ศิลปะบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภท


วรภาดา วรธนัญชัย
นักศิลปะบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์



โรคจิตเภท
เป็นโรคทางจิตซึ่งส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน มีอาการที่หลากหลาย เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว รวมไปถึงมีการรับรู้ที่ผิดเพี้ยนไป แม้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาและประคับประคองอาการด้วยยาเป็นหลักเพื่อให้อาการดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังคงมีอาการอยู่ การบำบัดทางเลือกที่สร้างสรรค์อย่างจิตบำบัดโดยศิลปะหรือในชื่อเรียกที่คุ้นเคยว่า “ศิลปะบำบัด” จึงมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นได้อีกทาง

ศิลปะบำบัด


ศิลปะบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภทได้อย่างไร
การบำบัดด้วยศิลปะ คือ การใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการแสดงออก ภายใต้การแนะนำของนักจิตบำบัด ช่วยให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทหรือผู้ที่มีอาการทางจิตเภท (schizophrenia or schizophrenia-like illnesses) สามารถแสดงความคิดภายในของตนได้โดยไม่ต้องใช้คำพูด ด้วยวิธีที่ไม่คุกคาม ผ่านความสัมพันธ์ทางการรักษาระหว่างนักจิตบำบัด ผู้เข้ารับการบำบัด และการใช้อุปกรณ์ทางศิลปะ ซึ่งสามารถช่วยผู้ป่วยจิตเภทได้ ดังนี้
1. เป็นพื้นที่แสดงออกอย่างปลอดภัย ที่ช่วยให้เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของผู้ป่วย
2. ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการอาการเชิงลบ เช่น การขาดแรงจูงใจ การถอนตัวทางสังคม การสื่อสารที่ไม่ดี
3. ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถจัดการกับผลข้างเคียงของยาจิตเวช เช่น อาการง่วงซึม เฉื่อยชา
4. ช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ป่วยจากอาการต่างๆ เช่น ความคิดที่รบกวน การได้ยินเสียง เป็นต้น


ศิลปะบำบัด

ทั้งนี้ การใช้ศิลปะบำบัดเพื่อฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเภท จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง ในการช่วยให้ผู้ป่วยมีสมาธิจดจ่อต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพิกเฉยต่อเสียงในหัว และหยุดพูดกับตัวเอง เมื่อนักจิตบำบัดและผู้เข้ารับการบำบัดสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีความเชื่อใจและปลอดภัยแล้ว นักจิตบำบัดจะสามารถชักชวนให้ผู้ที่มีอาการจากโรคจิตเภทตั้งคำถาม มองอาการเจ็บป่วยหรือความคิดที่ผิดเพี้ยนให้เป็นไปในมุมมองที่สอดคล้องและอยู่พื้นฐานของความเป็นจริงมากขึ้น โดยที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกถึงการถูกคุกคาม

จากงานวิจัย มีการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ โดยเปรียบเทียบศิลปะบำบัดกับการดูแลแบบอื่นๆ ในผู้ที่มีอาการของโรคจิตเภท พบว่า มีการใช้ศิลปะบำบัดจำนวนมากและมากขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการจากโรคจิตเภททั้งในแบบระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว ซึ่งจากข้อมูลการวัดสภาวะทางจิต (SANS) แสดงให้เห็นว่า แม้มีความแตกต่างเล็กน้อยแต่ก็มีนัยสำคัญที่สนับสนุนกลุ่มศิลปะบำบัดในระยะปานกลางถึงระยะยาว ส่วนการบำบัดโดยศิลปะในระยะสั้น พบว่าไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนจากการวัดการทำงานทางสังคม (SFS)

อ้างอิงข้อมูลจาก

• Art therapy for schizophrenia or schizophrenia-like illnesses. จาก National Library of Medicine
• 'Inscape' วารสารสมาคมศิลปะบำบัดแห่งอังกฤษ





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม