การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้าน สำหรับผู้สูงอายุ


สันติ จันทวรรณ
หัวหน้านักกิจกรรมบำบัด โรงพยาบาลมนารมย์

เมื่ออายุมากขึ้นความสามารถในการเคลื่อนไหวต่างๆ ก็ลดลง ถ้ามีปัญหาความเจ็บป่วยต่างๆ ด้วยแล้วก็ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหกล้มบ่อยครั้ง การจัดสิ่งแวดล้อมภายในบ้านเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุ อำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตและช่วยลดภาระของผู้ดูแลในการช่วยเหลือผู้สูงอายุอีกทางหนึ่งด้วย


การจัดสภาพแวดล้อมภายในบ้านที่สำคัญมีดังนี้



จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย

1. ห้องน้ำ ห้องน้ำเป็นห้องที่ผู้สูงอายุอาจเกิดอุบัติเหตุได้บ่อยครั้ง ห้องน้ำที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุควรมีลักษณะดังนี้


• ห้องน้ำควรมีระยะห่างจากห้องนอนของผู้สูงอายุไม่เกิน 3 เมตร เพราะผู้สูงอายุมักมีปัญหาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
• พื้นห้องน้ำควรระบายน้ำได้ดีไม่มีน้ำขังขณะอาบน้ำ ใช้วัสดุปูพื้นที่มีลักษณะหยาบ ขรุขระเล็กน้อย หรือใช้วัสดุกันลื่นที่เป็นแผ่นวางในจุดที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม
• มีราวจับหรือเกาะ โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ โถส้วมและที่อาบน้ำเพื่อช่วยในการลุกนั่ง ราวจับควรมีความแข็งแรงแน่นหนา เส้นผ่านศูนย์กลาง 3.5 ซม. สูงจากพื้น 80 ซม. ระยะห่างจากผนัง 5 ซม.
• ควรเป็นพื้นที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอ สีฝาผนังและสีพื้นห้องควรเป็นสีตัดกัน เพื่อความชัดเจนในการมองเห็นของผู้สูงอายุ
• สุขภัณฑ์ต่างๆ ควรมีวิธีการใช้ที่ง่ายและปลอดภัย เช่น โถส้วมแบบโถนั่งเพื่อสะดวกต่อการลุกนั่ง

จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย


2. ห้องนอนห้องนอนเป็นห้องที่ผู้สูงอายุหรือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยใช้อยู่เกือบตลอดเวลา ดังนั้นห้องนอนผู้สูงอายุควรอยู่ชั้นล่างและควรจัดสิ่งแวดล้อมดังนี้
• เตียงนอนควรจัดวางในตำแหน่งที่ เข้า-ออก ง่าย ความสูงของเตียงไม่ควรเกิน 90 ซม. และไม่ต่ำกว่า 40 ซม. หรือ ขึ้น-ลง ได้สะดวก เพราะว่าผู้สูงอายุจะลุกนั่งและลงจากเตียงลำบาก
• พื้นเตียงนอนไม่ควรแข็งหรือนุ่มเกินไป เพราะจะทำให้ลุกขึ้นยาก หรือปวดหลังปวดข้อได้
• ควรมีราวจับที่ขอบเตียง เพื่อช่วยผ่อนการใช้แรงในการลุกนั่งบนเตียงได้สะดวกมากขึ้น
• แสงสว่างในห้องนอนควรสว่างเพียงพอ และมีสวิตช์ไฟที่หัวเตียงเพื่อให้ง่ายต่อการเปิด - ปิดไฟ
จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย


3. บันไดบันไดเป็นบริเวณที่ผู้สูงอายุเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย หากไม่จำเป็นผู้สูงอายุที่การทรงตัวไม่ดี เป็นโรคหัวใจ โรคปอด ไม่ควรขึ้นลงบันได ลักษณะบันไดที่เหมาะสม มีดังนี้
• ราวบันไดควรมีรูปร่างทรงกลม 2 ข้าง เพื่อความสะดวกในการยึดเกาะ บริเวณปลายขั้นบันไดแต่ละขั้นควรมีแถบกันลื่น หากเป็นบันไดที่มีระยะทางยาว ควรมีจุดพักระหว่างทางขึ้นลง
• ควรมีแสงสว่างให้เพียงพอต่อการมองเห็นและมีแถบสีหรือสัญลักษณ์บอกตำแหน่งบนสุดหรือล่างสุดให้ชัดเจน
• ไม่ควรมีสิ่งของใดๆ วางขวางบริเวณบันได
• การขึ้นลงบันได ในมือไม่ควรถือสิ่งของทั้ง 2 ข้าง ควรมีมือข้างหนึ่งจับราวบันไดขณะขึ้นลงบันได
จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย


4. บริเวณภายในบ้าน
• บริเวณพื้นห้องไม่ควรขัดมัน เพราะอาจลื่นและหกล้มได้ง่าย
• ความกว้างของทางเดิน ไม่น้อยกว่า 70 ซม. และไม่ควรวางสิ่งของบนพื้นหรือเกะกะขวางทางเดิน
• ในกรณีที่ใช้รถเข็น ควรทำเป็นทางลาดในพื้นที่ต่างระดับ
• ไม่ควรมีธรณีประตูเพราะอาจเดินสะดุดล้มได้
จัดบ้านสำหรับผู้สูงวัย


5. อุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ของผู้สูงอายุ
• ควรอยู่ในตำแหน่งที่หยิบจับง่าย ไม่ควรอยู่ในตำแหน่งที่ต้องใช้การเอื้อมหรือก้มมากเกินไป
• สิ่งของและอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็ก เช่น ดินสอ ปากกา ช้อน ส้อม แปรงสีฟัน กุญแจ ควรมีการเสริมที่จับให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อช่วยในการหยิบจับ
• อุปกรณ์เครื่องใช้ควรมีน้ำหนักเบา ไม่แตกหักง่าย





  • ค้นหาแพทย์และนักบำบัด
  • โทรนัดหมายแพทย์
  • ติดต่อสอบถาม