ภรดี ไชยศรีหา
พยาบาลวิชาชีพ และผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลมนารมย์
“หากคนใกล้ตัวของคุณกำลังคิดฆ่าตัวตาย คุณจะรับมืออย่างไร?”
เชื่อว่าคำถามนี้คงสร้างความยุ่งยากกังวลใจให้กับคนทั่วไปไม่ใช่น้อย แม้คนที่เคยมีประสบการณ์ในการอยู่ร่วมกับผู้ที่กำลังคิดฆ่าตัวตายมาก่อน
บทความนี้ไม่ใช่แนวทางการรับมือกับผู้ป่วยฆ่าตัวตายในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญที่ท่านอาจพบได้จากตำราหรือบทความด้านจิตเวชที่มีอยู่ทั่วไป
แต่เป็นบทความที่ถ่ายทอด “เสียงของผู้ที่กำลังประสบปัญหาการฆ่า ตัวตาย” โดยตรง เพื่อสื่อสารให้คนรอบข้างได้รับรู้ว่า
ในช่วงเวลาที่เขาคิดฆ่าตัวตายนั้น เขาต้องการอะไรบ้างจากคนรอบข้าง อยากได้ยินหรือไม่อยากได้ยินคำพูดแบบใดบ้าง และอยากได้รับหรือไม่อยากได้รับการปฏิบัติแบบใดบ้าง
เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจ “เสียง” ดังกล่าวได้ง่ายยิ่งขึ้น ผู้เขียนได้จัดกลุ่มแนวทางปฏิบัติต่อผู้ที่คิดจะ
ฆ่าตัวตายจากบทความต้นฉบับจำนวน 24 ข้อ ให้เหลือเพียง 5 ข้อ ดังนี้
ข้อ 1 อยู่เป็นเพื่อน รับฟัง และไม่ตัดสิน
“ฉันไม่ต้องการคนมาช่วยแก้ปัญหา แค่ขอให้คุณอยู่ข้างๆ ฉันก็พอ แค่รับฟังฉันหรือกอดฉันเมื่อฉันร้องไห้ อย่าทำให้ฉันเจ็บปวดไปกว่าเดิมด้วยการทำให้ฉันรู้สึกผิด
(เช่น บอกว่าถ้าฉันตายไป คนที่เหลืออยู่จะสูญเสียอะไร) อย่าตัดสินฉัน อย่าบอกว่าฉันอ่อนแอ เห็นแก่ตัว เป็นภาระ หรือแค่ต้องการเรียกร้องความสนใจ
เพราะจริงๆ แล้ว ฉันกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แต่หัวใจและสมองของฉันมันทำงานไปสวนทางกัน”
ข้อ 2 ย้ำเตือนด้านที่แข็งแกร่ง
“ช่วยเตือนสติว่าฉันเป็นใคร เข้มแข็งแค่ไหน และมีความหมายต่อคุณมากเพียงใด ย้ำเตือนฉันด้วยว่าพายุร้ายมันจะทำอันตรายขุนเขาอันยิ่งใหญ่อย่างฉันไม่ได้
ช่วยย้ำหน่อยว่าคนอย่างฉันจะไม่มีวันอับจนสิ้นหนทาง”
ข้อ 3 สื่อสารง่ายๆ และตรงไปตรงมา
“เวลาคุยกับฉัน ขอให้คุยเหมือนที่เคยคุยกันปกติ อย่าทำกับฉันเหมือนฉันเปราะบางจนต้องระมัดระวังคำพูดไปหมด อย่ากลัวที่จะถามตรงๆ
ว่าฉันยังอยากตายอยู่หรือเปล่า ฉันจะตอบคุณแน่นอน แต่มันยากเหลือเกินถ้าจะให้ฉันบอกคุณโดยที่คุณไม่ถาม บางครั้งฉันอาจไม่ตอบทันที
ก็ไม่ได้แปลว่าฉันไม่อยากตอบนะ ให้เวลาฉันหน่อย หรือคุณจะคุยเบี่ยงเบนไปเรื่องอื่นก่อนก็ได้นะ เช่น ถามว่าฉันอยากกินอะไร”
ข้อ 4 พาไปพบผู้เชี่ยวชาญ
“อยู่กับฉันจนกว่าความคิดอยากทำร้ายตนเองจะผ่านไป หรือจนกว่าจะถึงวันนัดหมายกับผู้บำบัด ถ้ามันรุนแรงก็เตือนสติฉันว่าโรงพยาบาลเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย
บอกเลยว่าฉันควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าฉันตัดสินใจจะไปโรงพยาบาล อย่าลืมเตรียมเสื้อผ้าและของใช้จำเป็นให้ฉันด้วย
และขอให้อยู่กับฉันตลอดจนถึงมือหมอนะ”
ข้อ 5 ไม่ขาดการติดต่อ
“หมั่นมาเยี่ยมหรือโทรมาถามไถ่ฉันอยู่เรื่อยๆ เพราะฉันไม่อยากถูกมองว่าเป็นฝ่ายเรียกร้องให้คนมาดูแล ถ้าฉันไม่ตอบกลับก็อย่าโกรธและด่วนตัดสัมพันธ์
อย่าเอาแต่สั่งสอนว่าฉันจำเป็นต้องมีชีวิตอยู่ในขณะที่การกระทำของคนรอบข้างกลับไม่ทำให้ฉันรู้สึกว่าอยากมีชีวิตอยู่”