ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์
“เหนื่อยมาก ท้อมาก ทำดีแค่ไหนก็ไม่ถูกใจพ่อแม่ ลดความคาดหวังของพ่อแม่ลงได้ไหม?”
“ทำไมต้องบังคับ หนูอยากเป็นเชฟ ไม่ได้อยากเป็นหมอ”
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องปรับตัวกับหลายอย่าง ทั้งทางกาย เช่น การเปลี่ยนแปลงร่างกาย เข้าสู่วัยหนุ่มสาว หรือการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและสังคม โดยเป็นวัยที่ต้องการเป็นอิสระ ต้องการเป็นที่ยอมรับของกลุ่มเพื่อนหรือสังคมนอกบ้านมากขึ้น มีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งด้านการเรียน การทำงานอื่น ๆ มีความคิดการตัดสินใจที่ใช้หลักเหตุผลมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน หลายครั้งการตัดสินใจก็อาจใช้อารมณ์หรืออาจไม่สามารถมองเห็นบริบทของสังคมอย่างรอบด้านได้ รวมถึงความสามารถในการจัดการปัญหา อาจมีที่ยังไม่เหมาะสมและต้องการพึ่งพิงคนรอบข้าง เช่น เพื่อนหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง รวมถึงพ่อแม่เองก็ต้องปรับตัวเข้ากับวัยรุ่น ซึ่งบางครั้งพ่อแม่จำนวนมากก็ยังอาจไม่ทราบวิธีการปรับตัวกับวัยรุ่น จึงอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับพ่อแม่บ่อย ๆ
วัยรุ่นจะทำอย่างไรได้บ้าง จะเริ่มคุยกับพ่อแม่ผู้ปกครองยังไง ควรจัดการกับความรู้สึกของตัวแบบไหน คุณหมอใจดีอยากชวนวัยรุ่นมาปฏิบัติตัวตามนี้กันดูนะครับ
1. เป็นผู้ฟังที่ดี ฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูดและไตร่ตรองถึงความคิดและความรู้สึกของผู้ที่สนทนาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังด้วยใจที่สงบจะทำให้การฟังนั้นมีประสิทธิภาพ ไม่บิดเบี้ยวไปตามอารมณ์ของตนเอง
2. ตั้งสติก่อนพูด หรือตัดสินใจทุกครั้ง คิดถึงผลดีผลเสียของแต่ละทางเลือก และตัดสินใจอย่างรอบคอบ
3. ขอโทษเมื่อผิด ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ทุกคน การยอมรับในความผิดพลาดแสดงถึงความเป็นผู้มีความรับผิดชอบ และทำให้ผู้อื่นให้อภัยแก่ตัววัยรุ่น อย่างไรก็ตาม วัยรุ่นเองก็ควรที่จะให้เวลากับผู้อื่นด้วยเช่นกัน เพราะผู้อื่นเองก็มีความรู้สึกที่ตัวเขาก็ต้องจัดการ
4. รู้ทันตนเอง ฝึกการรู้เท่าทันทั้งความคิดและอารมณ์ของตน เป็นทักษะที่จำเป็นเพราะวัยรุ่นเองเป็นช่วงที่พัฒนาการสมองส่วนการยั้งคิด-ตัดสินใจอยู่ในช่วงการพัฒนา การฝึกดังกล่าวทำให้วัยรุ่นเองสามารถที่จะตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบมากขึ้น
5. จัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม หลายครั้งเวลามีอารมณ์ไม่ดี วัยรุ่นมักเลือกใช้การผ่อนคลาย ๆ หลาย ๆ อย่าง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ใช้อินเทอร์เน็ต-เกม กีฬา หรือดนตรี อย่างไรก็ตาม การมีวิธีจัดการอารมณ์ที่ไม่หลากหลายและใช้อย่างหนึ่งอย่างใดมากจนเกินไปก็มักจะทำให้เกิดผลเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อินเทอร์เน็ตและเกม ซึ่งเป็นวิธีที่เข้าถึงง่ายและมักทำให้วัยรุ่นละเลยเวลาที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ โดยตัวอินเทอร์เน็ตและเกมเองที่มีความเพลิดเพลินจะทำให้วัยรุ่นไม่ทันรับรู้เวลาที่ผ่านไป และใช้มากเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ในบางครั้ง รวมถึงการติดพันกับกิจกรรมอยู่ทำให้ไม่สามารถเลิกใช้ได้ตามกำหนด และมักส่งผลทางลบกับความสัมพันธ์กับพ่อแม่ สูญเสียความไว้วางใจจากพ่อแม่ไป
