พรทิพย์ โพธิ์มูล
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์
เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกาย สังคม และจิตใจ โดยธรรมชาติผู้สูงอายุมีการปรับและพัฒนาองค์ประกอบของจิตใจในระดับที่แตกต่างกันไป
มักพบบ่อยๆ ว่า ผู้สูงอายุมีปัญหาทางด้านสังคมและจิตใจซึ่งเป็นการปรับตัวเชิงลบ การสังเกตปัญหาสุขภาพใจในผู้สูงอายุ สังเกตง่ายๆ
ได้จากการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การรับประทานหรือการนอนที่ผิดปกติ การแสดงออกทางพฤติกรรมหรืออารมณ์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงมีอาการเจ็บป่วยทางกายที่ไม่ทราบสาเหตุ
เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจที่ดี บุคคลในครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมในการปฎิบัติตัวต่อผู้สูงอายุ ดังนี้
1. ช่วยให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า มีความสำคัญ
เช่น การขอคำแนะนำ คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ การให้มีส่วนร่วมในการดูแลครอบครัวโดยให้เหมาะสมกับสุขภาพ
2. ชักชวนพูดคุยและรับฟัง
ถึงส่วนดีหรือเหตุการณ์ประทับใจในอดีตของผู้สูงอายุอย่างเต็มใจ ทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่ายังมีคนชื่นชมในชีวิตของตนอยู่
3. ให้ความเคารพ ยกย่อง และนับถืออย่างสม่ำเสมอ
ตามขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของไทย เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัวขอพรผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์ เป็นต้น
4. ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่สนใจต่างๆ ตามความเหมาะสม
เช่น ไปวัด ทำบุญ ฟังเทศน์ โดยลูกหลานควรเตรียมข้าวของต่างๆ ให้ด้วยความเต็มใจ
5. ช่วยให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสพบปะสังสรรค์กับญาติใกล้ชิดและเพื่อนร่วมวัยเดียวกันบ้าง
ด้วยการพาไปเยี่ยมเยียนญาติ หรือชวนญาติๆ มาที่บ้าน รวมถึงพาเข้าสังคมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้สูงอายุอื่นๆ เช่น พาไปชมรมผู้สูงอายุต่างๆ
6. ให้อภัยในความหลงลืมและความผิดพลาด
ที่ผู้สูงอายุกระทำและควรแสดงความเห็นอกเห็นใจที่เหมาะสมตามสถานการณ์
7. สั่งสอนอบรมให้ลูกหลานยังคงเคารพนับถือ
ไม่แสดงให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าเป็นภาระ หมดคุณค่า เป็นที่ไม่ต้องการ แต่ยังเป็นบุคคลที่เคารพนับถือของคนในครอบครัวที่อาวุโสน้อยกว่า
สมาชิกในครอบครัวทุกคนควรร่วมส่งเสริมและใส่ใจสุขภาพใจของผู้สูงอายุ และหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ทั้งด้านจิตใจ อารมณ์
รวมถึงพฤติกรรม เมื่อพบความผิดปกติ ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์