคนจะแตกต่างกัน ความรุนแรงไม่เท่ากัน บางคนเป็นๆ หายๆ บางคนก็สามารถกลับไปเรียนหนังสือหรือทำงานได้ ปัจจัยที่สำคัญต่อการดำเนินโรคคือ การติดตามการรักษา สม่ำเสมอและการเอาใจใส่ของครอบครัว
ดูแลอย่างไร? เมื่อคนในบ้านเป็น “โรคจิตเภท”
โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง การรักษาหลัก คือ การใช้ยาเพื่อช่วยให้ระดับสารเคมีในสมองกลับมาเป็นปกติ ซึ่งจะทำให้การสื่อสารระหว่างผู้ดูแลและผู้ป่วยทำได้ง่ายขึ้น การร่วมมือในการรักษาของผู้ป่วยทำได้ดีขึ้น ดังนั้น ครอบครัวจึงควรดูแลเรื่องการกินยาของผู้ป่วยให้ตรงเวลา และสม่ำเสมออย่าให้ขาด พาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อประเมินอาการและรับคำแนะนำหรือบางครั้งอาจต้องมีการปรับขนาดหรือชนิดของยาให้เหมาะสมกับอาการ
ครอบครัวจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ นอกจากการดูแลเรื่องการพบแพทย์และยาแล้ว เพื่อที่จะประคับประคองให้ผู้ป่วยกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ สมาชิกในครอบครัวจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือ กระตุ้นผู้ป่วยเรื่องหน้าที่ความรับผิดชอบ แต่อย่าคาดหวังการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ต้องใช้ความอดทน ไม่ใช้อารมณ์ เช่น ด่าว่าผู้ป่วยว่านิสัยไม่ดี ขี้เกียจ แต่ควรใช้วีธีค่อยเป็นค่อยไป ให้โอกาสผู้ป่วยในการปรับตัว ถ้าเป็นไปได้ก็ให้ผู้ป่วยมีโอกาสร่วมกิจกรรมกับครอบครัว ไปเที่ยวสัมผัสธรรมชาติ พักผ่อนสมองเพื่อให้จิตใจได้รู้สึกผ่อนคลาย สบายใจขึ้น
บรรยากาศของครอบครัวและการเอาใจใส่ผู้ป่วย บรรยากาศของครอบครัวและการเอาใจใส่ผู้ป่วยของสมาชิกในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อผลลัพธ์ของการรักษาว่าจะดีขึ้นเร็วหรือช้า นอกจากนี้คนในสังคมก็มีส่วนช่วยได้โดยทำความเข้าใจถึงโรคจิตเภท ให้ความเห็นใจแก่ครอบครัวที่มีสมาชิกป่วยด้วยโรคดังกล่าว และให้ความช่วยเหลือในทุกทางที่จะทำได้ ก็จะช่วยทำให้สังคมไทยเราน่าอยู่มากขึ้น