Deep Listening คุยกันให้ลึก ฟังกันให้ซึ้ง ลดปัญหาขัดแย้งในครอบครัว (หรือคนใกล้ตัว)


แพทย์หญิงวนัทดา ถมค้าพาณิชย์
จิตแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์

ทุกคนล้วนมีความเครียดด้วยเหตุผลต่างๆ นานา จนบางครั้งอาจเกิดปากเสียงกับคนใกล้ตัวโดยไม่ได้ตั้งใจ ทั้งที่จริงแล้วต่างฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อกัน เป็นห่วงกัน อยากพูดคุยเล่าเรื่องที่ได้เจอมาให้อีกฝ่ายรับรู้ แต่เพราะไม่รู้จักวิธีการพูดที่ดีและการฟังด้วยใจที่เปิดกว้าง บวกกับความเครียดที่สะสม คุยไปคุยมาสุดท้ายทะเลาะกัน ทักษะการสื่อสารที่สำคัญที่จะช่วยให้คุณสื่อสารกับคนรอบตัวได้ดียิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็นกับคนรัก ครอบครัว เพื่อน หรือผู้ร่วมงาน ก็คือ “Deep Listening” หรือเทคนิคการฟังอย่างลึกซึ้งนั่นเอง


การฟังอย่างลึกซึ้ง เป็นการที่เราตั้งใจฟังผู้อื่นอย่างตั้งใจโดยปราศจากการตัดสิน โดยมองจากมุมมองหรือประสบการณ์ของผู้พูด ซึ่งการรับฟังไม่เพียงแต่จะฟังสิ่งที่ผู้พูดสื่อมาเพียงคำพูดเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการรับฟังความหมาย ความต้องการ และความรู้สึกของผู้พูดที่ไม่ได้พูดออกมาอีกด้วย



deep_listening

การฟังหลายคนคิดว่าเป็นสิ่งที่ง่าย แต่หลายครั้งเราอาจต้องลองถามตัวเองว่า เราได้ฟังคนที่เราอยู่ด้วยจริงๆ หรือยัง ความคิดของคนเรานั้นเร็วกว่าคำพูดของเราหลายเท่า หลายครั้งด้วยความคิดอันรวดเร็วทำให้เราลดความสนใจไปจากสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังพูดอยู่ตรงหน้า ทำให้เหมือนกับว่าเราด่วนที่จะตัดสินคู่สนทนาโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจ เช่น แสดงว่าเราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แสดงว่ารู้อยู่แล้ว ให้คำแนะนำ พยายามแก้ปัญหา หรือเราสนใจอีกฝ่าย แทนที่จะรับฟังว่าสิ่งที่อีกฝ่ายเขาต้องการจะพูดคืออะไร หลายครั้งเวลาที่มีการคุยกันเกิดขึ้นทำให้ผู้พูดรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่เข้าใจ หรือทำให้เกิดการทะเลาะกันบ่อยๆ ทั้งที่บางครั้งไม่ได้มีเรื่องที่จำเป็นต้องเถียงกันเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นการรับฟังที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง


deep_listening

การฟังอย่างลึกซึ้งนั้น ผู้ฟังต้องเปิดใจและสนใจใคร่รู้ในสิ่งที่ผู้พูดพยายามจะสื่อในมุมมองของผู้พูด โดยปราศจากการตัดสินว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไร โดยเทคนิคง่ายๆ ที่จะสื่อให้ผู้พูดรู้ว่าคุณรับฟังอยู่ คือ การทบทวนสิ่งที่ผู้พูดพยายามจะบอกกับคุณด้วยภาษาของคุณเองแบบง่ายๆ ตัวอย่างเช่น หลังจากสามีกลับมาจากที่ทำงาน ภรรยาก็พูดกับสามีว่า “วันนี้รู้มั้ยว่าลูกคุณทำอะไร เค้าไม่ยอมกินข้าวเลย ฉันต้องเดินป้อนอยู่ตั้ง 2 ชั่วโมง” เดิมทีหากสามีไม่ได้รับการฝึกการฟังอย่างลึกซึ้งก็จะบอกว่า “ลูกผมคนเดียวที่ไหน นั่นก็ลูกคุณด้วย แล้วไม่ฝึกให้ดียังเดินตามป้อนอย่างนี้ จะป้อนกันไปถึงเมื่อไหร่” หากเป็นเช่นนี้ไม่วายว่าจะต้องทะเลาะกันแน่นอน แต่หลังจากที่สามีฝึกการฟังอย่างลึกซึ้งไปแล้ว แทนที่จะตอบอย่างเมื่อก่อน ก็อาจตอบว่า “วันนี้คุณต้องป้อนอยู่ตั้ง 2 ชั่วโมงเลยเหรอ” ถ้าเติมความรู้สึกใส่ใจเห็นใจไปอีกนิดก็จะบอกว่า “เหนื่อยเลยสิ” ภรรยาก็จะรู้สึกคลายลงไปมาก ซึ่งหลังจากนั้น สามีอยากจะมีความเห็นหรือคำแนะนำก็จะง่ายมากขึ้น ซึ่งหลายคนพอข้ามขั้นตอนแรกในการรับรู้ความคิดความรู้สึกของอีกฝ่าย ด่วนให้คำแนะนำไปเลย โอกาสที่จะได้ผลจึงค่อนข้างน้อย และอาจทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การทะเลาะหรือการต่อต้านคำแนะนำ เป็นต้น




deep_listening

การที่คุณเริ่มเปิดใจที่จะรับฟังอย่างเต็มที่ในมุมมองของผู้อื่นเช่นนี้ ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นว่าคุณเป็นผู้ฟังที่ดี แต่ยังแสดงให้เห็นว่าคุณสามารถแสดงความเข้าใจในประสบการณ์ของผู้พูด รวมถึงเคารพในความเห็น ความรู้สึก ความต้องการ และตัวตนของอีกฝ่ายหนึ่งด้วย ซึ่งทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราให้คุณค่าและเคารพเขาในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เนื่องจากเมื่อเราเข้าใจอีกฝ่ายแล้ว เรายังสามารถพูดเพื่อให้ความมั่นใจ สนับสนุน เห็นอกเห็นใจ และช่วยอีกฝ่ายแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดอีกด้วย เช่นตัวอย่างข้างต้น สามีอาจจะพูดต่อว่า “ไหนลองเล่าให้ผมฟังซิว่าเกิดอะไรขึ้น” ภรรยาจึงเล่าถึงความกังวลเรื่องลูกไม่ยอมกินข้าวและน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ สามีรับฟังด้วยความเห็นอกเห็นใจ และตัดสินใจร่วมกันว่าจะไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญร่วมกัน



การที่คุณเป็นผู้รับฟังที่ดีจะเป็นประโยชน์มากสำหรับตัวคุณและทุกคนรอบๆ ตัวคุณ เมื่อคุณสามารถพัฒนาทักษะการรับฟังของคุณให้ดีขึ้น คุณจะสังเกตเห็นว่าความสัมพันธ์กับคนรอบตัวคุณนั้นจะดีขึ้น ขณะเดียวกันคนอื่นก็จะสังเกตุเห็นว่า คุณใส่ใจและสนใจพวกเขามากขึ้น และในทางกลับกัน ผู้คนก็จะเริ่มฟังและให้ความสนใจต่อคำพูดของคุณมากยิ่งขึ้นเช่นกัน





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม