จิตบำบัด รักษาโรคจิตเภทอย่างไร


นาถวีณา ดำรงพิพัฒน์สกุล
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์



โรคจิตเภท (Schizophrenia) เป็นโรคที่พบได้บ่อย โดยมีรายงานการพบเจอผู้ป่วยโรคนี้มาเป็นเวลาร่วมร้อยปี และอาจมีผู้ป่วยจำนวนมากตั้งแต่ก่อนหน้าการตั้งชื่อโรคนี้ในช่วงต้นของศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว อาการเด่นชัดของโรคนี้คือความคิดที่หลงผิด หรือมีอาการประสาทหลอน ไม่สามารถแยกแยะความเป็นจริงได้ หรือบางคนอาจมีอาการไม่พูด ไม่แสดงสีหน้าความรู้สึกเลย มีพฤติกรรมและการแสดงอารมณ์ที่ผิดปกติไปจากเดิม จนทำให้ผู้รักษานับแต่สมัยก่อนพยายามค้นคว้าหาการบำบัดที่จะตอบโจทย์เกี่ยวกับอาการเหล่านี้

จิตบำบัดรักษาโรคจิตเภท

ในยุคอดีตที่การแพทย์และความรู้ทางวิทยาศาสตร์ยังถูกจำกัดนั้น มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่าโรคจิตเภทคือการแสดงออกจากสิ่งเร้นลับที่เข้ามาในร่างผู้ป่วย การบำบัดในระยะแรกจึงเน้นไปในการทำพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อ ซึ่งผู้ทำการบำบัดส่วนมากมักไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทางสุขภาวะจิตอย่างแท้จริง อาจมีขั้นตอนหรือวิธีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ส่งเสริมการรักษาที่ถูกต้อง และส่งผลกระทบให้อาการผู้ป่วยเลวร้ายลง รวมถึงยังมีผลให้มุมมองเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเภทเป็นไปในเชิงลบจนถึงทุกวันนี้


จิตบำบัดรักษาโรคจิตเภท

ในยุคต่อมา ได้มีการศึกษาโรคหรือความผิดปกติต่างๆ ทางจิตใจมากขึ้น และมีการศึกษาเกี่ยวกับสมองและระบบประสาท ซึ่งเป็นระบบการทำงานของร่างกายส่วนสำคัญเกี่ยวกับการคิด การให้เหตุผล การรับรู้ของประสาทสัมผัส และการแสดงออกทางอารมณ์หรือพฤติกรรม ซึ่งดำเนินผ่านกระบวนการทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคจิตเภทได้พัฒนามากขึ้นอย่างก้าวกระโดด มีการค้นพบว่าโรคจิตเภทเกี่ยวข้องกับสารสื่อประสาทในสมอง จึงได้มีการผลิตยาต้านอาการจิตเภทขึ้นหลากหลายกลุ่ม และพบว่ายาสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเภทได้ จนกลายเป็นแนวทางการรักษาหลักของผู้ป่วยโรคจิตเภทจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การรักษาด้วยจิตบำบัดได้มีบทบาทในการรักษาผู้ป่วยจิตเภทเช่นกัน แม้จะมีข้อจำกัดจากอาการของผู้ป่วย แต่พบว่ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่สามารถโต้ตอบพูดคุยหรือตอบสนองกับยาได้ดี สามารถเข้ารับการรักษาด้วยจิตบำบัดได้ในเวลาต่อมา ซึ่งอธิบายได้เป็นแนวทางใหญ่ดังนี้
• จิตบำบัดเชิงปัญญาและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral) เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าใจและตระหนักถึงภาวะที่เป็นอยู่ ฝึกการคิดและการแสดงออกที่เหมาะสมสอดคล้องความจริง เรียนรู้ปัญหา และมีความยึดมั่นที่จะปฏิบัติตามแนวทางการรักษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบำบัดอย่างสูงสุด
• จิตบำบัดรายบุคคล (Individual) เป็นการพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาโดยได้รับการสนับสนุนรับฟังจากผู้บำบัด มีการพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยเฉพาะทักษะทางสังคม ทักษะการสื่อสารหรือให้ความรู้เกี่ยวกับโรค ซึ่งอาจใช้การบำบัดเชิงครอบครัวร่วมด้วย
• กลุ่มจิตบำบัด (Group) การทำกลุ่มจิตบำบัดเป็นการเอื้อให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน แลกเปลี่ยนเรื่องราวและแนวทางแก้ไขปัญหาผ่านปฏิสัมพันธ์ของสมาชิกในกลุ่ม

จะเห็นได้ว่า การรักษาผู้ป่วยจิตเภทซึ่งใช้ยาเป็นหลักนั้น แนวทางการรักษายังสามารถใช้จิตบำบัดควบคู่เพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมทักษะด้านต่างๆ ในผู้ป่วยที่ต้องการการพัฒนาทักษะหรือให้สามารถใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และป้องกันการกลับมาเกิดซ้ำเพื่อให้ประสิทธิภาพของการรักษาเกิดผลสูงสุด



อ้างอิงข้อมูลจาก


• โรคจิตเภท จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
• The role of dopamine in schizophrenia from a neurobiological and evolutionary perspective: old fashioned, but still in vogue. จาก Frontiers in Psychiatry
• Evidence-Based Psychotherapy for Schizophrenia. จาก The Journal of Nervous and Mental Disease
• Compliance Therapy: An intervention targeting insight and treatment adherence in psychotic patients. จาก Behavioural and Cognitive Psychotherapy
• P & T : a Peer-reviewed Journal for Formulary Management. จาก Schizophrenia: overview and treatment options
• Can psychotherapy help for Schizophrenia? Recent research and clinical experience say yes. จาก Psychology Today





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม