4 วิธีดูแลและพูดคุยกับผู้ป่วยจิตเภท (เมื่อเขามีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน)


นันทิยา พูนล้น
พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลมนารมย์


ผู้ป่วยจิตเภทที่กำลังมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน อาจทำให้ญาติหรือผู้ดูแลไม่สามารถพูดคุยหรือสื่อสารได้ง่ายนัก อาการประสาทหลอน คือ การที่ผู้ป่วยรับรู้ว่ามีบางสิ่งเกิดขึ้น แต่ความจริงไม่มีสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้น เช่น อาการหูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาพูดด้วยทั้งๆ ที่ไม่มีใครพูดด้วย และอาการเห็นภาพหลอน คือ มองเห็นคนถือมีดจะเข้ามาทำร้าย ทั้งที่ไม่มีใครอยู่ตรงนั้น ซึ่งอาการเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยอึดอัด รำคาญ หรือหวาดกลัว และเป็นปัญหาสำหรับครอบครัว คนรอบข้างในการดูแล
เราจะดูแลและพูดคุยอย่างไร เมื่อผู้ป่วยโรคจิตเภทมีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน

Schizophrenia


1. ญาติควรทำความเข้าใจลักษณะอาการ
สังเกตว่าผู้ป่วยมีอาการและการตอบสนองต่ออาการประสาทหลอนอย่างไรบ้าง เช่น ผู้ป่วยได้ยินเสียงบอกว่า มีคนจะมาทำร้าย อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวต่อบุคคลนั้น ญาติต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยให้เหมาะสม เช่น ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการให้ผู้ป่วยพบเจอกับบุคคลที่ผู้ป่วยไม่ไว้วางใจ เก็บอาวุธ อุปกรณ์ที่เป็นอันตราย ของมีคมต่างๆ ให้มิดชิด
ขณะที่มีอาการประสาทหลอน ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าสิ่งที่ตนรับรู้เป็นความจริงและสามารถถูกเบี่ยงเบนความสนใจได้ ในระหว่างที่คุยกับญาติหรือคนรอบข้าง ควรเรียกชื่อผู้ป่วย ใช้คำพูดง่ายๆ และเสียงที่ดังพอที่จะทำให้ผู้ป่วยได้ยิน ต้องไม่ใช้คำพูดในลักษณะคุกคาม แต่เป็นการประคับประคองผู้ป่วย สบตา และให้ feedback ในสิ่งที่ผู้ป่วยสนใจขณะพูดคุย ควรตอบคำถามโดยการบอกความจริง ไม่คล้อยตามหรือส่งเสริมภาวะประสาทหลอนของผู้ป่วย รวมทั้งไม่โกหกหรือตำหนิผู้ป่วยเพื่อยับยั้งอาการที่เกิดขึ้น

Schizophrenia


2. การช่วยเหลือผู้ป่วยเมื่อเผชิญภาวะประสาทหลอน
• เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูด ระบายความรู้สึก รับฟังโดยไม่ตัดสินในสิ่งที่ผู้ป่วยเล่า
• สนับสนุนให้ผู้ป่วยเล่าเรื่องราวที่เขาเผชิญ ทำให้ญาติเข้าใจและสามารถเตรียมการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งต่อผู้ป่วยหรือคนรอบข้าง
• ควรสังเกตช่วงเวลาที่ผู้ป่วยมีอาการประสาทหลอน รวมถึงเหตุการณ์ หรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก่อนมีอาการ เพื่อหาสาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยวิตกกังวล และนำไปสู่การได้ยินเสียงแว่วหรือเห็นภาพหลอน การหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้ป่วยเผชิญกับสิ่งเร้านั้นๆ ช่วยลดภาวะประสาทหลอนของผู้ป่วยลงได้
• สนับสนุนผู้ป่วยในการทดสอบความจริง เช่น ให้ผู้ป่วยสังเกตว่าคนอื่นได้ยินหรือมองเห็น เช่นเดียวกับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าคนอื่นไม่ได้ยินหรือเห็นเหมือนกับผู้ป่วย จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเพิกเฉยต่อเสียงที่ได้ยินหรือภาพที่เห็นด้วยความรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น
• พาผู้ป่วยทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำความสะอาดบ้าน เล่นดนตรี ร้องเพลง ออกกำลังกาย ทั้งนี้ควรเป็นกิจกรรมง่ายๆ ไม่ฝืนใจ ตามความชอบของผู้ป่วยแต่ละคน
• การใช้สิ่งเร้าทางการได้ยิน เช่น ให้ผู้ป่วยฟังเพลง อ่านหนังสือออกเสียงดังๆ หรือพูดคุยกับผู้อื่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากภาวะประสาทหลอนที่เกิดขึ้น

Schizophrenia


3. สังเกตและสนับสนุนให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมดูแลตนเอง เนื่องจากการรับรู้ที่แปรปรวน อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยได้

4. ดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาตามแผนการรักษาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสังเกตอาการข้างเคียงของยา หากมีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์ เพราะอาการข้างเคียงที่รุนแรงหรือรบกวน อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดรับประทานยา ซึ่งเป็นสาเหตุให้อาการประสาทหลอนกำเริบได้

อ้างอิงข้อมูลจาก

การพยาบาลจิตเวชศาสตร์ โดย ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล








  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม