สื่อสารอย่างไรกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์


พญ. อุมามน พวงทอง โรงพยาบาลมนารมย์




ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีปัญหาในการจำสิ่งต่างๆ และยังมีปัญหาในการพูดสื่อความต้องการได้อย่างคนปกติ หาคำพูดไม่ได้ หรือลืมว่าตนเองต้องการพูดอะไร รวมถึงการเข้าใจผู้อื่น ผู้ดูแลสามารถสื่อสารกับผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้ดีขึ้นได้อย่างไร


Alzheimers

การฟัง

“ขั้นตอนแรกและสำคัญที่สุด คือ การเป็นผู้ฟังที่ดี”

• อย่าสันนิษฐานว่าผู้ป่วยไม่เข้าใจหรือมีปัญหาการสื่อสารเพียงเพราะเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม อัลไซเมอร์ ผู้ป่วยแต่ละคนมีอาการของโรคที่แตกต่างกันออกไปเพราะฉะนั้นห้ามนินทา หรือว่าผู้ป่วยต่อหน้า



• ให้ความสนใจผู้ป่วย สบตาผู้ป่วยขณะพูดและแสดงให้เห็นว่าคุณใส่ใจกับสิ่งที่ผู้ป่วยพูด และพยายามให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการสนทนา



• ให้เวลาผู้ป่วย ในการแสดงความคิด อธิบาย และบอกความต้องการ อย่าขัดจังหวะ

• หลีกเลี่ยงการวิจารณ์หรือแก้ไข ควรพยายามฟัง และพยายามเข้าใจความหมายของสิ่งที่ผู้ป่วยพูด อาจถามซ้ำเมื่อต้องการความชัดเจน

• อย่าโต้เถียง ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับที่ผู้ป่วยพูด จงปล่อยผ่านไป การโต้เถียง ชี้แจง ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ

• พิจารณาถึงความรู้สึกของผู้ป่วย บ่อยครั้งอารมณ์ที่ผู้ป่วยแสดงออกมีความสำคัญมากกว่าคำพูด พยายามค้นหาความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังคำพูด ถึงแม้ผู้ป่วยไม่เข้าใจที่เราพูด แต่อาจเข้าใจภาษา ท่าทางที่เราปฏิบัติต่อผู้ป่วย การใช้ภาษากายและน้ำเสียงที่เหมาะสมเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะทำให้ผู้ป่วยสงบหรือมีท่าทีก้าวร้าว

• ให้กำลังใจผู้ป่วยในการอธิบาย และพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยใช้ภาษากายหรือแสดงท่าทางในการอธิบาย

• มีอารมณ์ขัน บางครั้งการหัวเราะเวลาที่ไม่เข้าใจ ก็สามารถลดความเครียดและอาจทำให้สื่อการกันได้ง่ายขึ้น


Alzheimers

การช่วยเหลือผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้เข้าใจการติดต่อสื่อสารของผู้ดูแล

เมื่อการเนินของโรคเป็นมากขึ้น การสื่อสารจะมีความท้าทายมากขึ้น เคล็ดลับในการสื่อสารให้ประสบความสำเร็จ มีดังนี้

• เข้าหาผู้ป่วยด้านหน้าเท่านั้นและบอกว่าคุณเป็นใคร



• เรียกชื่อผู้ป่วย หรือเรียกความสนใจของผู้ป่วยก่อนจะพูด และพยายามลดเสียงรบกวนต่างๆ



• พูดช้าๆ ชัดเจน ใช้คำพูดง่ายๆ ตรงไป ตรงมา ไม่ซับซ้อน อาจใช้ท่าทางประกอบการพูดเพื่อให้เข้าใจ หรืออาจใช้การให้สัมผัส มองเห็น ได้ยิน หรือกลิ่น ช่วยในการสื่อสาร เช่น ถ้าถึงเวลาอาบน้ำก็อาจบอกและพาผู้ป่วยไปที่ห้องน้ำ การบอกเฉยๆ ผู้ป่วยอาจไม่ทำตาม เพราะไม่เข้าใจความหมาย

• การพูด ไม่ควรใช้น้ำเสียงสูง เพราะผู้ป่วยแยกคำลำบาก ลดเสียงให้ต่ำลงหรือพูดด้วยเสียงปกติ การใช้คำพูดไพเราะก็จะช่วยได้มาก

• ถามคำถามทีละ 1 คำถาม

• อาจใช้คำถาม “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะถามผู้ป่วยว่าอยากดื่มอะไร อาจถามว่า อยากดื่มกาแฟหรือไม่

• ถ้าต้องการให้ผู้ป่วยทำสิ่งใด ให้บอกทีละขั้นตอนอย่างชัดเจน การบอกทุกขั้นตอนในครั้งเดียว อาจทำให้ผู้ป่วยยิ่งสับสนมากขึ้น

• ใช้ประโยคที่แสดงความรู้สึกทางบวกมากกว่าการห้ามผู้ป่วย เช่น แทนที่จะพูดว่า “อย่าไปตรงนั้น” อาจพูดว่า “มาตรงนี้กันเถอะ”

• หลีกเลี่ยงการอธิบายด้วยเหตุผลที่ยืดยาว บอกสั้นๆ และชัดเจนในสิ่งที่คุณต้องการให้ผู้ป่วยทำ

• การเขียนอาจช่วยเวลาอธิบาย ให้กรณีคำพูดอาจทำให้เกิดการสับสน

• ควบคุมอารมณ์และทัศนคติของคุณที่มีต่อผู้ป่วย เพราะความรู้สึกเหล่านี้ อาจแสดงผ่านการสื่อสารโดยไม่ตั้งใจทางการใช้น้ำเสียงหรือภาษาทางกาย

• ปฏิบัติต่อผู้ป่วยด้วยความเคารพ แสดงท่าทีที่สุภาพและไม่พูดจาที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าหรือเป็นภาระ




  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม