ดร. อภันตรี สาขากร
นักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลมนารมย์
สภาพสังคมและเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้คนส่วนใหญ่เริ่มสนใจวางแผนการเงินเพื่อใช้ในยามเกษียณมากขึ้น บางคนเก็บเงินในรูปแบบเงินออมระยะยาว บางคนซื้อกองทุน หุ้น อสังหาริมทรัพย์และอื่นๆ เพื่อหลักประกันว่าจะมีเงินใช้จ่ายอย่างสบายในอนาคต ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงเรื่องความมั่นคงทางการเงินแล้ว ความมั่นคงทางจิตใจก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน สมมุติว่าช่วงวัยเกษียณมีเงินเก็บเหลือเยอะแต่จิตใจไม่มีความสุข มีปัญหากับลูกหลาน มีความวิตกกังวลอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้คงไม่ดี ดังนั้น การวางแผนเพื่อความมั่นคงทางจิตใจก่อนวัยเกษียณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญเพราะถ้ารอจนถึงช่วงสูงอายุแล้วอาจจะสายเกินไป
ผู้สูงอายุแม้ว่าจะอยู่วัยเดียวกัน อายุเท่ากัน ก็ใช่ว่าจะเหมือนกันทุกคน ถ้าพิจารณาจากความสามารถในการปรับตัวและความมั่นคงทางจิตใจ ผู้สูงอายุอาจจำแนกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ปรับตัวได้สอดคล้องตามวัยของตน มีความเป็นอยู่อย่างสงบ มีความสนใจในกิจกรรม ต่างๆ ตามความพอใจและความเหมาะสม
กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีพลังใจสูง มีความมั่นคงทางจิตใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ชอบเรียนรู้และทำสิ่งใหม่ๆ
กลุ่มที่ 3 มักต้องการความสนใจและความเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ขาดความมั่นใจ รู้สึกเหงาได้ง่าย
กลุ่มที่ 4 เป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องการปรับตัว ซึมเศร้าง่าย วิตกกังวลง่ายหรือมีปัญหาทางสุขภาพจิตโดยเฉพาะโรคซึมเศร้า
ดังนั้น ถ้าอยากมีสุขภาพจิตที่ดีในช่วงสูงอายุ ก็ควรต้องเริ่มดูแลร่างกายและจิตใจด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
3. เลือกรับประทานผัก ผลไม้เป็นประจำ
4. หยุดสูบบุหรี่
5. ไม่เสพสิ่งเสพติดและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
6. รู้จักปล่อยวาง
7. หาวิธีคลายเครียด
8. คบเพื่อนที่ดี
9. จัดสรรเวลา ทำกิจกรรมที่ชอบ
10. ดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข
ความสุขในวัยเกษียณ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญแต่ต้องมาจากการวางแผนชีวิตที่ดี รู้จักเก็บออมวางแผนทางการเงิน ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดี หมั่นสังเกตอารมณ์ตัวเอง ปรับจิตใจให้สบาย รวมทั้งมีทักษะการจัดการปัญหาสามารถปรับตัวได้ดีและมีความมั่นคงทางจิตใจ