6. สื่อสารกับพ่อแม่ หลายครั้งวัยรุ่นอาจทราบถึงผลดีผลเสียของสิ่งต่าง ๆ วางแผนอนาคตต่าง ๆ แต่ขาดการสื่อสารกับพ่อแม่ ทำให้พ่อแม่เองซึ่งเป็นห่วงอยู่แล้วไม่ทราบว่าลูกเขาคิดอย่างไร และวางแผนไว้อย่างไร มีทางออกของปัญหาอย่างไร การสื่อสารนอกจากทำให้เกิดความเข้าใจกันแล้ว ยังทำให้พ่อแม่ทราบว่าวัยรุ่นเติบโตมีความคิดมากขึ้น และเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจมากขึ้น
7. ขอเวลาถ้าไม่พร้อม หากยังไม่พร้อมหรือต้องการเวลาที่จะจัดการอารมณ์ ควรบอกพ่อแม่ว่าตอนนี้อารมณ์ตนเองเป็นอย่างไร อยากขอเวลาจัดการอารมณ์อย่างไร และเมื่อพร้อมจึงเดินเข้าไปพูดคุยกับพ่อแม่ ในขณะเดียวกันวัยรุ่นเองก็อาจต้องให้เวลาพ่อแม่ในการจัดการอารมณ์ของเขาเองเช่นกัน
8. เอาใจเขามาใส่ใจเรา ฝึกมองในมุมของผู้อื่นทั้งพ่อแม่และคนรอบข้าง บางครั้งการมองของวัยรุ่นหากเป็นไปตามอารมณ์บางครั้งก็อาจเกิดความผิดพลาด ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นจึงควรรอให้จิตใจสงบลงก่อนไตร่ตรองมุมมองของผู้อื่น หรืออาจลองสื่อสารมุมมองของวัยรุ่นเองเพื่อเช็คกับพ่อแม่หรือคนรอบข้างว่าตนเกิดความเข้าใจถูกหรือผิดอย่างไรเพื่อปรับความเข้าใจกันและกัน
9. รู้รับผิดชอบ รับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจ ขออภัยเมื่อเกิดข้อผิดพลาด เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เพียงแต่เด็กเท่านั้น และปรึกษาเมื่อสิ่งต่าง ๆ เป็นปัญหาเกินแก้ไข ไม่ปล่อยให้บานปลายเพราะอาจเกิดผลทางลบกับตัววัยรุ่นเองมากขึ้น
10. มีระเบียบวินัย ฝึกการแบ่งเวลา ทั้งหน้าที่ส่วนตัว เช่น การเรียน การทำงานส่วนตัว และการช่วยเหลืองานเล็ก ๆ น้อย ๆ ของส่วนรวมในครอบครัว
11. ค้นหาตัวเอง วัยรุ่นควรใช้เวลากับกิจกรรมที่หลากหลาย มีความสนใจที่หลากหลาย ทำให้วัยรุ่นได้มีโอกาสในการฝึกทักษะต่าง ๆ ค้นหาสิ่งที่ตนเองชอบและสนใจ ซึ่งจะนำไปสู่การมีเป้าหมายในอนาคต ทำให้เกิดความมุ่งมั่นพยายามที่จะทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย และทำให้พ่อแม่เกิดความไว้วางใจตามมมา
สัญญาณเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต รู้สึกไม่ไหวแค่ไหนต้องพบจิตแพทย์
บางครั้งวัยรุ่นเองอาจพยายามหลาย ๆ อย่างแล้ว แต่ไม่สามารถจัดการอารมณ์ตนเอง รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพจิตต่าง ๆ เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า ซึ่งพบได้บ่อยในวัยรุ่น และอาจจำเป็นต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ โดยน้อง ๆ อาจลองสังเกตสัญญาณได้ดังต่อไปนี้
1. อารมณ์เบื่อ เศร้า หงุดหงิด เป็นอยู่บ่อย ๆ หรือแทบจะทั้งวััน
2. ไม่สนใจอยากทำสิ่งต่าง ๆ ที่เคยชอบเหมือนเคย หรือทำแล้วก็ไม่สนุกเหมือนเคย
3. นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ หรือนอนมาก
4. เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หรืออาจกินมากขึ้นเพื่อจัดการความเครียดของตนเอง
5. สมาธิและความจำแย่ลง หลงลืมสิ่งต่าง ๆ บ่อย ๆ เหม่อลอย ใจลอย
6. เหนื่อยเพลียมากขึ้น ไม่มีแรงทำสิ่งต่าง ๆ หรือต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำ
7. รู้สึกทำสิ่งต่าง ๆ ช้าลง หรือกระสับกระส่าย
8. มองตนเองในแง่ลบ โทษตำหนิตนเองบ่อย ๆ หรือบางครั้งอาจมองโลกหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัวทางลบ
9. คิดเกี่ยวกับการตาย ไม่อยากอยู่ หรือใช้การทำร้ายตนเองเพื่อจัดการอารมณ์ความเครียดต่าง ๆ
ทำอย่างไร ถ้าอยากพบจิตแพทย์
สำหรับวัยรุ่นที่มีอาการดังกล่าวควรปรึกษาผู้ปกครอง ญาติผู้ใหญ่ หรือครูอาจารย์ เพื่อพามาประเมินและปรึกษา แต่หากไม่มีผู้ที่สามารถพามาพบได้ วัยรุ่นเองก็อาจมาพบด้วยตนเองก่อน เพื่อรับการประเมินและคำปรึกษาเบื้องต้น รวมถึงการรักษาตามมาตรฐานที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ต่อตัววัยรุ่นเอง