สมองเสื่อม...คืออะไร


สมองเสื่อม...คืออะไร

ในอดีตเรามักเชื่อกันว่า อาการหลงลืมในผู้สูงอายุ เป็นเรื่องปกติของคนที่มีอายุมากขึ้น เป็นการหลงลืมตามวัยยิ่งมีอายุมากขึ้น ก็จะยิ่งหลงมากขึ้น แต่ความเชื่อดังกล่าวไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด ยังมีผู้ป่วยอีกส่วนที่มีอาการสมองเสื่อม ซึ่งเกิดจากทำงานของสมองใหญ่ผิดปกติ ทำให้มีผลต่อการประกอบกิจวัตรประจำวัน รวมทั้งพฤติกรรม บุคลิกภาพและอารมณ์


สาเหตุของสมองเสื่อม


1. สมองเสื่อมจากวัยชรา มักพบในคนสูงอายุวัย 65-70 ปีขึ้นไป
2. โรคอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อม ที่เกิดขึ้นก่อนวัยอันควร คืออายุไม่เกิน 65 ปี การวินิจฉัยที่แน่นอน ต้องทำการตรวจชิ้นเนื้อสมอง เราจะพบพยาธิสภาพของเซลสมองเสื่อมลงเหมือนคนแก่อายุ 70-80 ปี
3. โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ มักเกิดจากหลอดเลือดเส้นเล็กๆ ทั่วไปอุดตันซ้ำๆ มานาน ทำให้เซลสมองตาย และการทำงานของสมองโดยรวมเสื่อมลง
4. ภาวะเลือดคั่งในสมองหรือเนื้องอกในสมอง เป็นโรคที่แพทย์ต้องพยายามมองหา เพราะคนไข้อาจมาด้วยอาการพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงคล้ายภาวะสมองเสื่อม บางรายสามารถรักษาให้หายได้ โดยการผ่าตัด
5. ภาวะขาดวิตามินบี 12 มักพบในคนที่ได้รับการผ่าตัด กระเพาะลำไส้มานานๆ และขาดอาหาร
6. โรคติดเชื้อที่มีผลทางสมอง เช่น ซิฟิลิส ไวรัสสมองอักเสบ ไวรัสเอดส์ ทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
7. สมองเสื่อมจากการติดสุราเรื้อรังนานๆ
8. ภาวะที่เกิดตามหลังการขาดออกซิเจน เช่น มีอาการชักซ้ำติดต่อกันนานๆ หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นเวลานานๆ


สมองเสื่อมคืออะไร

อาการที่เห็นเด่นชัดในผู้ป่วยสมองเสื่อม


มีความบกพร่องในการรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่สามารถจดจำคำพูดระหว่างการสนทนา
มีความบกพร่องในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน นึกชื่อสิ่งของไม่ออก ผิดปกติในการเรียกชื่อคน และสิ่งของ พูดไม่เป็นประโยคหรือขาดความต่อเนื่อง
มีความบกพร่องในการประกอบกิจวัตรและกิจกรรมประจำวัน ไม่สามารถทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำได้ จนในที่สุด จะมีลักษณะกลับไปเป็นเหมือนเด็กๆ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
มีบุคลิกภาพ พฤติกรรม และอารมณ์ที่ผิดแปลกไปจากเดิม อาจกลายเป็นคนเฉยเมย ไม่กระตือรือร้น โมโหฉุนเฉียวง่าย ทำอะไรซ้ำซาก
มีอาการนอนไม่ค่อยหลับ ระยะท้ายๆ อาจมีอาการทางจิต เช่น ภาพหลอน หรือหลงผิด เป็นต้น


การรักษา


ขึ้นอยู่กับสาเหตุ และการวินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะแก้ไขให้ดีดังเดิมได้ยาก ยกเว้นภาวะเลือดออกในสมอง บางกรณี สามารถรักษาให้หายได้โดยการผ่าตัด แพทย์อาจใช้ยาบำรุงสมอง เพื่อหวังผลชะลอความรุนแรงของโรคให้เสื่อมช้าลง โดยทั่วไปการป้องกันในสิ่งที่ทำได้ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เราไม่สามารถหยุดยั้งความเสื่อมตามธรรมชาติได้ แต่เราสามารถดูแลสุขภาพของเราให้ดี เช่น ควบคุมความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติอย่างสม่ำเสมอ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า หลีกเลี่ยงสารเสพติด ซึ่งจะมีผลทำลายสุขภาพในระยะยาว ไม่ส่ำส่อนทางเพศเพื่อป้องกันโรคเอดส์ ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ มีความรักความเข้าใจ ความอบอุ่นในครอบครัว ยอมรับสภาพตามความเป็นจริงไม่เคร่งเครียดเกินไป เพียงเท่านี้ก็สามารถทำให้ชีวิตมีความสุขได้ระดับหนึ่ง




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

สัญญานเตือนที่ต้องมาพบจิตแพทย์